แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะนำเสนอเรื่องให้นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลังพิจารณาความเสียหายที่เกิดจากการแก้ไขสัญญาสัมปทานกิจการโทรคมนาคม ที่บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ทำร่วมกับเอกชน เนื่องจากระยะเวลาตั้งแต่ช่วงปี 2540 เป็นต้นมาที่มีการแก้สัญญาสัมปทานหลายครั้ง ซ้ำซ้อน และไม่ทำตามขั้นตอนทำให้รัฐเสียหายรวมถึง 1.3 แสนล้านบาท จากนั้นจะเร่งเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแบ่งเป็นสัญญาสัมปทานของ บริษัท บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ซึ่งได้รับสัมปทานจากทีโอที แก้ไขสัญญากรณีรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบจ่ายก่อนหรือ บัตรเติมเงิน (พรีเพด) และแก้ไขสัญญาระบบเหมาจ่ายรายเดือนตั้งแต่ปี 2549 - 2553 ที่จะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้จำนวน 30% กลับแก้ไขให้เหลือเพียง 25% เท่านั้น
ขณะเดียวกันยังได้มีการแก้ไขสัญญาสัมปทานในช่วงปี 2554 – 2558 ซึ่งเป็นปีที่หมดอายุสัญญาสัมปทานจากเดิมที่กำหนดให้จ่ายส่วนแบ่งรายได้ จำนวน 35% ก็แก้ไขให้จ่ายเพียง 25% เช่นกัน ทำให้รัฐสูญเสียรายได้รวมทั้งสิ้น 8.7 หมื่นล้านบาท
ในส่วนของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ก็มีการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ทำกับบมจ. กสท สร้างความเสียหายแก่รัฐกว่า 2 หมื่นล้านบาท และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ได้มีการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ทำกับบมจ. กสท รัฐเสียรายได้ 7.9 พันล้านบาท ดังนั้นเพื่อปกป้องความเสียหายของรัฐจะเสนอให้ครม.พิจารณาเรียกร้องค่าเสีย หายกลับคืน
“ที่ผ่านมามีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความการแก้ไขสัญญา สัมปทานโทรศัพท์มือถือของบริษัทเอกชนที่ทำกับทีโอทีและกสท กฤษฎีกาก็ระบุชัดว่าการแก้ไขไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ผ่านกระบวนการกฎหมายร่วมทุนรัฐและเอกชน แต่ก็ยังแก้ไขบ่อยครั้งและรัฐสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมากถึงแสนกว่าล้านบาท มาคราวนี้จึงต้องเรียกร้องกลับคืน และเอกชนที่กระทำกับรัฐก็มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับการเมืองทำให้ที่ผ่านมาไม่ มีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้” แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับอายุสัมปทานระหว่างทีโอทีกับเอไอเอสจะสิ้นสุดปี 2558 สัญญาสัมปทานของ กสท กับ ดีแทค จะสิ้นสุดปี 2560 และสัญญาสัมปทานระหว่าง กสท กับ ทรูมูฟ สิ้นสุดปี 2556.
****เตือนรัฐได้ไม่คุ้มเสีย
นายอธึก อัศวานันท์ รองประธานกรรมการ และหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกฎหมาย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น เคยกล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่าหากจะมองว่าเอกชนทำไม่ถูกต้องฝ่ายเดียวคงไม่ได้ เพราะหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นคู่สัญญามีหน้าที่ต้องนำเรื่องเข้าสู่ครม.เพื่อ ปฏิบัติตามกม.ร่วมทุนปี 2535โดยกรณีของสัมปทานของทั้ง 3 บริษัทมีความแตกต่างกันอยู่คือกรณีดีแทคกับเอไอเอส คณะกรรมการพิจารณามาตรา 22 ของพ.ร.บ.ร่วมทุนรัฐ-เอกชน พ.ศ. 2535 กำลังพิจารณาว่าการแก้สัญญาเพิ่มเติมต่อท้ายนั้น มีผลผูกพันหรือไม่มี
ทั้งนี้ หมายความว่า สัญญาสัมปทานเดิมนั้นมีผลอยู่แล้ว แต่พิจารณาส่วนที่แก้ไขเพิ่มหลายๆครั้งถูกหรือผิด ซึ่งมีทั้งการแก้สัญญาเพื่อปรับส่วนแบ่งรายได้และแก้ไขเพื่อต่ออายุสัญญา หากกรรมการพิจารณาว่าผิด ก็จะส่งเรื่องไปที่ครม.เพื่อพิจารณาตัดสิน เพราะ คณะกรรมการไม่มีอำนาจตัดสินเอง
ส่วนกรณีทรูมูฟ ถูกพิจารณาว่าสัญญาสัมปทานที่มีอยู่ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งต้องให้คณะกรรมการมาตรา 13 ของพรบ.ร่วมทุนฯพิจารณาซึ่งหากว่าไม่ถูกต้อง หมายความว่า สัญญานี้ไม่ผูกพันตั้งแต่ต้นแล้ว ซึ่งหากคณะกรรมการชงเรื่องให้ครม.ว่า ทั้งหมดไม่ถูกต้องรัฐก็มีแต่เดือดร้อนเพราะหากรัฐบอกว่าทรูมูฟ ดำเนินการด้วยสัมปทานที่เป็นโมฆะตั้งแต่ต้น บริษัทก็จะขอเรียกทรัพย์สินทั้งหมดที่โอนให้กับบริษัท กสท โทรคมนาคมตามเงื่อนไขบีทีโอ (สร้างแล้วยกให้เป็นทรัพย์สินของรัฐก่อนได้สิทธิบริหาร)กลับคืนมา
นอกจากนี้ยังจะขอเงินที่เป็นส่วนแบ่งรายได้ที่จ่ายไปแล้วในอดีตทั้ง หมดคืนด้วยหากรัฐทำได้ก็พร้อมที่จะยุติบริการลงหรือเหมือนไม่เคยมีสัญญา ระหว่างกันส่วนลูกค้าที่ได้รับความเดือดร้อนจากการยุติบริการรัฐก็ต้องรับ ผิดชอบเอง ซึ่งหากครม.ชี้ขาดในชั้นสุดท้ายให้ดำเนินการเอาผิดหรือเรียกค่าชดใช้คืนรัฐ เอกชนคงต้องฟ้องศาลปกครอง
ด้านนายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะผู้บริหารเอไอเอส เคยกล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีการหารือในคณะกรรมการมาตรา 22 หลายครั้งแต่ก็ไม่ได้ข้อสรุปคงต้องรอให้ครม.เป็นผู้ตัดสินใจ แต่หากตัดสินให้บริษัทชดใช้คืนรัฐจากส่วนแบ่งรายได้ที่ลดลงก็คงเป็นเรื่อง ที่รับไม่ได้และคงต้องดำเนินการทางกม.เพราะที่ผ่านมาบริษัททำมากกว่า เงื่อนไขที่กำหนดในการแก้สัญญาด้วย เช่นกำหนดว่าบริษัทต้องปรับลดค่าบริการพรีเพด ลงไม่น้อยกว่า 5% แต่ในความเป็นจริงค่าบริการลดลงมากกว่านั้นจากนาทีละ 3 บาทก็เคยเหลือถึงระดับ 25 สต.หรือ 50 สต.ซึ่งเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก
สำหรับรายละเอียดการแก้ไขสัญญาร่วมการงานกับเอกชน รายหลักๆ ประกอบด้วย 1.การแก้ไขสัญญาร่วมการงานระหว่างทีโอทีกับเอไอเอส รวม 7 ครั้ง โดยแก้ไขสาระสำคัญของสัญญาเกี่ยวกับส่วนแบ่งรายได้ที่ทีโอทีพึงได้รับ และการปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ของโทรศัพท์มือถือแบบพรีเพด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 87,390 ล้านบาท 2.การแก้ไขสัญญาร่วมการงานระหว่างกสทกับดีแทค 3 ครั้ง ซึ่งแก้ไขสาระสำคัญของสัญญาเกี่ยวกับส่วนแบ่งรายได้ คิดมูลค่าความเสียหายเป็นเงินประมาณ 20,427 ล้านบาท 3.การแก้ไขสัญญากสทกับทรูมูฟซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่าไม่ถูกต้อง ตั้งแต่ต้นและยังแก้ไขสัญญาร่วมการงานอีก 2 ครั้ง โดยปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ ทำให้เกิดความเสียหายประมาณ 7,938 ล้านบาท