กฟผ.เสนอโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ต้องเป็นนโยบายระดับชาติ

กรุงเทพฯ  30 พ.ย. – นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  (กฟผ.) กล่าวว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้หรือไม่นั้น  จะต้องจัดทำเป็นนโยบายระดับชาติที่จะต้องมีการผลักดันทั้งระดับรัฐบาลและ รัฐสภา  เพราะหากไม่สร้างนิวเคลียร์ประเทศไทยอาจประสบปัญหาค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นและยัง ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนมากขึ้น

นายสมบัติ กล่าวว่า ตามแผนพัฒนาไฟฟ้าของประเทศขณะนี้ได้พิจารณาทุกแนวทางทั้งโครงการลดการใช้ หรือการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน  (ดีเอสเอ็ม) การใช้พลังงานทดแทนรูปแบบต่าง ๆ รวมไปถึงเชื้อเพลิงหลักต่าง ๆ  ทั้งก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน นิวเคลียร์  และการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งต้องยอมรับว่า เมื่อเศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตการใช้พลังงานไฟฟ้าก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วย การใช้พลังงานหลักจึงยังจำเป็น โดยปัจจุบันไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติแล้วถึงร้อยละ 75 จึงจำเป็นต้องหาเชื้อเพลิงอื่น ๆ โดยตามแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์ประเภทละ 2,000 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่สร้างภาวะโลกร้อน หากจะลงทุนก็ต้องมีการลงทุนเทคโนโลยีอัดกลับคาร์บอนลงไปในดิน (ซีซีเอส) ซึ่งรวมแล้วต้นทุนจะสูงมากถึง 2.50 บาท/หน่วย ในขณะที่นิวเคลียร์ไม่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ต้นทุนเชื้อเพลิงต่ำกว่า โดยรวมแล้วอยู่ที่ประมาณ 2.08  บาทต่อหน่วยหรืออาจจะสูงกว่าหากค่าก่อสร้างสูงขึ้น


“ทั่วโลกต่างมุ่ง ไปหานิวเคลียร์มีการสั่งซื้อกว่า 280 เครื่อง โดยในส่วนของไทยในขณะนี้มีการคัดค้าน ซึ่งก็เป็นหน้าที่ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันชี้แจง หาทางออกร่วมกัน เพราะหากไม่ใช้นิวเคลียร์แล้วไทยจะผลิตไฟฟ้าในราคาถูกได้อย่างไร มีผลต่อการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องผลักดันให้เป็นนโยบายแห่งชาติไม่ใช่หน่วยงานหนึ่งหน่วย งานใดรับผิดชอบ” นายสมบัติ กล่าว

ทั้งนี้ หลายประเทศการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้เป็นนโยบายแห่งชาติ เช่น เวียดนาม ที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ผ่านร่างกฎหมายนิวเคลียร์ โดยมีมติสร้างเตาปฏิกรณ์ขึ้น 4 โรงในพื้นที่ 2 แห่ง รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 4,000 เมกะวัตต์.

พิมพ์ อีเมล