ผู้บริโภคจี้ผู้ประกอบการ เร่งแก้ปัญหาเสาสัญญาณหวั่นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

องค์กรผู้บริโภคเปิดเวทีถกปัญหาการให้บริการโทรคมนาคมร่วมกับผู้ประกอบการ แก้ปัญหาเดิม SMS วันหมดอายุบัตรเติมเงิน และต้องฟังความคิดเห็นของชุมชนก่อนตั้งเสาสัญญาณ


Consumerthai - วันที่ 25 พ.ย. มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ได้จัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยน “พูดนอกสาย...กับผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคม” ณ ห้องสราสินี โรงแรมกาญมณี กรุงเทพฯ โดยมีนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งมีตัวแทนในส่วนของผู้บริโภคจากชุมชนในกรุงเทพฯ ตัวแทนจากศูนย์รับเรื่องร้องเรียนภาคต่างๆ และตัวแทนจากบริษัทผู้ประกอบการโทรคมนาคม 3 บริษัท ได้แก่ บมจ.ทีโอที, บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เข้าร่วมเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย

สำหรับประเด็นของการเสวนาครั้งนี้ ในส่วนผู้ใช้บริการนายทองคำ ลิมรัตน์ ตัวแทนจากเครือข่ายแรงงานนอกระบบลาดกระบัง กทม. กล่าวถึงปัญหาการติดตั้งเสาอากาศเพื่อส่งสัญญาณโทรศัพท์ ซึ่งพบว่ามีการติดตั้งเสาขนาดใหญ่ในชุมชน โดยไม่มีป้ายบริษัทผู้รับผิดชอบ และส่วนใหญ่การดำเนินการของบริษัทไม่ได้ขอความคิดเห็นจากคนในชุมชน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนในพื้นที่ จึงต้องการเรียกร้องให้ผู้ประกอบการแสดงความรับผิดชอบ

ทั้งนี้ตัวแทนในส่วนของผู้บริโภค กล่าวถึงข้อเสนอในการแก้ปัญหาว่า ก่อนการติดตั้งเสาสัญญาณนั้น ผู้ประกอบการควรรับฟังความคิดเห็นและทำความเข้าใจร่วมกับคนในชุมชนก่อน หากเป็นไปได้ควรใช้เสาสัญญาณร่วมกัน เพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

ว่าที่ร้อยตรีสรายุทธ บุญเลิศ ผู้อำนวยการสายงานคุ้มครองผู้บริโภค ดีแทค ชี้แจงกรณีการตั้งเสาสัญญาณของบางบริษัทที่ให้บริการกิจการโทรคมนาคมว่า เสาสัญญาณที่ไม่มีป้ายของบริษัท อาจจะเป็นเสาใหม่ที่เอกสารยังไม่เรียบร้อย ส่วนเสาเก่าที่ไม่ติดป้ายเพราะมีข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นการโฆษณา ทำให้มีเรื่องภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้หากมีคนไม่พอใจอาจทำลายก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินได้ ส่วนถ้าจะให้รื้อถอนเสาเดิมที่ติดตั้งนั้นจะเกิดปัญหาความล่าช้าในการจัดการ เพราะต้องหาพื้นที่และยื่นใบขออนุญาตใหม่

ผู้อำนวยการสายงานคุ้มครองผู้บริโภค ดีแทค กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามทางผู้ประกอบการเองก็ต้องการเห็นรูปแบบของกระบวนการทำความเข้าใจที่ชัดเจนระหว่างผู้ประกอบการและประชาชนในเรื่องการตั้งเสาสัญญาณเช่นเดียวกัน ซึ่งเคยเสนอเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาแล้ว แต่ยังเห็นการดำเนินการแต่อย่างใด

กรณีเรื่อง 3G ที่มีการถกเถียงกันอยู่เรื่องผลกระทบต่อผู้บริโภคนั้น ว่าที่ร้อยตรีสรายุทธ์กล่าวว่า ตนอยากให้มองว่าประโยชน์ของรัฐคือประโยชน์ที่ประชาชนได้รับบริการจากระบบ 3G มากกว่าการมองว่ารัฐจะเสียประโยชน์จากการให้สัมปทาน และไม่เห็นด้วยกับการใช้โครงข่ายเดียว เนื่องจากการแยกทำโครงข่ายจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการจัดการและบริการแก่ประชาชน แต่เห็นด้วยในกรณีการกำหนดราคาขั้นสูงและการใช้เสาโครงข่ายร่วมกัน

 


ขณะเดียวกันนางมารีย์ โอภาสเสถียร ผู้จัดการส่วนบริหารจัดการเรื่องร้องเรียน บมจ. ทีโอที จำกัด กล่าวว่า ทางทีโอที จะเปิดบริการ 3G วันที่ 3 ธันวาคมนี้บริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีสถานีอยู่ประมาณ 500 สถานี


นอกจากนี้ยังมีประเด็นปัญหาต่างๆ อีกมากมายจากข้อเรียกร้องผู้ใช้บริการ อาทิ การให้บริการเอสเอ็มเอส การกำหนดวันหมดอายุของโทรศัพท์แบบเติมเงิน การให้บริการระบบอินเทอร์เน็ตล่าช้า การแจกหมายเลขโทรศัพท์ฟรีของบางบริษัทที่ไม่มีการลงทะเบียน มักก่อให้เกิดปัญหาถูกโทรรบกวนและไม่สามารถตรวจสอบฐานข้อมูลได้

ปัญหาเหล่านี้ตัวแทนจากบริษัทผู้ประกอบการเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหากรณีการร้องเรียนปัญหาต่างๆ ว่าในส่วนของผู้ให้บริการจะพยายามปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่เป็นข้อผิดพลาด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขอความร่วมมือจากผู้บริโภคและศูนย์รับเรื่องร้องเรียนต่างๆ จัดเตรียมข้อมูลเอกสารให้ชัดเจน เช่น สำเนาบัตรประชาชนของผู้ร้องเรียน ระบุหมายเลขโทรศัพท์ หนังสือร้องเรียน เพื่อเป็นฐานข้อมูลที่ทำให้สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ถูกต้องและรวดเร็ว

 

น.ส. นลินาสน์ สิงหบุตร , น.ส.พนิดา ถุงปัญญา - เรื่อง
น.ส. นลินาสน์ สิงหบุตร - ถ่ายภาพ


พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน