ครม.เศรษฐกิจถก3จีวันนี้ หวั่นเอกชนผูกขาดบริการ

ครม.เศรษฐกิจ ถกแผนประมูลโครงการ 3จีวันนี้ "อภิสิทธิ์" หวั่นเอกชนรายใหญ่-ต่างชาติ ผูกขาดบริการ ทีโอทีหวั่นรายได้สัมปทานลดกว่า 50% หากเอไอเอสชนะประมูล กระทบเงินส่งรัฐ องค์กรผู้บริโภคร้อง กทช.ฟังความรอบด้าน มุ่งประโยชน์ผู้บริโภค-คนพิการ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุม ครม.เศรษฐกิจวันนี้ (14 ต.ค.) จะพิจารณานโยบายการพัฒนาระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 หรือโครงการ 3จี ว่าจะไปในทิศทางใด หลังจากได้เสนอข้อสังเกตไปยังคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ การเปิดให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3จี ของ กทช. ต้องการให้ กทช.คำนึงถึงภาพรวมที่ครอบคลุมถึงบทบาทของ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคมด้วย เพราะไม่ต้องการให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

ทั้งนี้ปัญหาธุรกิจโทรคมนาคมมีมาตลอด เพราะไทยใช้ระบบสัมปทาน และดำเนินการเอง ต่อมาจะเปิดเสรีโทรคมนาคม อีกประเด็นคือ เรื่องการประเปิดประมูลใบอนุญาตโทรศัพท์มือถือ 3จีนั้น ขณะนี้มีหลายฝ่ายทักท้วง ดังนั้น กทช. ต้องชี้แจงให้ชัดเจนและกระจ่างทุกประเด็น

“ผมมีความห่วงใยในเรื่องการเปิดประมูลใบอนุญาต 3จี ที่จะมีการแข่งขันกันเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนที่สูงให้ กทช.หรือรัฐนั้นจะเป็นการผลักภาระให้ประชาชนหรือไม่ รวมถึงจะต้องพิจารณาเรื่องการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยไม่ทำให้เอกชนรายใหญ่และทุนต่างชาติได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งก็หวังว่า กทช.จะมีคำอธิบายที่ชัดเจนในการตัดสินใจของ กทช.”

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การประชุม ครม.เศรษฐกิจจะนำผลกระทบต่อทีโอทีและ กสท จากการเปิดประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการโครงการ 3จี ของ กทช. มาพิจารณา โดยทีโอที ระบุว่า หาก บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ประมูลได้ใบอนุญาต ก็จะทำให้เอไอเอสไม่ขยายการลงทุนโครงข่ายเดิม แต่จะหันไปมุ่งเน้นการทำโครงข่าย 3จีแทน

ขณะที่สัญญาสัมปทานเอไอเอสเหลืออีก 6 ปี หรือสิ้นสุดปี 2558 อีกทั้งเอไอเอสมีความพร้อมด้านการเงินมีผลต่อการทำการตลาดและ ถ่ายโอนลูกค้าจาก 2จีไป 3จีง่าย หากไม่ขยายการลงทุน ถ่ายโอนลูกค้า ก็จะส่งผลต่อการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ทีโอที กระทบต่อฐานะการเงินของทีโอที และมีผลต่อเนื่องการนำเงินส่งรัฐด้วย โดยปี 2551 ทีโอทีได้รับรายได้จากเอไอเอส 19,000 ล้านบาท และจากการวิเคราะห์ คาดการณ์ว่ารายได้จากส่วนแบ่งรายได้จะหายไป 50%

ส่วนความคืบหน้าการดำเนินโครงการ 3จี ของทีโอที ขณะนี้ได้เร่งดำเนินการติดตั้งสถานีฐานระยะที่ 1 ซึ่งเป็นการปรับปรุงสถานีฐานเดิมของไทยโมบาย ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ 1900 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 533 สถานี และอุปกรณ์สัญญาณในอาคารต่างๆ อีก 21 แห่ง ใช้เงินลงทุน 1,700 ล้านบาท มีเป้าหมายว่าจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการวันที่ 3 ธ.ค.นี้

ขณะที่โครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ 3จีระยะที่ 2 มูลค่าการลงทุน 29,000 ล้านบาทนั้น กระทรวงไอซีที แจ้งให้ ครม. ทราบว่าทีโอทีจะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 20,000 ล้านบาท ติดตั้งสถานีฐาน 3,802 แห่ง เป็นเวลาติดตั้ง 2 ปี เสร็จเดือนเม.ย.2555 โดยปี 2553 จะมีลูกค้าใช้บริการ 5 แสนเลขหมาย และเพิ่มเป็น 2.4 ล้านเลขหมายและคาดว่าปี2556จะมีรายได้จาก บริการ 3จี 8,000 ล้านบาท และปี 2559 มีรายได้ 1.8 หมื่นล้านบาท ลูกค้า 5 ล้านเลขหมาย

ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก ล่าวแถลงเรียกร้องให้ กทช.รับฟังความคิดเห็นก่อนตัดสินใจประมูล 3จี ว่า องค์กรผู้บริโภคต้องการให้ กทช. รับฟังความคิดเห็นรอบด้าน เพื่อผลประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคโทรคมนาคม โดยขอเรียกร้อง 3 ข้อ

ได้แก่ 1. กทช.ควรขยายกรอบการรับฟังความคิดเห็นที่รวมถึงผลประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้ รับเช่น หลักประกันเรื่องการเข้าถึงบริการของกลุ่มคนพิเศษ ด้านหลักประกันราคา โดยควรกำหนดเพดานขั้นสูงของบริการด้านวอยซ์สำหรับ 3จี ไว้ไม่เกิน 50 สตางค์ต่อนาที เนื่องจากผู้ประกอบการที่จะได้คลื่น 3จีได้ลดต้นทุนจากการจ่ายสัมปทานให้รัฐวิสาหกิจในรูปส่วนแบ่งรายได้

ซึ่งจากการคำนวณของนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ทีดีอาร์ไอ ระบุว่าผู้ประกอบการมือถือทุกรายเดิมจ่ายค่าส่วนแบ่งรายได้รวมกัน 5 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือคิดตลอดอายุสัมปทานไม่น้อยกว่า 1.8 แสนล้านบาท ขณะที่ใบอนุญาต 3จี 1 ใบคาดว่ากำหนดราคาเบื้องต้นเพียง 6 พันล้านบาทเท่านั้น ฉะนั้นไม่มีเหตุผลที่จะยกภาระต้นทุนมายังผู้บริโภค

2. กทช.ควรออกใบอนุญาต 3จีเพียง 1-2 ใบเท่านั้นแทนการจัดสรร 4 ใบเพื่อให้สอดคล้องตามความต้องการของการใช้ 3จี ที่คาดการณ์ว่าจะมีผู้บริโภคเปลี่ยนจาก 2จีไปใช้ 3จี ประมาณ 10% ของประชากรไทย เพื่อการจัดสรรใช้ทรัพ-ยากรที่มีอย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด

3. ควรสนับสนุนให้เกิดกลไกติดตามและกำกับเนื้อหา (คอนเทนท์) สำหรับ 3จี ป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีในทาง อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกม การพนัน และการล่อลวงเด็กและผู้หญิง

“ทางองค์กรเพื่อผู้บริโภคจะนำข้อเสนอเหล่านี้ไป ยังการรับฟังประชาพิจารณ์ 3 จี ครั้งที่ 2 สิ้นเดือนนี้เพราะไม่อยากเห็นการประมูล3จี จนไปถึงการให้บริการด้วยเทคโนโลยีนี้ เป็นเพียงรูปแบบการจ่ายเงินแบบใหม่ แทนสัมปทาน”

ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 14/10/52

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน