วันนี้ (๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๒) ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) รศ. เริงชัย ตันสกุล ประธานสภาผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมพร้อมตัวแทนจำนวนหนึ่งได้ยื่นข้อเสนอต่อนายนพปฏล เมฆเมฆา รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้แก้ไขปรับปรุง ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยมีนายพิฆเนศ ต๊ะปวง ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา สคบ. ร่วมรับฟังด้วย
รศ. เริงชัยกล่าวถึงที่มาของการยื่นข้อเสนอดังกล่าวว่า จากการที่สภาผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ได้จัดประชุมเพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยน ข้อมูลความเห็นกับองค์ผู้บริโภคต่าง ๆ ในเรื่อง “สัญญาให้บริการโทรศัพท์แบบเติมเงินที่ผู้บริโภคต้องการ” เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม๒๕๕๒ ที่ประชุมมีข้อเสนอต่อ สคบ. คือ ๑.สนับสนุนให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคใช้ประกาศ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๔๓ เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน (prepaid) ๒. ขอให้แก้ไข เพิ่มเติม ประกาศ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๔๓ ให้สามารถคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน (prepaid) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ๓. ขอให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาแก้ไข เพิ่มเติม ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยให้มีผู้แทนจากสภาผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ
“เราเห็นว่า กฎหมายของ สคบ. มีอำนาจบังคับตามกฎหมายที่ดีกว่าเพราะมีอำนาจทั้งทางแพ่งและทางอาญา หากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามประกาศ คือ มีโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี ปรับไม่เกิน ๑ แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังมีผลให้สัญญาให้บริการโทรคมนาคมต้องมีเนื้อหาอย่างน้อยตามที่ สคบ. ประกาศ หากสัญญาของผู้ประกอบธุรกิจไม่ได้เขียนสิทธิหรือหน้าที่ใดไว้ ให้ถือว่ามีสิทธิหรือหน้าที่ตามประกาศกำหนด และในทางกลับกันหากสัญญามีข้อความที่ขัดหรือแย้งกับประกาศ ให้ถือว่าสัญญาข้อนั้น ๆ มีผลเป็นโมฆะ” รศ.เริงชัย กล่าว
ประธานสภาผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือกว่า ๕๘ ล้านเลขหมาย และกว่า ๙๐ เปอร์เซ็น เป็นผู้ใช้บริการบัตรเติมเงิน ผู้บริโภคต่างพบปัญหาจากการใช้บริการจำนวนมากและไม่แตกต่างกัน ซึ่งมีอีกหลายประเด็นที่เสนอให้ สคบ. กำหนดไว้ในประกาศของ สคบ. เช่น ผู้ให้บริการโทรคมนาคมต้องร่วมรับผิดชอบต่อการให้บริการเสริมของผู้ให้บริการเนื้อหา ให้มีระบบแจ้งเตือนการใช้จีพีอาร์เอส เพื่อไม่สร้างภาระหนี้ให้กับผู้บริโภค ให้มีบริการแบบเสียงในสอบถามยอดเงินคงเหลือสำหรับผู้พิการทางสายตา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นต้น
ภายหลังจากการรับข้อเสนอจากประธานสภาผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมแล้ว นายนพปฏล เมฆเมฆา รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า สคบ. สนับสนุนการทำงานของภาคประชาชนมาตลอด สำหรับข้อเสนอให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคใช้ประกาศ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๔๓ เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน (prepaid) นั้นคงต้องมีการหารือกันต่อไปทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและผู้บริโภคเพื่อเกิดความพอใจทั้งสองฝ่าย ส่วนการที่สภาผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมขอมีส่วนร่วมในการเป็นอนุกรรมการเพื่อแก้ไขประกาศฉบับนี้นั้น จะได้นำเสนอเข้าคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาต่อไป