สหภาพทีโอที-กสทร้องส.ว.เบรก3จี

ชี้กทช.ไร้อำนาจแถมไม่ครบองค์ นายกฯสั่งครม.เศรษฐกิจถกด่วน


มือ ถือ 3 จี ส่อเค้าลากยาว สหภาพฯทีโอที-กสท บุกสภา ยื่น ส.ว.เบรก กทช.เปิดประมูล อ้างไม่มีอำนาจ แถมมีกรรมการไม่ครบองค์ ขณะที่เอ็นจีโอร้องขอมีเอี่ยว ยื่น 3 ข้อเรียกร้องทบทวนทีโออาร์ นายกฯสั่งถกด่วนใน ครม.เศรษฐกิจ ทีโอทีประกาศลั่น ครม. ดีเดย์เปิดบริการมือถือ 3 จี ฉลองวันพ่อ 5 ธันวาคมนี้

เมื่อ วันที่ 13 ตุลาคม ที่รัฐสภา กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นำโดยนายพงศ์ฐิติ พงศ์สิลามณี ประธานสหภาพฯ และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โดยนายสุขุม ชื่นมะนา ประธานสหภาพฯ เข้ายื่นหนังสือต่อนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา

นายสุขุมกล่าวว่า ตามที่กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จะเปิดประมูลคลื่นความถี่ 3 จี ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่ง กสท และทีโอที เห็นว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 โดยเฉพาะมาตรา 47 ที่กำหนดให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งคณะกรรมการ กทช. ไม่ใช่คณะกรรมการตามรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้ในปัจจุบัน เพราะขณะนี้คณะกรรมการ กทช.มีจำนวนกรรมการเหลือ 3 คน จากที่กำหนดไว้จะต้องมี 7 คน จึงไม่ครบองค์ประชุมตามมาตรา 50 ของ พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ ทั้งนี้ จะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด และควรกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของชาวต่างชาติให้ชัดเจน เพื่อป้องกันคลื่นความถี่ตกเป็นของต่างชาติ

นายสมชายกล่าวว่า จะรับเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ ในวันที่ 15 ตุลาคม

วัน เดียวกัน องค์กรผู้บริโภคจัดแถลงข่าวเรียกร้องหยุดอ้างผลประโยชน์ผู้บริโภค ในการเปิดประมูลใบอนุญาต 3 จี โดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า มูลนิธิฯจะขอมีส่วนร่วมในการเปิดรับฟังความคิดเห็นที่จะมีขึ้นอีกครั้ง เพื่อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ให้ กทช.ให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ เช่น การคิดอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่าปัจจุบัน หรือเริ่มต้นที่ 50 สตางค์ต่อนาที 2.ควรเปิดประมูลใบอนุญาต 1-2 ใบ เพราะหากเปิดพร้อมกัน 4 ใบ จะเท่ากับเป็นการแจกใบอนุญาต 3.ควรมีกลไกติดตามและควบคุมเนื้อหาความเท่าทันของเทคโนโลยี และปัญหาที่จะเกิดจากระบบ 3 จี เช่น เกม การพนัน การล่อลวงเด็กและผู้หญิง

นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานโครงข่าย 3 จี ซึ่งอยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้างและหาแหล่งเงินกู้ โดยคาดว่าจะใช้งบฯต่ำกว่ากรอบวงเงินเดิมที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. 29,000 ล้านบาท คือ เหลือไม่เกิน 20,000 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าทีโอทีจะเปิดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 จี ในเขต กทม.และปริมณฑล ในเดือนธันวาคม 2552 เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมนี้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะนำเข้าสู่การพิจารณาในการประชุม ครม.เศรษฐกิจ วันที่ 14 ตุลาคม

แหล่ง ข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ในการประชุม ครม.เศรษฐกิจ วันที่ 14 ตุลาคม จะมีการพิจารณาผลกระทบต่อทีโอทีและ กสท จากการเปิดประมูล 3 จี ซึ่งทีโอทีแจ้งว่า หากบริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ประมูลได้ใบอนุญาต 3 จี ก็คาดว่าจะหยุดลงทุนโครงข่ายเดิม และจะมีการถ่ายโอนลูกค้าเดิม 2 จี มา 3 จี ซึ่งจะมีผลต่อส่วนแบ่งรายได้ที่จ่ายให้กับทีโอที โดยปี 2551 ทีโอทีได้รับรายได้จากเอไอเอส 19,000 ล้านบาท และคาดว่า 3 จีจะทำให้ส่วนแบ่งรายได้หายไป 50%

ข้อมูลจาก นสพ.มติชน 14/10/52

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สภาผู้บริโภครุดพบ สคบ. แก้กฎหมายคุ้มครองผู้ใช้บัตรเติมเงิน

กทช. ฟันดีแทค ห้ามเรียกเก็บค่าเชื่อมต่อสัญญาณ ๑๐๗ บาท

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน