วันนี้มีความคืบหน้าเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือไอโฟน 3G ของทรูมูฟมาเล่าให้ฟัง
คณะกรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม หรือ คบท. องค์กรอิสระในการกำกับดูแลของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ หรือ กทช. ได้ตรวจสอบรายการส่งเสริมการขาย เครื่องไอโฟน 3G ของ ทรูมูฟ แล้วรู้สึก ข้องใจ
ประเด็นที่คบท.ติดใจสงสัยก็คือ การผูกค่าเครื่องรวมกับค่าบริการให้ลูกค้าจ่ายในอัตราเหมาจ่ายรายเดือนเป็นระยะเวลา 12-24 เดือน อาจมีประเด็นที่เป็นปัญหาในเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค
เรื่องแรกคือ การบังคับให้ผู้บริโภค ต้องใช้เครื่องโทรคมนาคมของผู้ให้บริการ ซึ่งตามมาตรา 49 ของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการ โทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ระบุว่า
“...ในการให้บริการโทรคมนาคมผู้รับใบอนุญาตจะกำหนดเงื่อนไขการให้บริการโดยบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้เครื่องโทรคมนาคมของผู้รับใบอนุญาตหรือตามที่ผู้รับใบอนุญาตกำหนดมิได้ เว้นแต่ การให้บริการโทรคมนาคมในประเภทใดที่มีความจำเป็นทางเทคนิคต้องใช้เครื่องโทรคมนาคมที่ผู้รับใบอนุญาตกำหนด ทั้งนี้ ผู้รับใบอนุญาตจะกำหนดเงื่อนไขเช่นว่านั้นได้เมื่อคณะกรรมการได้ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่การกำหนดประเภทเครื่องโทรคมนาคมเช่นว่านี้ไม่เป็นการตัดสิทธิผู้ใช้บริการที่สามารถจัดหาเครื่องโทรคมนาคมตามประเภทที่กำหนดมาใช้ในการรับบริการได้เอง ในการนี้ ผู้รับใบอนุญาตจะปฏิเสธการให้บริการหรือการเชื่อมกับระบบการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการมิได้”
ในกรณีแพ็กเกจไอโฟน 3G นั้น ทรูมูฟเคยยืนยันในการประชุมร่วมกับสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เมื่อไม่นานมานี้ ว่า เครื่องไอโฟน 3G สามารถนำไปใช้กับเครือข่ายอื่นได้ อีกทั้งได้เปิดจำหน่ายเครื่องเปล่า จึงไม่มีการกีดกันการแข่งขันด้วยการจำกัดการใช้งานของตัวเครื่องเฉพาะเครือข่ายใดเครือข่ายหนึ่ง แต่เนื่องจากแพ็กเกจหรือรายการส่งเสริมการขายดังกล่าวกำหนดให้ผู้ที่จะสมัครใช้บริการต้องเช่า/ซื้อเครื่องร่วมด้วยเท่านั้น จึงอาจเข้าข่ายเป็นการกำหนดเงื่อนไขที่บังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้เครื่องโทรคมนาคมของผู้รับใบอนุญาตหรือตามที่ผู้รับใบอนุญาตกำหนดหรือไม่
ประการที่สอง คือ การเลือกปฏิบัติ แบ่งแยก หรือกีดกันผู้ใช้บริการ ซึ่งเป็นสิ่งที่กฎหมาย ไม่อนุญาตให้ทำได้ แต่ในกรณีนี้ที่มีการกำหนดให้เฉพาะลูกค้าทรูมูฟเท่านั้นที่มีสิทธิในการซื้อเครื่องพร้อมสมัครบริการแพ็กเกจเบสิก ทำให้ผู้ใช้บริการทั่วไปไม่สามารถใช้บริการได้ อีกทั้งในส่วนของอัตราค่าบริการยังมีการกำหนดไว้แตกต่างกันตามขนาดหน่วยความจำของเครื่องโทรศัพท์ ทั้งที่เป็นแพ็กเกจบริการเดียวกัน เช่น แพ็กเกจซิลเวอร์ค่าบริการรายเดือนสำหรับเครื่องรุ่น 8 GB เป็น 476 บาท ในขณะที่สำหรับเครื่องรุ่น 16 GB เป็น 521 บาท ทั้งเงื่อนไขการสมัครและความต่างของอัตราค่าบริการนี้จึงมีประเด็นที่ต้องตรวจสอบว่าอาจเข้าข่ายเป็นการแบ่ง แยกหรือเลือกปฏิบัติต่อผู้ใช้บริการหรือไม่
อีกประเด็นสำคัญที่อาจจะก่อ ให้เกิดความขัดแย้งในอนาคตก็คือ เงื่อนไขกรณียกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด ซึ่ง ตามสัญญาของทรูมูฟนั้นมีข้อหนึ่งกำหนดเอาไว้ว่า “ลูกค้ายืนยันด้วยความสมัครใจว่า ในกรณีที่ลูกค้าเช่าเครื่องจากบริษัท ลูกค้าตกลงจะไม่ยกเลิกการเช่าและบริการก่อนครบกำหนดตามที่ระบุในข้อ 4.1 หากการเช่าและ/หรือบริการตามหนังสือรับสิทธิฯ สิ้นสุดลงก่อนกำหนดไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ลูกค้าตกลงชำระเงินค่าเช่าเครื่องและบริการที่เหลืออยู่ทั้งหมดตลอดระยะเวลาดังกล่าว ให้แก่บริษัทเพื่อเป็นค่าเสียหายขั้นต่ำ และตกลงชำระเงินตามข้อ 8 อีกส่วนหนึ่งด้วย และในกรณีที่ลูกค้าซื้อเครื่องจากบริษัท ลูกค้าตกลงชำระเครื่องด้วยวิธีการหักชำระผ่านบัตรเครดิตของธนาคารตามข้อตกลง และเงื่อนไขที่ได้ทำไว้กับธนาคารตลอดจนตกลงใช้บริการของบริษัทไม่น้อยกว่ากำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในข้อ 4.1”
สำหรับสาระสำคัญของข้อ 4.1 คือ การกำหนดระยะเวลาการเช่าเครื่องและบริการ 24 เดือนยกเว้นแพ็กเกจเบสิกกำหนด 12 เดือน ส่วนข้อ 8 กำหนดว่า “ในกรณีที่สิทธิใด ๆ ตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับสิทธิฯ ฉบับนี้สิ้นสุดลงก่อนครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนดในข้อ 4.1 ลูกค้าตกลงที่จะชำระค่าเช่าเครื่อง และ/หรือค่าบริการในส่วนที่เหลือทั้งหมดให้แก่บริษัทไว้เป็นค่าเสียหายขั้นต่ำ ตลอดจน ค่าใช้จ่ายและค่าเสียหายอื่นใด (ถ้ามี) โดยวิธีหักชำระผ่านบัตรเครดิต ตามที่ระบุไว้ ในหนังสือรับสิทธิฯ นี้ หรือตามวิธีการที่บริษัทกำหนดได้ทันทีลูกค้าและ/หรือผู้ถือบัตรเครดิตยินยอมให้ถือเป็นหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อ และลูกค้าจะชำระหนี้ทั้งหมดคืนแก่ธนาคารจนกว่าจะแล้วเสร็จ”
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการ สบท. กล่าวว่า ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ เงื่อนไขดังกล่าวเป็นไปตามข้อ 15 ของประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 หรือไม่ เนื่องจากเมื่อคำนวณค่าเช่าเครื่องรวมตลอดสัญญาและสิทธิในการซื้อเครื่องในราคา 1 บาท เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าแล้วพบว่า ค่าเช่าและค่าซื้อเครื่องโดยวิธีการผ่อนชำระมีราคาถูกกว่าการซื้อเฉพาะตัวเครื่องโดยไม่ผูกพันบริการตามที่บริษัทฯ กำหนดไว้ ซึ่งในชั้นต้นถือได้ว่าราคาซื้อเฉพาะตัวเครื่องโดยชำระค่าเครื่องทันทีนี้เป็นราคาตลาดโดยทั่วไป เนื่องจากทรูมูฟเป็นผู้แทนจำหน่ายที่ได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องจากบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศเพียงรายเดียวในเวลานี้ อย่างไรก็ดี หากผู้บริโภคที่ประสงค์จะหยุดใช้บริการ แต่ต้องชำระค่าบริการด้วย ก็อาจทำให้ราคารวมสูงกว่าราคาตลาด ซึ่งอาจจะขัดต่อข้อ 15 ของประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ในวรรคแรก ที่ว่า
“ในกรณีที่ผู้ให้บริการได้ส่งมอบเครื่อง อุปกรณ์หรือสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้ใช้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือคิดค่าใช้จ่ายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดของค่าอุปกรณ์ ในกรณีที่ส่งมอบ เพื่อประโยชน์ในการใช้บริการโทรคมนาคมนั้น ผู้ให้บริการจะถือเอาเหตุดังกล่าวมากำหนดเป็นเงื่อนไขอันก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ใช้บริการหรือเรียกเก็บค่าปรับหรือค่าเสียหายจากการที่ผู้ใช้บริการยกเลิกสัญญาก่อนกำหนดมิได้”
ผอ.สบท. เปิดเผยอีกว่า แม้ว่ารายการส่งเสริมการขาย ไอโฟน 3G จะเริ่มต้นมาเพียงสองสัปดาห์ แต่ในขณะนี้ปรากฏว่ามีผู้บริโภคแจ้งข้อมูลว่าประสบปัญหาการยกเลิกสัญญาเข้ามาทางสำนักงาน สบท. แล้ว เนื่องจากในการสมัครนั้นทำผ่านระบบอินเทอร์เน็ต จึงไม่มีสัญญา ที่เป็นลายลักษณ์อักษร (Hard Copy) และเมื่อ ผู้ใช้บริการแสดงเจตนาว่าต้องการเลิกสัญญาก็ได้รับการแจ้งว่าไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้ ซึ่งทาง สบท. กำลังประสานขอข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้บริโภคที่ร้องเรียนเข้ามา
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง หนึ่งในกรรมการ สบท. ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การกำหนดให้ทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิต หากบริษัทมีการกำหนดเงื่อนไขสัญญากับธนาคารในการหักชำระค่าบริการส่วนที่ไม่ ได้ใช้บริการ แม้ผู้บริโภคจะยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดกับทางทรูมูฟ แต่อาจจะยังคงต้องผูกมัดตามสัญญากับทางธนาคารหรือไม่ และทาง กทช. จะมีอำนาจกำกับดูแลในเรื่องนี้เพียงใด
การมีความคาบเกี่ยวสัญญาหลายประเภท ในธุรกรรมเดียวนับว่าเป็นปัญหาสำคัญของผู้บริโภค ในการบอกเลิกสัญญาบริการในปัจจุบัน เนื่องจากผู้ประกอบการต่างอ้างว่าต้องบอกเลิกกับคู่สัญญาอื่นที่มิใช่ตน
ทางคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม หรือ คบท. จึงจะนำเรื่องนี้เสนอต่อ กทช. เพื่อตรวจสอบความจริงและพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหากับผู้บริโภคอย่างกว้างขวางในระยะต่อไป
เจออย่างนี้ ทรูมูฟน่าจะรีบชี้แจงโดยเร็ว.
นสพ.เดลินิวส์ 5/2/52
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Columnid=69446&NewsType=2&Template=1