2 ปีมาตรฐานสัญญาโทรคม แค่ "เสือกระดาษ"

Imageประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่ 25 ก.ย.2549 ที่ผ่านมา

 โดยเนื้อหาสาระนับเป็นประกาศที่มีผลดีต่อผู้ใช้บริการโดยตรง เนื่องจากมีเงื่อนไขในสัญญาหลายประเด็นที่คุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการ

เช่น ในเรื่องบริการพรีเพด มีข้อกำหนดห้ามบังคับให้ลูกค้าต้องใช้บริการภายในเวลาที่กำหนด ห้ามเก็บค่าธรรมเนียมอื่นใด นอกจากที่กำหนดไว้ในสัญญา หรือแม้แต่เกิดข้อพิพาทระหว่างผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการยังกำหนดให้ผู้ให้บริการเป็นฝ่ายพิสูจน์ข้อมูล จากปกติฝ่ายผู้กล่าวหามีภาระต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ข้อมูล

อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันประกาศ ดังกล่าวกลับไม่มีผลในทางปฏิบัติ ทุกวันนี้บัตรเติมเงินพรีเพดราคา 300 บาท ยังคงกำหนดวันในการใช้ 30 วันเหมือนเดิม

หรือการเก็บค่าธรรมเนียมในการต่อเชื่อมสัญญาณกรณีค้างชำระที่ยังคงมีการ เรียกเก็บ 107 บาท (แล้วแต่ผู้ให้บริการ) ทั้งที่มีข้อกำหนดว่า ห้ามเก็บค่าธรรมเนียมอื่นใดนอกจากที่กำหนดไว้ในสัญญา เป็นต้น

ฟากสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานใต้สังกัด กทช.เองพยายามใช้ประกาศฉบับนี้เป็นเครื่องมือในการกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ บริโภค โดยพยายามผลักดันข้อกำหนดเกี่ยวกับการคืนเงินกรณีบัตรเติมเงินหมดอายุ, เงื่อนไขการโอนถ่ายมูลค่าเงินไปยังเลขหมายอื่นก่อนเลิกใช้เลขหมายเดิม และเสนอให้ยืดวันหมดอายุบัตรเติมเงินจาก 30 วัน เป็น 6 เดือน เป็นต้น

ขณะที่ "ผู้บริโภค" ก็เริ่มมีบ้างแล้วที่รับรู้ถึงสิทธิของตนเอง มีการร้องเรียนผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือผ่าน สบท.ทั้งกรณีการกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงิน และร้องเรียนการเรียกเก็บค่าเชื่อมต่อสัญญาณ

ในมุมของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ แม้ประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้มา 2 ปีกว่าแล้ว แต่กลับไม่มีผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใด

"สรายุทธ์ บุญเลิศกุล" ผู้อำนวยการสายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูเคชั่น (ดีแทค) อธิบายว่า สัญญาการให้บริการโทรคมนาคมระหว่าง ผู้ประกอบการ และผู้ใช้บริการจะมีผลบังคับใช้ต่อเมื่อ กทช.ให้ความเห็นชอบแบบสัญญาก่อน ซึ่งผู้ประกอบการได้ยื่นแบบสัญญาให้ กทช.อนุมัตินานมากแล้ว แต่ยังไม่มีอะไรคืบหน้ายังคงอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาให้ความเห็นชอบสัญญา

ดังนั้นสัญญาที่ลูกค้ามีต่อบริษัทจึงเป็นสัญญาบนเงื่อนไขของสัมปทานเดิม มิใช่ตามประกาศ กทช.เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549

"เราไม่ได้รังเกียจที่ต้องปฏิบัติตามประกาศ กทช.แต่อยากให้ปฏิบัติตามขั้นตอน กทช.ยังไม่เห็นชอบแบบสัญญา และยังไม่ได้ประกาศอัตราขั้นสูงของค่าบริการ ซึ่งจะบอกว่าอะไรเรียกเก็บได้ อะไรเรียกเก็บไม่ได้ ก็ยังไม่ประกาศ ดังนั้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ จึงอยู่บนเงื่อนไขสัมปทานเดิมไปก่อน"

ด้าน "ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา" ผู้อำนวยการ สบท. กล่าวว่า ตามขั้นตอนเมื่อประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ผู้ให้บริการต้องส่งแบบสัญญาให้ กทช.อนุมัติก่อน และระหว่าง กทช.ยังไม่ให้ความ เห็นชอบให้เป็นไปตามแบบสัญญาเก่า แม้ ผู้ประกอบการยื่นแบบสัญญาตามประกาศให้ กทช.พิจารณานานกว่า 2 ปีแล้ว กทช. ก็ยังคงมีมติ "รับทราบ" และอยู่ระหว่าง "การพิจารณา" มาจนถึงปัจจุบัน

"เท่าที่ทราบ กทช.ต้องการจัดทำอัตราขั้นสูงของค่าบริการให้เสร็จก่อน รวมทั้งต้องการให้ สบท.จัดทำเงื่อนไขเกี่ยวกับบริการเก็บเงินล่วงหน้าด้วย แต่ผมยืนยันได้ว่าแม้ปัจจุบันตัวสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับค่ายมือถือจะเป็น ไปตามแบบสัญญาเก่า แต่เมื่อมีประกาศมาตรฐานสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ถือเป็นกฎหมายแล้ว อะไรที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายต้องแก้ไข"

เข้าอีหรอบนี้ คงต้องร้องเพลงรอกันต่อไป หลังรอมานานกว่า 2 ปีแล้ว ว่าเมื่อไร "กทช." จะทำให้ประกาศมาตรฐานสัญญาบริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 มีผลบังคับใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ ไม่ใช่แค่ "เสือ กระดาษ" อยู่อย่างทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากผู้บริโภคมีปัญหา ต้องการร้องเรียน สามารถร้องเรียนได้ที่ ศูนย์คุ้มครองผู้ริโภคในกิจการโทรคมนาคม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

นสพ.ประชาชาติธุรกิจ 1 ธ.ค.51

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน