ศาลปกครองไต่สวน คัดค้านขึ้นราคาก๊าซ

ศาลปกครองกลางไต่สวนฉุกเฉินกรณีคัด ค้านขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี-แอลพีจี ใช้เวลาไต่สวนนานกว่า 4 ช.ม.รอลุ้นคำสั่งชี้ขาดคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ภาย ใน 48 ช.ม. กระทรวงพลังงานยืนยันเดินหน้าขึ้นราคาก๊าซ แต่หากศาลสั่งคุ้มครอง ก็พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งศาล



เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 16 ม.ค. ที่ศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ นายเทอดพงศ์ คงจันทร์ ตุลาการศาลปกครองกลาง ในฐานะตุลาการเจ้าของสำนวน ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนฉุกเฉินพิจารณาคำขอกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ก่อนมีคำพิพากษาตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และพวกรวม 4 คน ร้องขอให้สั่งระงับการขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจีของรัฐบาลในวันที่ 16 ม.ค. 2555 จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 76/2555 ที่มูลนิธิยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี และพวกรวม 5 คน ขอให้เพิกถอนมติครม.ที่อนุมัติให้มีการปรับขึ้นราคาก๊าซทั้งสองประเภท

ทั้งนี้ ในการไต่สวน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดี ให้ถ้อยคำ สรุปว่า การขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี ที่มีการปรับขึ้นราคาสูงกว่าต้นทุนตลาดโลกกว่า 2 เท่าตัว จากข้อมูลพบว่าราคาก๊าซเอ็นจีวีของสหรัฐ อเมริกา มีราคาเพียง 4.29 บาทต่อก.ก. และราคาก๊าซเอ็นจีวีของตลาดโลก ปี 2554 มีราคาเพียง 7.57 บาท เท่านั้น ส่วนราคาเนื้อก๊าซเอ็นจีวีของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่กำหนดอยู่ที่ 8.39 บาทต่อก.ก.นั้น เป็นราคาที่รวมกำไรแล้ว ไม่ใช่ราคาต้นทุนที่แท้จริง ขณะที่ค่าบริการจัดการและขนส่งในราคา 5.56 บาท เป็นการดำเนินการที่ไม่มีประสิทธิภาพ และเมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าการตลาดเป็นราคา 14.50 บาท จึงถือว่ามีราคาที่สูงกว่าราคาขายปลีกเฉลี่ยของตลาดโลก ปี 2554 เกือบสองเท่า

ส่วนการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีนั้น จากสถิติปี 2551-2553 พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีการใช้ก๊าซแอลพีจีสูงขึ้น ถึงร้อยละ 68 ขณะที่ภาคยานยนต์มีการใช้ลดลง สาเหตุที่ทำให้แอลพีจีขาดแคลน จึงไม่ใช่เพราะภาคยานยนต์ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้าง หากแต่มาจากการใช้แอลพีจีของกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี แทนที่รัฐบาลจะมีการจัดเก็บเงินค่าแอลพีจีกับกลุ่มอุตสาห กรรมปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น กลับกำหนดให้อุตสาห กรรมปิโตรเคมี ส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในอัตรา 1 บาทต่อก.ก.เท่านั้น

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอื่นที่ใช้แอลพีจี ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันในอัตรา 8-11 บาทต่อก.ก ประกอบกับการนำเงินกองทุนน้ำมันไปสนับสนุนให้รถยนต์ขนาดเล็กปรับเปลี่ยนการ ใช้แอลพีจีเป็นเอ็นจีวี ก็เป็นการเบี่ยงเบนและเอื้อประโยชน์ในการใช้แอลพีจี ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเมี ซึ่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของปตท. มีบริษัทในเครือหุ้นเป็นส่วนใหญ่ และมีการผูกขาดการผลิตและการจำหน่ายเพียงองค์กรเดียว การปรับขึ้นแอลพีจีจึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีใน เครือบริษัทปตท.อย่างเห็นได้ชัด

ขณะที่ นายเติมชัย บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ก๊าซธรรมชาติยานยนต์ บริษัท ปตท. จำกัด และนายสุเทพ เหลี่ยมศริเจริญ ผู้รับมอบอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ให้ถ้อยคำ สรุปว่า มติการปรับขึ้นราคาก๊าซทั้งสองประเภท เป็นการดำเนินการโดยชอบตามพ.ร.บ. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในภาคการขนส่งรัฐบาลได้อุดหนุนก๊าซทั้งสองประเภทมาโดยตลอด โดยเรียกเก็บเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากผู้ใช้น้ำมันจึงก่อให้ เกิดความไม่เป็นธรรม อีกทั้งการสนับสนุนดังกล่าวทำให้ราคาต้นทุนของก๊าซทั้งสองประเภทบิดเบือนจาก ต้นทุนที่แท้จริง ก่อภาระแก่กองทุนน้ำมันในการชดเชย หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จะก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับข้อมูลราคาเนื้อก๊าซนั้น สำนักนโยบายและแผนพลังงาน ได้จ้างสถาบันที่ปรึกษา เพื่อวิจัยต้นทุนราคาก๊าซที่แท้จริง ไม่ได้เป็นการฟังข้อมูลของปตท. หรือนำความเห็นของข้าราชการระดับสูงรายใดมาพิจารณาเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อปตท . ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมเคมี ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนน้ำมัน ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวหา เพราะราคาแอลพีจีของภาคขนส่ง ภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมทั่วไปจะมีราคาต้นทุนในอัตราเดียวกัน คือ 10 บาทต่อก.ก. ราคาขายปลีก 18.13 บาทต่อก.ก. ขณะที่ราคาต้นทุนแอลพีจีในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จะอยู่ที่ 14-15 บาทต่อก.ก. ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จึงไม่ได้รับการช่วยเหลือ ซ้ำยังต้องนำเงินเข้ากองทุนน้ำมันอีก ซึ่งต่างจากภาคขนส่ง ครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรมทั่วไปที่รัฐชดเชย

อย่างไรก็ตาม การกำหนดราคาต้นทุนก๊าซที่กล่าวหาว่าของไทยแพงกว่าทั่วโลกนั้น ทั่วโลกจะอยู่ที่ 19 บาทต่อก.ก. สหรัฐอเมริกาจะอยู่ที่ 14 บาทต่อก.ก. โดยประมาณ เนื่องจากแหล่งที่มาต่างกัน จึงทำให้มีต้นทุนที่แตกต่างกัน โดยปตท.จะซื้อก๊าซจากอ่าวไทยหรือพม่า ซึ่งจะต้องมีการขออนุมัติต้นทุนเนื้อก๊าซจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่ง ชาติ และจะนำไปใช้มากในภาคไฟฟ้า

ส่วนภาคการขนส่งจะใช้น้อย สำหรับในส่วนของบัตรเครดิตพลังงานนั้น เพื่อเป็นการช่วยผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะบางราย เช่น รถแท็กซี่ รถร่วม ขสมก.และรถขนส่ง เป็นต้น ให้มีการลดต้นทุนในการจ่ายค่าก๊าซ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับประชาชนที่ใช้บริการ ซึ่งเงินชดเชยส่วนต่างบัตรเครดิตพลังงานเป็นเงินที่ปตท.เป็นผู้จ่ายชดเชย ไม่มีการเรียกคืนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหรือหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการไต่สวนนานกว่า 4 ชั่วโมง นายเทอดพงศ์ได้แจ้งให้คู่กรณีทราบว่า ศาลจะมีการประชุมองค์คณะเพื่อพิจารณาคำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราว และจะมีคำสั่งภายในวันเดียวกัน โดยจะแจ้งให้คู่กรณีทราบทางโทรสารหากไม่แล้วเสร็จ จะแจ้งให้ทราบภายในวันที่ 17 ม.ค.

ด้านนายอริยวิชย เอกอุฬารพันธ์ โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานจะเดินหน้าปรับราคาเอ็นจีวีและแอลพีจี ตามมติกพช.ต่อไป เพราะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง จนกว่าศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ชะลอการปรับขึ้นราคาก๊าซทั้ง 2 ชนิด เพราะหากเป็นคำสั่งศาล กระทรวงพลัง งานก็พร้อมจะดำเนินตามคำสั่ง

สำหรับความคืบหน้าเรื่องคณะเจรจาร่วมกับภาคขนส่ง ล่าสุด นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ออกหนังสือ 3 ฉบับ เพื่อตั้งคณะกรรมการพิจาณาการปรับขึ้นราคาก๊าซให้กับผู้ประกอบการขนส่งกลุ่ม ต่างๆ โดยมีนายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ล่าสุดกรรมการทั้ง 3 ชุด ยังไม่กำหนดวันประชุมนัดแรก

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวตระเวนดูบรรยากาศการเข้าเติมก๊าซเอ็นจีวีตามปั๊มก๊าซต่างๆ พบว่ามีผู้ใช้นำรถยนต์เข้าไปเติมตามปกติ

นายก่อเกียรติ จันทรมาลัย อายุ 51 ปี โชเฟอร์แท็กซี่ กล่าวว่า ถ้าขึ้นราคาไม่มาก ก็ไม่กระทบ แต่ถ้าขึ้นมากถึง 14.50 บาท คงสู้ไม่ไหว เพราะต้นทุนเชื้อเพลิงจะสูงขึ้นอีกเท่าตัว เมื่อรวมกับค่าเช่ารถและค่าใช้จ่ายส่วนอื่น จะส่งผลให้รายได้ไม่พอกับรายจ่าย คนขับแท็กซี่คงอยู่ไม่ได้

ขณะที่นายสมบัติ เกิดนารี อายุ 43 ปี อาชีพขับสามล้อเครื่องรับจ้าง กล่าวว่า การปรับขึ้น 50 สตางค์ คงไม่มีผลกระทบ โดยเฉพาะรถรับจ้างที่จดทะเบียนสาธารณะ ป้ายทะเบียนเหลือง เพราะมีบัตรเครดิตพลังงานที่ได้รับจากรัฐบาล แต่หากขึ้นไปมากถึง 14.50 บาท ก็คงแย่ เพราะค่าใช้จ่ายจะสูงมาก



ส.ว.อัดรัฐบาลชิ่งขึ้นราคาก๊าซ

เมื่อ วันที่ 16 ม.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา โดยมีพล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธาน โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุมน.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ หารือว่าขณะนี้รัฐบาลได้ทำผิดมารยาททางการเมือง กรณีที่ไม่ชะลอการขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี และแอลพีจี หลังจากที่ประชาชนได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และการไต่สวนฉุกเฉินเรื่องดังกล่าวนั้นจะถูกพิจารณาในวันนี้

น.ส. รสนากล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามตนมองว่ากรณีที่รัฐบาลประกาศขึ้นราคาก๊าซและน้ำมันทั้งระบบ ได้สร้างผลกระทบประชาชนจำนวนมาก ซึ่งการประกาศนโยบายของรัฐบาลนั้นไม่มีความจริงใจ ที่บอกว่าจะยกเลิกกองทุนน้ำมัน กระชากค่าครองชีพประชาชน ด้วยนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน และเงินเดือน 15,000 บาทยังไม่เกิด แต่มีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับรัฐบาล เช่นการแก้รัฐธรรมนูญ ลดภาษีนิติบุคคล จาก 30 เปอร์เซ็นต์ เป็น 23 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เห็นว่าเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์กับรัฐบาล และบริษัทขนาดใหญ่

 

ข้อมูลและภาพจาก นสพ.ข่าวสด  วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน