ค่าไฟฟ้าเตรียมขยับรับปีใหม่

เรกูเลเตอร์คาดแนวโน้มค่าไฟฟ้าปี 2555 ขยับอีกตามต้นทุนเชื้อเพลิง โยนรัฐบาลหาช่องตรึงราคาต่อ

 

นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) เปิดเผยถึงแนวโน้มอัตราค่าไฟฟ้าในปี 2555 มีโอกาสที่จะปรับขึ้นตามต้นทุนเชื้อเพลิง หากรัฐบาลมีนโยบายลดค่าครองชีพประชาชนต่อ โดยตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ไว้ ก็ต้องจัดสรรงบประมาณมาอุดหนุน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการตรึงค่าเอฟทีแต่ละงวดจะใช้ 2 แนวทางคือ 1.เงินลงทุนที่เรียกคืนจาก 3 การไฟฟ้ามาชดเชย ซึ่งปัจจุบันไม่มีวงเงินดังกล่าวเหลือแล้ว และ 2.ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ช่วยรับภาระไปก่อน โดยล่าสุดค่าเอฟทีรอบเดือน ม.ค.-เม.ย. 2555 ได้ประกาศให้ตรึงค่าเอฟทีไว้

แม้การคำนวณค่าเอฟทีตามโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่จะต้องเก็บจากประชาชนเท่ากับ 18.31 สต./หน่วย คิดเป็นวงเงินประมาณ 1.16 หมื่นล้านบาท

เรกูเลเตอร์ พิจารณาแล้วเห็นว่า ภาระดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประชาชน ตลอดจนในช่วงระยะเวลาดังกล่าวประชาชนและภาคการผลิตอยู่ระหว่างการฟื้นฟูจาก ผลกระทบของวิกฤตอุทกภัย จึงมีมติให้นำเงินส่วนลดจากการขาดส่งก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งก๊าซเยตากุนในพม่า เมื่อช่วงต้นปี 2554 จำนวน 458.33 ล้านบาท

เงินชดเชยค่าก๊าซที่ใช้ในการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าขนอมในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2554 จำนวน 284.13 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 742.46 ล้านบาท รวมทั้งให้ กฟผ.รับภาระแทนประชาชน ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และการผลิต จำนวน 8,029 ล้านบาท

“ค่าเอฟทีในรอบเดือน พ.ค.-ส.ค 2555 และรอบถัดๆ ไป ถ้ายังต้องการให้ตรึงค่าเอฟทีต่อไป รัฐบาลก็ต้องจัดสรรงบประมาณมาใช้รับภาระตรงนี้ เพราะเชื่อว่าแนวโน้มราคาเชื้อเพลิงอยู่ในทิศทางขาขึ้น โดยเฉพาะราคาก๊าซที่ยังต้องคำนวณอ้างอิงจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังปรับ สูงขึ้น ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันตลาดโลกปี 2555 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลขึ้นไป” นายดิเรก กล่าว

นายดิเรก กล่าวด้วยว่า โครงสร้างค่าไฟฟ้าที่มีการปรับปรุงใหม่นั้น แม้จะกำหนดให้ใช้เป็นสูตรคำนวณค่าเอฟทีในช่วง 2 ปี แต่ทางเรกูเลเตอร์จำเป็นต้องมีการทบทวนทุกๆ ปี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โดยเฉพาะหากรัฐบาลจะมีมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพิ่มเติม หรือมีมาตรการอื่นๆ ก็ต้องมาพิจารณากันอีกครั้ง

ด้านบริษัท ไทยออยล์ รายงานทิศทางการใช้น้ำมันสำเร็จรูปโดยรวมในประเทศปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 4-5% เป็นผลจากความต้องการใช้ดีเซลที่จะขยายตัว 3-4% ก๊าซหุงต้มขยายตัว 15% น้ำมันอากาศยานขยายตัว 4% เบนซินและน้ำมันเตาขยายตัว 1-2% ส่วนปริมาณความต้องการเอทานอลภายในประเทศปี 2555 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.8 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจาก 1.3 ล้านลิตร/วัน

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน