ไล่ตั้งแต่ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปไม่ว่าจะเป็นเบนซินและดีเซลจะมีการ ปรับขึ้นตั้งแต่ต้นปี ที่เป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 4 ของกลุ่มน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้น 0.48 สตางค์ต่อลิตร และดีเซล 0.43 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งจะมีผลต่อราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป
ยังไม่รวมการทยอยปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ เดือนละ 1 บาทต่อลิตร และดีเซล 0.60 บาทต่อลิตร ที่จะมีผลตั้งแต่ 16 มกราคม 2555 เป็นต้นไป ซึ่งล้วนจะส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันต้องปรับราคาตามไปด้วย
++ราคาน้ำมันตลาดโลกยังผันผวน
ในขณะที่สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะสะท้อนให้ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศปรับ ตัวตามไปอีก เพราะจากการประเมินของกระทรวงพลังงาน คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบ อาจปรับสูงขึ้นอีกจากความต้องการน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น จากการจัดหาน้ำมันของโลกมีจำกัด และปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน โดยนักวิเคราะห์คาดว่าราคาน้ำมันดิบในช่วงปี 2555 ยังคงมีความผันผวนตามสถานการณ์ต่างๆ โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับเฉลี่ย 105-110 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล จากปี 2554 เฉลี่ยอยู่ที่ 105 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินอยู่ที่ระดับ 112 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และดีเซลอยู่ที่ระดับ 121 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล
สอดคล้องกับการคาดการณ์ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ที่ระบุว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะมีความผันผวนมากขึ้นโดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ ประมาณ 105 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ใกล้เคียงกับราคาเฉลี่ยในปี 2554 ที่ประมาณ 106 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานที่ค่อนข้างสมดุล โดยความต้องการใช้น้ำมันของโลกมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจโลก ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากกลุ่มโอเปก โดยเฉพาะ ลิเบีย จะกลับเข้ามาสู่ตลาดเพิ่มขึ้นแม้จะยังไม่เต็มกำลังการผลิต ซึ่งโอเปกจะยังคงเป็นตัวหลักในการควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ เพื่อรักษาสมดุลของตลาดและระดับราคาน้ำมันไว้ โดยมีปัจจัยเสี่ยงในด้านต่างๆ ได้แก่ การเคลื่อนย้ายเงินลงทุน ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ กฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ รวมทั้งฤดูกาลและภัยธรรมชาติ จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันในปี 2555 อยู่ในระดับสูงและมีความผันผวนต่อเนื่อง
++ยอดใช้น้ำมันไม่ลดลง
ส่วนทางด้านสถานการณ์การใช้น้ำมันของประเทศ ในปี 2555 ทางกระทรวงพลังงาน ประเมินว่าการใช้น้ำมันเบนซินจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจน่าจะปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับยอดซื้อรถใหม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น โดยผู้ค้าน้ำมันได้รายงานแผนการค้าน้ำมันในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2555 ที่ระดับ 20-21 ล้านลิตรต่อวัน และคาดว่าสัดส่วนการใช้แก๊สโซฮอล์น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น หากรัฐบาลปรับเพิ่มส่วนต่างราคาแก๊สโซฮอล์และเบนซินอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ ในปี 2555 รัฐบาลมีนโยบายที่สำคัญในการยกเลิกจำหน่ายเบนซิน 91 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ โดยจะส่งผลให้การใช้เอทานอลจะเพิ่มขึ้น 0.7 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 2.0 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่กำลังการผลิตเอทานอลปัจจุบันอยู่ที่ 2.93 ล้านลิตรต่อวัน และเพิ่มขึ้นเป็น 3.37 ล้านลิตรต่อวัน ในไตรมาสแรกของปี 2555
ขณะที่การใช้น้ำมันดีเซลปี 2555 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับคณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับราคาขายปลีกเอ็นจีวี ขึ้นเดือนละ 0.50 บาทต่อกิโลกรัม จำนวน 12 ครั้ง ในปี 2555 จึงคาดว่าผู้ประกอบการขนส่งอาจชะลอการตัดสินใจในการเปลี่ยนไปใช้ก๊าซเอ็นจี วี โดยผู้ค้าน้ำมันได้รายงานแผนการจำหน่ายดีเซลในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2555 ที่ 51 ล้านลิตรต่อวัน
++แอลพีจีพุ่งแม้ขึ้นราคา
นอกจากนี้ การใช้ก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีในปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวอย่างช้าๆ โดยเป็นการขยายตัวจากภาคครัวเรือนและปิโตรเคมี ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมนั้น การใช้น่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนน้ำท่วมปีที่ผ่านมา ประมาณ 70 พันตันต่อเดือน หรืออาจลดต่ำลงเล็กน้อยหลังจากที่ได้ปรับขึ้นราคาครบ 4 ครั้ง รวม 12 บาทต่อกิโลกรัม สาเหตุที่การใช้อาจไม่ลดลงมากนัก เนื่องจากต้นทุนก๊าซแอลพีจียังมีราคาต่ำกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น ในขณะที่การใช้ก๊าซธรรมชาติน่าจะเข้ามาแทนที่ก๊าซแอลพีจีได้บ้าง แต่มีข้อจำกัดด้านการขนส่งเคลื่อนย้าย
อีกทั้ง มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554 ได้เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนต่อไปจน ถึงสิ้นปี 2555 และขยายระยะเวลาการตรึงราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวภาคขนส่งต่อไปจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2555 เพื่อเตรียมจัดทำบัตรเครดิตพลังงาน และปรับเปลี่ยนรถแท็กซี่แอลพีจีมาเป็นเอ็นจีวี โดยตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 จะเริ่มทยอยปรับราคาขายปลีกเดือนละ 0.75 บาทต่อกิโลกรัมหรือ 0.41 บาทต่อลิตร จำนวน 12 ครั้ง ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้การใช้ก๊าซแอลพีจีในภาคขนส่งลดลง หรืออย่างน้อยไม่ขยายตัวมากเช่นในปัจจุบัน แม้ว่าราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวจะอยู่ในระดับต่ำกว่าราคาน้ำมันก็ตาม เนื่องจากการเปลี่ยนไปใช้ก๊าซแอลพีจีมีต้นทุนในการติดตั้ง อย่างไรก็ดี หากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก ก็อาจทำให้การใช้ในภาคขนส่งยังคงขยายตัวต่อไปอีก
++เอ็นจีวียังเป็นพระเอก
สำหรับการใช้ก๊าซเอ็นจีวีในปี 2555 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าปีนี้ จากที่มีการใช้อยู่ประมาณ 6,400 ตันต่อเดือน ทั้งนี้เป็นผลจากนโยบายรัฐบาลในการปรับเพิ่มราคาก๊าซแอลพีจีภาคขนส่ง เป็น 30 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่เอ็นจีวี ปรับเพิ่มขึ้นจาก 8.50 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 16.00 บาทต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ยังมีแผนที่จะขยายสถานีบริการเพิ่มขึ้นเป็น 502 แห่งจากปี 2554 ที่มีเพียง 470 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยราคาน้ำมันยังคงเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งในการกำหนดทิศทางเอ็นจีวี เพราะหากราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงมาก การใช้เอ็นจีวีก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจนกว่าจะมีเชื้อเพลิงอื่นเข้ามาทดแทน ในทางตรงกันข้าม หากราคาน้ำมันปรับลดลงจนอยู่ในระดับที่ไม่ดึงดูดให้ภาคขนส่งใช้เอ็นจีวีก็จะ ส่งผลให้การใช้เอ็นจีวีไม่ขยายตัวอีกต่อไป
ดังนั้น ทิศทางพลังงานในปี 2555 จากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่ออกมา ประชาชนจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะต้องจ่ายค่าพลังงานที่สูงมากขึ้น ยกเว้นเสียแต่ว่าหลังปีใหม่มาแล้ว การต่อรองของกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งจะสามารถยับยั้งการปรับขึ้นราคาพลังงาน ของรัฐบาลได้ ซึ่งก็จะช่วยแบ่งเบาภาระของผู้บริโภคได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่แนวโน้มของการใช้พลังงานนั้น หากประชาชนไม่ตระหนักถึงการประหยัด ก็จะส่งผลให้ประเทศต้องนำเข้าพลังงานในแต่ละปีสูงขึ้นไป
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,701 1-4 มกราคม พ.ศ. 2555