พบหลักฐานใหม่แปรรูปเอื้อพวกพ้อง รุกทวงคืน ปตท.!

นับ เป็นเวลากว่า 3 ปี ที่ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์” พยายามสืบค้น และรวบรวมข้อมูล จนปรากฏหลักฐานชี้ชัดว่า “การแปรรูป” ปตท. ด้วยข้ออ้างว่า ต้องการล้างหนี้ค่าเงินให้หมดไป และเพิ่มอำนาจในการแข่งขัน


ได้ทำให้ “รัฐ” ต้องสูญเสียผลประโยชน์นับ “ล้านล้านบาท”

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อปรากฏกลุ่มผลประโยชน์ร่วมขบวนการ “ปล้นชาติ” ผ่านการแปรรูป โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ในฐานะ “ข้าราชการ” และนักการเมือง ใช้เล่ห์กระเท่ วางแผน “แปลง”ทั้งนโยบายและกฎหมาย เพื่อสูบส่วนต่างรายได้ให้มาตกอยู่ในมือพรรคพวกตัวเอง ไม่กี่กลุ่ม ไม่กี่คน

ทิ้งให้ประชาชนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ต้องมารับกรรม!

จนถึงบัดนี้...พวกคุณเคยสงสัยกันบ้างไหมว่า ไม่ว่า “ค่าเงินบาท” จะแข็งหรืออ่อน แต่ราคาน้ำมันในบ้านเราก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง?

แล้วพวกคุณเคยสงสัยกันอีกไหมว่า ในขณะที่ราคาน้ำมันทั่วโลกแพงหูฉี่ จนรัฐบาลต้องเอาเงินกองทุนน้ำมันมาโปะ แต่ ปตท.กับรวยเอาๆ

และอื่นๆ ฯลฯ …....

“ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์” ฉบับนี้ จะขันอาสาตอบข้อสงสัยนี้ พร้อมกับเปิดโปง “วงจรอุบาทว์” ของ “เหลือบ” ตัวอ้วน ที่เกาะกิน บมจ.ปตท.จนพุงกาง ผ่านคำฟ้องร้องของ “มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน” ที่มีไปถึง “ศาลปกครองกลาง” โดยมีจำเลยสำคัญคือ ปตท. และกระทรวงการคลัง

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ประชาชนคนไทยต้องลุกขึ้นทวงคืนสมบัติของชาติกลับคืนมา!

ตีแผ่ “แผน” โคตรโกง

ปรากฏการณ์ “โคตรโกง” นี้ อุบัติขึ้นนับตั้งแต่ “การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย” ซึ่งได้รับ “อภิสิทธิ์” ในการดำเนินธุรกิจเหนือกว่าบริษัทค้าน้ำมันรายอื่นๆ ในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ตัดสินใจแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2544 โดยแปลงทุนทั้งหมดเป็นหุ้น และเปลี่ยนชื่อเป็น “บมจ.ปตท.”

หนึ่งในทีมผู้ฟ้องร้องในคดีนี้เล่าว่า เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2544 เวลากลางวัน ได้มีบุคคลบางกลุ่ม ประกอบด้วยข้าราชการในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ บุคคลใน ครม.ขณะนั้น ผู้ว่าการ และพนักงานของ ปตท.บางคน ต้องการที่จะแย่งชิงทรัพย์ของ ปตท.มาเป็นของตนและพรรคพวก

เริ่มจากอ้างความจำเป็นในการแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ของการ ปิโตรเลียมฯ เพื่อต้องการเงินทุนมาชำระหนี้โดยกระทรวงการคลังไม่ต้องค้ำประกัน และเป็นเครื่องมือในการแทรกแซงราคาน้ำมัน รวมถึงช่วยลดภาระหนี้ของรัฐบาล

นอกจากนี้ บุคคลดังกล่าวข้างต้นยังได้เข้าแย่งชิงหุ้นจำนวนหนึ่งของหุ้น 49% จากการแปรรูปของ ปตท.ไปเป็นของตนและพรรคพวก โดยการตั้งคณะกรรมการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเข้าดำเนินการแปร รูปการปิโตรเลียมฯ เพื่อนำหุ้นจำนวน 49% ออกขายทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“ข้ออ้างข้างต้นปราศจากเหตุผลโดยชอบ เพราะการปิโตเลียมฯ ขณะนั้นยังมีฐานะทางการเงินและสภาพคล่องอย่างเพียงพอ โดยมีกำไรในปี 2544 กว่า 2 หมื่นล้านบาท จึงไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน ที่สำคัญการระดมเงินในตลาดทุนอาจทำได้โดยวิธีการอื่น เช่น การออกหุ้นกู้ หรือพันธบัตรที่รัฐบาลไม่ค้ำประกันโดยไม่จำเป็นต้องขายหุ้นสามัญ เพราะสินทรัพย์ของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ยังมีมากเพียงพอที่จะค้ำประกันหุ้นกู้ และพันธบัตรของตนเองได้”

เขากล่าวต่อว่า อีกประการหนึ่งการปิโตเลียมฯในฐานะเจ้าตลาด การเข้าแทรกแซงราคาน้ำมันก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงิน เพราะเพียงประกาศตรึงราคา บริษัทน้ำมันต่างชาติก็จะไม่กล้าปรับราคาให้สูงขึ้นกว่าราคาที่ประกาศตรึง ไว้มากนัก และราคาที่ตรึงไว้ก็ยังเป็นราคาที่สามารถทำกำไรตามการค้าปรกติได้ อีกทั้งในกรณีที่รัฐมีความจำเป็นต้องใช้เงินแทรกแซงราคาน้ำมัน รัฐก็มีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทำหน้าที่ดังกล่าวตั้งแต่ 27 มี.ค. 2522 แล้ว

แหล่งข่าวรายเดิมเปิดเผยว่า วิธีการต่อมาคือ จัดให้มีการประเมินราคาสินทรัพย์ของการปิโตรเลียมฯ ด้วยการตีราคาท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์เพื่อนำมาหาราคาตลาดของหุ้นสามัญ ในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งก่อนหน้านี้ การปิโตรเลียมฯได้ประเมินมูลค่าทางบัญชี การแปรรูปท่อส่งก๊าซและอุปกรณ์เพียง 46,189.22 ล้านบาท และประมาณอายุการใช้งานไว้เพียง 25 ปี ขณะที่อายุจริงอยู่ที่ 50 ปี

เพราะหลังการแปรรูปเพียง 9 ปี ปตท.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาได้แก่ บริษัท General Electric International Operation Company (GEIOC) และบริษัท Shell Global Solution Thailand (SGST) ทั้ง 2 บริษัท ประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Economic Value) ของท่อส่งก๊าซเดิมนี้

พบว่าสามารถใช้งานได้ยาวนานกว่าที่ประเมินไว้ตอนแปรรูปเพิ่มขึ้นอีก 25 ปี รวมเป็น 50 ปี โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 105,000-120,000 ล้านบาท ดังนั้น การประเมินมีอายุใช้งานน้อยลง 25 ปี มีผลให้การตีราคาท่อก๊าซเหลือเพียง 46,189.22 ล้านบาท ดังนั้น การแปรรูปจึงเป็นเหตุให้ ปตท.ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของรัฐและประชาชน เป็นมูลค่า 105,000-120,000 ล้านบาท

แถมก่อนหน้านี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ฟ้องขอให้ ปตท.ส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่รัฐตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ประเมินมูลค่าระบบท่อส่งก๊าซเพื่อเรียกคืนใน ราคา 52,393.50 ล้านบาท ทว่า ปตท.ได้ส่งคืนตามคำพิพากษาเพียง 16,176.22 ล้านบาท ยังขาดอีก 36,217.28 ล้านบาท

นอกจากนี้ พวกเขายังได้ตีราคาโรงกลั่นน้ำมันต่ำกว่าราคาจริง โดยอ้างเพียงราคาทางบัญชี (Book Value) ซึ่งมิใช่ราคาตลาด หรือมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Economic Value) ที่แท้จริงของโรงกลั่น เช่น โรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ 1 โรง ใช้เงินลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท หักค่าเสื่อมทางบัญชีปีละ 10% ครบสิบปี มูลค่าทางบัญชีจะเหลือเพียง 1 บาท แต่โรงกลั่นนี้ยังสามารถดำเนินการได้อีกไม่น้อยกว่า 15 ปี นอกจากเงินลงทุนจำนวนมากในการก่อสร้างแล้ว ธุรกิจการกลั่นน้ำมัน จะต้องมีใบอนุญาตจากรัฐบาลและต้องผ่านกฎหมายควบคุมสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ราคาทางบัญชี 1 บาท จึงไม่ใช่ราคาซื้อขายที่แท้จริง

“ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้หุ้นของ ปตท.มีราคาเปิดจองเพียง 31-35 บาทต่อหุ้น ทั้งๆ ที่ราคาตามสินทรัพย์ที่แท้จริงสูงมาก ซึ่งสะท้อนไปในราคาหุ้นของ ปตท.ในปัจจุบัน”

4 กลุ่มผลประโยชน์
งาบหุ้น ปตท.

ที่น่าตระหนกจากการเปิดเผยของแหล่งข่าวรายนี้ เมื่อเขาบอกว่ามี 4 กลุ่มผลประโยชน์ที่ใช้สารพัดวิธีการ เพื่อให้ได้มาซึ่งการถือหุ้น ปตท.ในราคาที่ต่ำกว่าพาร์

กลุ่มแรกคือ “ผู้มีอุปการคุณ” วิธีการก็คือ กำหนดให้บุคคลบางกลุ่มที่คณะกรรมการของปตท.เห็นชอบ ให้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ ปตท.จำนวน 25 ล้านหุ้นได้ในราคาพาร์ (10 บาทต่อหุ้น) ซึ่งต่ำกว่าราคาเปิดจองและต่ำกว่าราคาสินทรัพย์ต่อหุ้นที่แท้จริงของ ปตท.โดยอ้างสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่า “ผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัดสามารถให้หุ้นอุปการคุณในราคาพาร์ได้”

“ความจริงแล้วคณะกรรมการของ ปตท. หรือคณะรัฐมนตรีไม่มีสิทธิกระทำเช่นว่านั้นได้ เพราะผู้ถือหุ้นที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินของบริษัทส่วนตัวชอบที่จะขายใครใน ราคาเท่าใดก็ได้ แต่คณะกรรมการของ ปตท. และคณะรัฐมนตรีมิใช่เจ้าของบริษัท ปตท. จึงไม่มีอำนาจที่จะขายหุ้นซึ่งไม่ใช่ของตนให้แก่ผู้ใดในราคาตามใจชอบได้ ที่สำคัญ ปตท.ก็ไม่ยอมเปิดเผยว่าผู้ใดได้หุ้นอุปการคุณไปจำนวนเท่าใด และบรรดาผู้ได้หุ้นอุปการคุณไปนั้นได้มีอุปการคุณอย่างใดต่อ ปตท.” แหล่งข่าวที่คลุกคลีอยู่ในวงการน้ำมันแสดงความเห็น

กลุ่มที่สอง คือ “นักลงทุนต่างชาติหัวดำ” ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า หุ้นเพิ่มทุนจำนวน 750 ล้านหุ้นและหุ้นเดิมของกระทรวงการคลังอีก 50 ล้านหุ้น รวม 800 ล้านหุ้น คณะกรรมการแปรรูปฯกำหนดให้ขายแก่นักลงทุนรายย่อยเพียง 220 ล้านหุ้นเท่านั้น และยังขายในราคาพาร์ให้แก่ผู้มีอุปการคุณ 25 ล้านหุ้น ขายให้แก่นักลงทุนประเภทสถาบันไทยจำนวน 235 ล้านหุ้น และขายให้นิติบุคคลต่างประเทศจำนวน 320 ล้านหุ้น

“การกำหนดไว้ก่อนเช่นนี้ ก็เพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กับพวกพ้องของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขายให้นิติบุคคลต่างประเทศจำนวนมากถึง 320 ล้านหุ้นนี้ เป็นช่องทางสำคัญในการทุจริต เนื่องจากอยู่นอกเหนือกลไกการตรวจและอยู่ในรูปของการถือหุ้นในฐานะนอมินีแทบ ทั้งสิ้น ดังนั้น เราจึงไม่รู้ว่าเป็นนักลงทุนต่างชาติผมสีดำหรือผมสีทองกันแน่”

ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นที่เป็นนิติบุคคลต่างประเทศเหล่านี้เกือบทั้งหมดเป็นทรัสต์ที่ ดูแลทรัพย์สินของผู้อื่น จึงมีบุคคลในรัฐบาลบางคนได้มีผลประโยชน์ทับซ้อน เข้าไปทำสัญญาจัดตั้งกองทุนส่วนบุคคลเข้ามาซื้อหุ้นของ ปตท. โดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปรามปราบการทุจริตแห่งชาติ) และหลีกเลี่ยงการตรวจสอบโดยเจ้าพนักงานของรัฐบาลไทย

กลุ่มที่สาม “สถาบันร่างทรง” ด้วยการผ่านผู้จัดการ หรือผู้รับประกัน ทำได้โดยในขณะที่ขายหุ้นให้นักลงทุนประเภทสถาบันไทยจำนวน 235 ล้านหุ้น จะมีการกำหนดให้ผู้จัดการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายเป็นผู้คัด เลือกนักลงทุน โดยไม่แถลงวิธีการคัดเลือกและประกาศให้สาธารณชนรู้ ก็เพื่อให้พรรคพวกของตัวเองได้ครอบงำหุ้น ผ่านสถาบันการเงินที่เป็นนิติบุคคลในประเทศได้อีกทางหนึ่ง

กลุ่มที่สี่ “ผู้จองซื้อรายย่อยตัวปลอม” ต่อเรื่องนี้ ผู้ซื้อหุ้นรายย่อยคนหนึ่งเปิดเผยว่า บรรดาพรรคพวกของกลุ่มดังกล่าวได้เข้าแย่งชิงสิทธิการจองโดยเท่าเทียมกันของ ผู้จองซื้อรายย่อยจำนวน 220 ล้านหุ้น โดยเข้าจองซื้อก่อนเวลารับจอง (09.30 น.) จำนวน 863 ราย โดยไม่ทราบจำนวนหุ้น เพราะ ปตท. และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้ร่วมกันช่วยเหลือบุคคลที่ เข้าแย่งชิงหุ้นเหล่านี้ ด้วยการปิดบัง ซ่อนเร้นข้อมูล

แหล่งข่าวที่ได้รับความเสียหายการจากแปรรูปอีกรายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า นอกจากยังมีการแก้ไขเพื่อเอื้อในการแต่งตั้งข้าราชการของกลุ่มตัวเองให้เข้า ไปนั่ง ปตท.และบริษัทในเครือได้ กฎหมายดังเช่น การแก้ไขพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ฉบับที่ 5 เพื่อให้ข้าราชการผู้เป็นกรรมการของรัฐวิสาหกิจของ ปตท.สามารถเข้าไปเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทเอกชน ที่รัฐวิสาหกิจถือหุ้นได้ และฉบับที่ 6 พ.ศ. 2550เพื่อให้ข้าราชการเข้าไปเป็นประธานกรรมการ กรรมการ หรือผู้บริหารในนิติบุคคลที่เป็นผู้รับสัมปทาน ผู้ร่วมทุน หรือมีประโยชน์ได้เสียกับรัฐวิสาหกิจ

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้แต่งตั้งให้ “มนู เลียวไพโรจน์” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลพลังงานของประเทศในขณะนั้น (ปี 2544) เข้าไปเป็นกรรมการบริษัทปตท.และบริษัทในเครือ ส่งผลให้ข้าราชการที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบายพลังงานเข้าไปเป็นกรรมการ และรับผลประโยชน์ตอบแทนในรูปเบี้ยประชุม โบนัสและผลตอบแทนอื่นที่มิใช่ตัวเงินเป็นจำนวนมากจากบริษัทเอกชน ซึ่งขัดกับหลักธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง

ถึงแม้ภายหลังในปี 2550 จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อให้การกำกับธุรกิจพลังงานมีความเป็นอิสระ และป้องกันการใช้อำนาจผูกขาด แต่ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะปรากฏว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าว ก็ยังปฏิบัติงานเอนเอียง และเอื้อประโยชน์ให้กับ ปตท.อยู่เหมือนเดิม

จับตากลไกตลาดเทียม

แทบไม่น่าเชื่อว่าจากข้อมูลชุดเดียวกันนี้ ทำให้เราพบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้รถยนต์เมืองไทยยังคงจ่ายราคาน้ำมันแพงกว่าความ เป็นจริง ไม่ว่าจะราคาน้ำมันในตลาดโลกจะลดลง หรือค่าเงินบาทจะแข็งขึ้นก็ตาม

นั่นก็คือ การสร้างกลไกตลาดเทียมขึ้นมา

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ในการคำนวณราคาน้ำมัน ปตท.ได้ร่วมมือกับข้าราชการในกระทรวงพลังงานที่เป็นพรรคพวก โดยอ้างอิงราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์บวกค่าโสหุ้ยในการส่งน้ำมันสำเร็จรูป ค่าสูญเสียระหว่างการขนส่ง ค่าปรับปรุงคุณภาพจากมาตรฐานสิงคโปร์มาเป็นมาตรฐานไทย และค่าประกันภัยการขนส่งจากสิงคโปร์มาประเทศไทยซึ่งเป็นต้นทุนที่ไม่ได้เกิด ขึ้นจริง

เพราะโรงกลั่นน้ำมันตั้งอยู่ในประเทศไทยและการผลิตก็เป็นไปตาม มาตรฐานของไทยอยู่แล้ว อีกทั้งประเทศไทยก็มิได้พึ่งวัตถุดิบจากต่างประเทศทั้งหมด เพราะก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบส่วนหนึ่งผลิตได้ในประเทศ ทำให้ต้นทุนการผลิตที่แท้จริงถูกกว่าราคาการนำเข้าทั้งหมด

“การอ้างอิงราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์ ทำให้ประชาชนผู้บริโภคต้องรับภาระราคาน้ำมันสูงกว่าปรกติถึงลิตรละ 2 บาท ประชาชนไทยใช้น้ำมันประมาณปีละ 40,000 ล้านลิตร ดังนั้นปตท.จึงได้กำไรส่วนเกินจากการสร้างกลไกตลาดเทียมถึงปีละ 80,000 ล้านบาท เงินจำนวนนี้นำไปแบ่งให้กับผู้ถือหุ้นของปตท.และนำไปปั่นราคาในตลาดหุ้น การกระทำเช่นนี้ถือได้ว่าข้าราชการในกระทรวงพลังงานได้ร่วมกับ ปตท.ฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างแท้จริง”

ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังนำเงินจากกองทุนน้ำมันมาอุดหนุนราคาค่าเชื้อเพลิงให้กับอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีซึ่งเป็นกิจการในเครือ เป็นเหตุให้ประเทศไทยต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจีปีละกว่า 400,000 ตัน โดยอ้างว่าก๊าซแอลพีจีที่ผลิตได้ในประเทศมีปริมาณเพียงพอต่อการใช้ของภาค ประชาชนทั้งภาคครัวเรือนและยานยนต์

แต่ไม่เคยกล่าวถึงธุรกิจในเครืออย่างปิโตรเคมีที่มีสัดส่วนการใช้ ก๊าซแอลพีจีสูงสุด ผลก็คือ ผู้ที่ใช้รถยนต์ต้องจ่ายค่าน้ำมันแพงกว่าความเป็นจริงแม้ว่าค่าของเงินบาทจะ แข็งขึ้นก็ตาม และที่รัฐยอมให้ผู้ค้าน้ำมันกระทำการดังกล่าวได้ เพราะข้าราชการที่กำกับดูแลนโยบายพลังงานมีผลประโยชน์ทับซ้อนในกิจการของ ปตท.นั่นเอง

นอกจากนี้ แหล่งข่าวยังบอกว่า กลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้ยังบิดเบือนข้อมูลทรัพยากรพลังงานของประเทศ ซึ่งจากการศึกษาของคณะกรรมการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธร รมาภิบาล วุฒิสภา พบว่าประเทศไทยมีอัตรารายได้จากทรัพยากรปิโตรเลียมในอัตราต่ำที่สุดในเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียมและภาษีปิโตรเลียมรวมร้อยละ 28.83 เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำมาก

กรมธุรกิจพลังงานอ้างว่า ประเทศไทยมีพลังงานน้อยขุดเจาะยาก ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าตรงข้ามกับความเป็นจริง เนื่องจากประเทศไทยมีปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติต่อวันสูงกว่า อีกหลายประเทศ โดยประเทศเหล่านั้นมีการเก็บอัตรารายได้จากทรัพยากรปิโตรเลียมที่สูงกว่า อีกทั้งแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยก็อยู่ในเขตน้ำตื้น (Shallow Water) จึงมีต้นทุนการขุดเจาะที่ต่ำกว่า

ขณะที่ประเทศอื่นอาจต้องขุดเจาะในเขตน้ำลึก (Deep Water) การจัดเก็บค่าภาคหลวงในอัตราต่ำทำให้ทรัพยากรของชาติและของประชาชนตกไปอยู่ ในมือของบริษัทน้ำมันรวมทั้ง ปตท.ด้วย โดยประเทศชาติไม่ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม เนื่องจากมีข้าราชการที่กำกับดูแลนโยบายพลังงานมีผลประโยชน์ทับซ้อนในกิจการ ของ ปตท.

แค่ 2543-2550 สูญเสีย 2 แสนล.
เข้ากระเป๋าคนโกงชาติ

การแปรรูป ปตท.ดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ล้วนตามมาด้วยข้อครหาเรื่องความไม่โปร่งใส

เริ่มจากการประเมินราคาสินทรัพย์ เพื่อนำมาหาราคาตลาดของหุ้นสามัญ เป็นราคาต่ำกว่าความเป็นจริง โดยตีราคาท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ ที่รัฐลงทุนสร้างจากเงินภาษีอากรของประชาชนไทยทั้งประเทศ รวมทั้งค้ำประกันเงินกู้ จนสร้างเสร็จ บนความเสี่ยงของรัฐและประชาชนไทยว่า การลงทุนจะคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่

ก่อนแปรรูปประเมินมูลค่าทางบัญชี (Book Value) ท่อส่งก๊าซและอุปกรณ์เพียง 46,189.22 ล้านบาท รวมทั้งประมาณอายุการใช้งานไว้เพียง 25 ปี

ข้อเท็จจริง ปรากฏในช่วง 9 ปีต่อมา เมื่อ ปตท.ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา General Electric International Operation Company (GEIOC) และ Shell Global Solution Thailand (SGST) ทั้ง 2 แห่ง ประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Economic Value) ของท่อส่งก๊าซเดิม พบว่าสามารถใช้งานได้ยาวนานกว่าที่ประเมินไว้ตอนแปรรูปเพิ่มขึ้นอีก 25 ปี รวมเป็น 50 ปี

ประเด็นสำคัญคือ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 105,000-120,000 ล้านบาท

กรณีนี้มีตัวอย่าง เช่น บริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (RRC) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ปตท.ขณะทำการแปรรูปในปี 2544 บริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด มีมูลค่าทางบัญชีเป็นศูนย์

แต่เมื่อนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 กลับมีมูลค่าตลาดสูงกว่า 50,000 ล้านบาท เพราะคิดจากมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Economic Value) ของโรงกลั่นที่กลั่นน้ำมันได้ทันที

ท่อส่งก๊าซและอุปกรณ์ดังกล่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเคยทำการฟ้องขอให้ ปตท.ส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่รัฐตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550

โดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินประเมินมูลค่าระบบท่อส่งก๊าซเพื่อเรียก คืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ราคา 52,393.50 ล้านบาท ปตท.ส่งคืนตามคำพิพากษาเพียง 16,176.22 ล้านบาท ยังขาดอีก 36,217.28 ล้านบาท โดยเป็นราคาของท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกและในทะเลมูลค่า 32,613.45 ล้านบาท และทรัพย์สินอื่นอีก 3,603.83 ล้านบาท

การตีราคาค่าสิทธิค่าสัมปทานและมูลค่าทรัพย์สินต่างๆ ที่ต่ำกว่าความเป็นจริง และส่งผลทำให้หุ้นของ ปตท. มีราคาเปิดจองเพียง 31-35 บาทต่อหุ้น ทั้งๆ ที่ราคาตามสินทรัพย์แท้จริงสูงมาก

ตัวเลขความเสียหายที่เกิดจากการแปรรูปเรื่องต่อมา คือ การประเมินค่าเช่าใช้ท่อส่งก๊าซและอุปกรณ์ของ ปตท. ระหว่างปี พ.ศ. 2544-2551 เป็นเงิน 1,300 ล้านบาท

เป็นค่าเช่าใช้ที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะ ปตท.ได้ใช้ท่อส่งก๊าซและอุปกรณ์นำมาเรียกเก็บค่าใช้ท่อส่งก๊าซไปจากประชาชน ผู้ใช้ก๊าซไปแล้วเป็นเงิน 137,176 ล้านบาท

ยิ่งกว่านั้น ปตท.ยังดำเนินการทบทวนหลักเกณฑ์การกำหนดราคาก๊าซและอัตราค่าบริการส่งก๊าซ ธรรมชาติใหม่ ทั้งที่ไม่ได้ลงทุนเพิ่มแต่อย่างใด มีผลให้มีรายได้จากการคิดค่าบริการขนส่งก๊าซผ่านท่อเพิ่มขึ้นจาก 20,000 เป็นกว่า 22,000 ล้านบาทต่อปี โดยค่าบริการที่เพิ่มขึ้นนี้ประชาชนผู้ใช้ก๊าซเป็นผู้จ่าย

นอกจากนี้ ขณะที่ ปตท.เป็นผู้ค้าก๊าซเอ็นจีวีแต่ผู้เดียวในประเทศไทย ยังผูกขาดกำหนดราคารับซื้อก๊าซธรรมชาติที่ปากหลุมในประเทศ ในราคาต่ำกว่าราคาตลาดโลก 40-60% นำมาขายแก่ผู้บริโภคไทย แต่ต้องการขายผลิตภัณฑ์จากก๊าซธรรมชาติทุกชนิด ให้ได้ในราคาตลาดโลก

เมื่อรัฐยังไม่อนุมัติให้ขึ้นราคาขายตามราคาตลาดโลกได้ ปตท.ก็ขอเงินชดเชยจากเงินกองทุนน้ำมัน ซึ่งเป็นการใช้เงินกองทุนน้ำมันผิดวัตถุประสงค์

นอกจากนั้น ประชาชนยังต้องใช้น้ำมันราคาสูงกว่าปรกติด้วย เพราะตั้งแต่ต้นปี 2553 เป็นต้นมา อัตราค่าเงินบาทแข็งตัว มีผลทำให้ราคาสินค้าต่างๆ ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศมีราคาถูกลง

ราคาซื้อน้ำมันดิบของโรงกลั่นก็ถูกลงด้วยเฉลี่ย 4.84% ราคาน้ำมันสำเร็จรูปจึงควรที่จะปรับราคาลดลงในอัตราใกล้เคียงกันด้วย

เรื่องสุดท้าย จากการศึกษาของคณะกรรมการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิ บาล วุฒิสภา พบว่าประเทศไทยมีอัตรารายได้จากทรัพยากรปิโตรเลียมในอัตราต่ำที่สุดในเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียมและภาษีปิโตรเลียมรวม 28.83% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำมาก

กรมธุรกิจพลังงานได้อ้างว่า ประเทศไทยมีพลังงานน้อยขุดเจาะยาก ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าตรงข้ามกับความเป็นจริง เนื่องจากประเทศไทยมีปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติต่อวันสูงกว่า อีกหลายประเทศ โดยประเทศเหล่านั้นมีการเก็บอัตรารายได้จากทรัพยากรปิโตรเลียมที่สูงกว่า อีกทั้งแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยก็อยู่ในเขตน้ำตื้น (Shallow Water) จึงมีต้นทุนการขุดเจาะที่ต่ำกว่า

ขณะที่ประเทศอื่นอาจต้องขุดเจาะในเขตน้ำลึก (Deep Water) การจัดเก็บค่าภาคหลวงในอัตราต่ำ ทำให้ทรัพยากรของชาติและของประชาชนตกไปอยู่ในมือของบริษัทน้ำมันรวมทั้งป ตท. ด้วย โดยประเทศชาติไม่ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม

อนึ่ง กำไรที่ ปตท.ทำได้ระหว่างปี 2543-2550 มีมูลค่า 454,299 ล้านบาท

ส่วนนี้ จำนวน 216,384.49 ล้านบาท ตกเป็นของผู้ถือหุ้นที่มิใช่รัฐ กล่าวได้ว่า เป็นการแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์สินของชาติและประชาชนโดยมิชอบ

ขณะที่ ปตท.ได้รับเงินจากการขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 750 ล้านหุ้น เป็นเงิน 26,252 ล้านบาท

และกระทรวงการคลังได้รับเงินจากการขายหุ้นสามัญเดิมจำนวน 50 ล้านหุ้น เป็นเงิน 1,750 ล้านบาท เท่านั้น

แฉหลักฐานเด็ดมัดปตท.
หมกเม็ดสมบัติชาติ

เปิดหลักฐาน 4 หน่วยงาน ศาลปกครอง-วุฒิสภา-สตง.และกตล. พร้อมใจฟันธงแปรรูปปตท.ไม่โปร่งใส พบ พิพิรุธให้เห็นตั้งแต่ก่อนและหลังการเข้าตลาดหลักทรัพย์ ทั้งการจัดสรรหุ้น ผู้ได้รับหุ้น และที่สำคัญการส่งคืนทรัพย์สินและอุปกรณ์ให้แก่คลังยังไม่ครบ ตามที่สตง.ทวงถาม ผู้บริหารเอาสีข้างถู อ้างคืนแล้วทั้งหมด

กลต.ติงจองหุ้นผิดปกติ

จากบทสรุปของผลการตรวจสอบของ ก.ล.ต. หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในรายงานการตรวจสอบเกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นของบริษัท ปตท.จำกัด ( มหาชน) ต่อผู้จองซื้อรายย่อย ระบุอย่างชัดเจนว่า รายการจองซื้อบางรายการอาจเข้าข่ายมีความผิดปกติ สาเหตุสำคัญเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงการรับจองซื้อหุ้นของธนาคารไทย พาณิชย์ ทำให้สิทธิของผู้จองซื้อหุ้นที่ได้รับการจัดสรรหุ้นไม่เท่าเทียมกัน เป็นผลให้การรับจองซื้อหุ้นที่ไม่เป็นไปตามเจตนาของหนังสือชี้ชวน ทั้งนี้ ก.ล.ต.ยังได้สรุปบทเรียนครั้งนี้ว่า

ประการแรก มีการประเมินความต้องการจองซื้อหุ้นต่ำกว่าความเป็นจริงและการเลือกรูปแบบ จัดสรรหุ้นให้แก่ผู้จองซื้อรายย่อยตามหลักการ ผู้จองซื้อก่อน จ่ายเงินก่อน มีสิทธิได้รับจัดสรรก่อน (First Come Fist Serve ) และแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายหุ้นเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ถึง 5 ธนาคาร วิธีการดังกล่าวไม่เหมาะสม เพราะทำให้เกิดปัญหาตามว่า ไม่ว่าจะเป็นความไม่สมดุลของจำนวนที่เสนอขาย กับความต้องการจองซื้อหุ้นจากผู้ลงทุนเป็นจำนวนมาก จึงมีความเป็นได้สูงว่า ผู้ลงทุนที่เป็นรายแรก หรือคิวที่ 1 ของบางTerminal อาจไม่สามารถจองซื้อหุ้นได้

ประการที่สอง ความเหมาะสมของการเลือกรูปแบบจัดสรรแบบ First Come First Serve จากความไม่สมดุลของจำนวนหุ้นและนักลงทุนที่ต้องการจองหุ้น ซึ่งทำให้นักลงทุนรายแรกของบาง Terminal อาจไม่สามารถจองหุ้นได้ และการจองซื้อสิ้นสุดลงภายในระยะเวลาอันสั้น อาจทำให้ผู้จองซื้อไม่เชื่อมั่นในวิธีการจัดสรรแบบดังกล่าวว่า ผู้จองซื้อทุกรายได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม

ประการที่สาม ความได้เปรียบเสียเปรียบจากการมีตัวแทนจำหน่ายหุ้นหลายราย ตามปกติ การมีตัวแทนจำหน่ายหุ้นหลายรายที่มีประสิทธิภาพของระบบคอมพิวเตอร์แตกต่าง กันไม่น่าจะมีผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบของการจัดสรรมากนัก แต่ในกรณีที่มีความต้องการจองซื้อหุ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้การจองซื้อสิ้นสุดลงภายในไม่กี่นาที ความแตกต่างด้านประสิทธิภาพของระบบคอมพิวเตอร์และความได้เปรียบในเรื่องการ เชื่อมต่อของระบบเครือข่ายของตัวแทนจำหน่ายหุ้นแต่ละรายกลายเป็นปัจจัยสำคัญ ต่อผลการได้รับการจัดสรรหุ้น

สตง.ชี้ชัดปตท.
ส่งคืนทรัพย์แผ่นดินไม่ครบ

ไม่เพียง ก.ล.ต.เท่านั้น ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 ให้ ปตท.ส่งคืนท่อก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ให้แก่รัฐ โดยมีหน่วยงานตัวแทน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เข้ารประเมินมูลค่าระบบท่อส่งก๊าซ เพื่อเรียกคืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ราคา 52, 393ล้านบาท แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ปตท.ส่งคืนท่อก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ไม่ครบ ตามคำพิพากษาเพียง 16,176 ล้านบาท ยังขาดอีก 36, 217 ล้านบาท โดยเป็นราคาของท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกและในทะเลมูลค่า 32,613 ล้านบาท และทรัพย์สินอื่นอีก 3,603 ล้านบาท ข้อเท็จจริงดังกล่าวถูกระบุในรายงานของผู้สอบบัญชี บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เรื่องการตรวจสอบรับรองความถูกต้องมูลค่าทรัพย์สินที่บริษัทแบ่งแยกให้ กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด

ทั้งนี้ ในรายงานดังกล่าว ได้สรุปผลการตรวจสอบว่า ปตท.แบ่งแยกทรัพย์สินให้กระทรวงการคลังจำนวน 16,176 ล้านบาทนั้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 32.19 เปอร์เซ็นต์ เป็นเพียงทรัพย์สินในส่วนเฉพาะธุรกิจก๊าซเท่านั้น ดังนั้นคงเหลือทรัพย์สิทธิสุทธิของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ ปตท.ไม่ได้แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังอีก 34,078 ล้านบาท

ส่วนทรัพย์สินของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และส่วนกลาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจก๊าซ คิดเป็นมูลค่าสุทธิ 3,399 ล้านบาทที่ ปตท.ไม่ได้แบ่งแยกเพื่อส่งคืนกระทรวงการคลังเช่นกัน

ไม่เพียงเท่านี้ ปตท.ยังส่งคืนไม่ครบในส่วนระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกของโครงการดังปรากฎใน คำพิพากษา ปตท.แบ่งแยกและส่งคืนเพียงบางส่วนเท่านั้น หรือคิดเป็นเพียงอัตราร้อยละ 55.42 และส่วนระบบท่อส่งก๊าซในทะเล ปตท.ไม่ได้ส่งคืนให้ทั้งจำนวน ทั้งนี้ จากข้อมูลมูลค่าทรัพย์สินของ ปตท.เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2544 ประเภทเครื่องจักรและอุปกรณ์ของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จำนวน 47,664 ล้านบาท

ในจำนวนนี้มีทรัพย์สินของระบบท่อก๊าซ ธรรมชาติที่ปรากฎชื่อในคำพิพากษา ได้แก่ โครงการท่อบางปะกง-วังน้อย ( โครงการท่อคู่ขนาน) โครงการท่อชายแดนไทยและพม่า-ราชบุรี และโครงการท่อราชบุรี-วังน้อย ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่เป็นระบบท่อก๊าซธรรมชาติ บนบก มูลค่าสุทธิจำนวน 26,720 ล้านบาท และระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเล มูลค่าสุทธิจำนวน 9,922 ล้านบาท รวมมูลค่าสุทธิระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ปรากฎโครงการในคำพิพากษาจำนวน 36,642 ล้านบาท

ในส่วนการแบ่งแยกระบบท่อส่งก๊าซ ธรรมชาติทางบก ปตท. ใช้หลักเกณฑ์การแบ่งแยกตามอัตราส่วนร้อยละ (Portion) ของความยาวท่อก๊าซธรรมชาติเฉพาะแนวทางท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ผ่านที่ดิน 2 ประเภท คือ ที่ดินเวนคืนและที่ดินที่เกิดจากการรอนสิทธิเท่านั้น ส่วนระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ผ่านที่ดินประเภทอื่น คือ ที่ดินประเภทจัดซื้อและประเภทขอใช้ที่ดิน โดยปตท.ไม่ได้นำมูลค่าระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติมาคำนวนสัดส่วน เพื่อส่งคืนกระทรวงการคลัง มีผลให้ปตท.แบ่งแยกระบบท่อส่งก๊าซฯบนบกเพียงบางส่วนเท่านั้นนั่นเอง

ส่วนระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลของ โครงการดังปรากฎชื่อในคำพิพากษามูลค่าสุทธิจำนวน 9,922 ล้านบาท ปตท.ไม่ได้แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังเช่นกัน

“ เมื่อคุณหญิงจารุวรรณ ส่งหนังสือทวงถามไปยังผู้บริหารปตท.อ้างว่าได้ส่งคืนทุกอย่างแล้วตามคำ พิพากษาแล้ว แต่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นไปตามที่ผู้บริหารระดับดังกล่าวบอกแต่อย่างไร ซ้ำยังอ้างว่า เรื่องทุกอย่างจบแล้ว” แหล่งข่าวบอก

เปิดบัญชีฉ้อฉลจองหุ้นปตท.
ผิดระเบียบ-เงื่อนไขฟ้องโมฆะ

ข้อมูลจากการสืบค้นของ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์” พบว่า ในบรรดาหุ้นรัฐวิสาหกิจเข้าตลาดฯ ที่ผ่านมาทั้งหมด หุ้นที่มีจำนวนผู้สนใจจองซื้อมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ การบินไทย มีผู้สนใจ 180,000 ราย ปตท.เป็นอันดับ 2

หุ้นที่ขายทั้งหมด 920 ล้านหุ้น แบ่งเป็นขายให้นักลงทุนสถาบันในประเทศ 92 ล้านหุ้น ขายผ่านธนาคารใหญ่ 5 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย รวม 330 ล้านหุ้น

ขายผ่านแกนนำอันเดอไรเตอร์ 3 แห่ง คือ บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ และบริษัทหลักทรัพย์เมอร์ริล ลินช์ ภัทร แห่งละ 29 ล้านหุ้นเท่าๆ กัน ผ่านโบรกเกอร์ที่ได้รับเชิญอีกกว่า 20 แห่ง รวม 33 ล้านหุ้น

สำหรับผู้ลงทุนรายย่อย วิธีการที่กำหนดในช่วงแรก คือ หนึ่ง ให้จองซื้อได้คนละ 300,000 หุ้น ก่อนลดเหลือ 100,000 หุ้นในเวลาต่อมา

สอง ใช้วิธี First Come First Serve จองก่อนได้ก่อน ส่วนหนึ่งเปิดจองผ่านธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง รวม 7,838 Terminal ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์

หุ้นอีกส่วนหนึ่ง โบรกเกอร์ขายให้ลูกค้าของตัวเอง วิธีการใดก็ได้ ลูกค้าจองหมดตามโควตาเร็วก็ได้เพิ่มเร็ว

จากการตรวจสอบเอกสาร การกระทำอันเป็นเหตุแห่ง “โมฆกรรม” ของการขายหุ้น มีประเด็นที่ควรพิจารณา เป็นความต่อเนื่องกันใน 2 เรื่องหลัก คือ

หนึ่ง-การจองซื้อได้คนละ 100,000 หุ้นต่อ 1 ใบจอง ยื่นได้ครั้งละ 1 ใบจอง ภายใต้วิธี First Come First Serve จองก่อนได้ก่อน กลับพบว่า มีผู้ได้รับการจัดสรรหุ้นทั้งหมด

1) เกิน 1 ใบ และเกิน 100,000 หุ้น มี 227 ราย ใบหุ้น 636 ใบ รวม 59,283,600 หุ้น

2) เกิน 1 ใบ แต่ไม่เกิน 100,000 หุ้น มี 201 ราย ใบหุ้น 414 ใบ รวม 8,074,000 หุ้น

(หมายเหตุ: ตัวอย่างรายชื่อผู้ได้รับจัดสรรหุ้น 50 รายแรก ในตาราง)

ประเด็นนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้ความเห็นในรายงานการตรวจสอบการเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ต่อผู้จองซื้อรายย่อย เมื่อเดือนมกราคม 2545 ว่า การที่หนังสือชี้ชวนระบุว่า “ผู้จองซื้อรายย่อย จะต้องจองซื้อหุ้นขั้นต่ำจำนวน 1,000 หุ้น และจะต้องเป็นทวีคูณของ 100 หุ้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 100,000 หุ้นต่อ 1 ใบจองซื้อ” และ “ผู้จองซื้อ 1 ราย สามารถยื่นจองซื้อได้ครั้งละ 1 ใบจองเท่านั้น” อาจทำให้ผู้จองซื้อรายย่อยบางรายเข้าใจว่า ผู้จองซื้อ 1 ราย สามารถจองซื้อได้ไม่เกิน 100,000 หุ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น

สอง-วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2544 หลังจากเปิดรับจองหุ้นประเภทผู้ลงทุนรายย่อย ตั้งแต่เวลา 09.30 น. ได้เพียง 4.04 นาที ปตท.ก็ปิดรับ ทำให้ผู้จองซื้อรายย่อยจำนวนมากร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลัก ทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ซึ่งทำการตรวจสอบแล้วพบว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงการรับจองซื้อหุ้นตามหนังสือชี้ชวน ทำให้สิทธิของผู้จองซื้อหุ้นที่จะได้รับจัดสรรหุ้นไม่เท่าเทียมกัน เป็นผลให้การดำเนินการรับจองซื้อหุ้นไม่เป็นไปตามเจตนาของหนังสือชี้ชวน จำนวน 859 รายการ และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงการรับจองซื้อหุ้นตามหนังสือชี้ชวน 4 รายการ

โดยกรณีแรก ธนาคารไทยพาณิชย์บันทึกข้อมูลการจองซื้อของผู้จองซื้อดังกล่าวไว้ก่อนเวลา นอกจากนี้ยังบันทึกชื่อและนามสกุลของผู้จองซื้อแบบย่อ แทนชื่อและนามสกุลเต็ม จากนั้นจึงส่งข้อมูลดังกล่าว เข้าสู่ศูนย์ข้อมูลกลางก่อนแล้วจึงปรับปรุงข้อมูล พิมพ์ชื่อและนามสกุลเต็มภายหลัง

เมื่อนำทั้ง 2 ประเด็นมารวมกัน หากการดำเนินการเป็นไปอย่างโปร่งใส เมื่อคิดถึงว่า การจองซื้อปิดรับในเวลาเพียง 4.04 นาที เหตุการณ์ตามข้อ 1 คือ มีผู้ได้รับการจัดสรรมากกว่า 1 ใบจอง และมากกว่า 100,000 หุ้น ย่อมยากที่จะเกิดขึ้น

ถือว่าเป็นการดำเนินการให้เกิดความ ได้เปรียบเสียเปรียบในระหว่างผู้จองซื้อหุ้น และทำให้การจัดสรรหุ้นไม่เป็นไปตามเจตนาและวิธีการที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ ชวนที่ประสงค์ให้การจองซื้อหุ้นเป็นไปโดยโปร่งใส โดยสุจริตและเป็นธรรมแก่ประชาชนทั่วไป

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน