กระทรวงพลังงานยันไทยต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติที่จะหมดภายใน 20 ปีข้างหน้า
นาย ณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานสัมมนาเรื่อง “ทางออกของประเทศไทยในการแก้วิกฤตพลังงาน” ว่า ปัจจุบันไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าสูงถึง 70% ทำให้เกิดความเสี่ยงในการบริหารเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะกรณีที่แหล่งก๊าซฯมีปัญหาต้องหยุดจ่ายกะทันหัน ดังนั้นในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2553-2573 หรือ พีดีพี 2010 ได้กำหนดกระจายเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า และเสนอให้ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 แห่ง กำลังการผลิตรวม 5,000 เมกะวัตต์
ทั้ง นี้ทึ่ผ่านมามีความกังวลเกี่ยวกับการใช้ก๊าซฯจากแหล่งในประเทศ เนื่องจากมีการคาดการณ์กันว่าจะหมดภายใน 20 ปีข้างหน้า และถึงคราวที่ต้องนำเข้าก๊าซฯจากประเทศมากขึ้น จากขณะนี้ที่ไทยใช้ก๊าซจากแหล่งพม่า 1 ใน 3 ของปริมาณก๊าซฯที่ใช้ทั้งหมด
โรงไฟฟ้านิวคเลียร์เป็นทางเลือกหนึ่งในแผนพีดีพี จะทำให้ไทยผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของ เศรษฐกิจประเทศ เพื่อรักษาสำรองไฟฟ้าให้อยู่ในระดับมาตรฐาน แม้ปัจจุบันสำรองไฟฟ้าจะมีสัดส่วนสูงที่ระดับ 20%สูงกว่าระดับมาตรฐานที่ 15 % ซึ่งมีสาเหตุมาจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาไทยเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงตาม ลำดับ ทำให้กำลังสำรองไฟฟ้าเหลือ แต่ให้สังเกตว่าในปีนี้ ความต้องการใช้ไฟฟ้าเริ่มมีการขยายตัวเป็นบวก โดยตั้งแต่เดือนม.ค.-ส.ค. การใช้ไฟฟ้าขยายตัว 12% สะท้อนให้เห็นว่าตัวเลขสำรองไฟฟ้าเริ่มเข้าสู่ความสมดุลกับการใช้ไฟฟ้า
“ยอมรับว่าการตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นเรื่องใหม่สำหรับไทย แต่ก็ยึดหลักการจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และได้รับการสนับสนุนจากชุมชนในพื้นที่ด้วย โดยขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนเลือกพื้นที่ตั้งที่เหมาะสม ซึ่งยืนยันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกเพื่อกระจายความ เสี่ยงด้านพลังงาน เพราะที่ผ่านมาไทยเกือบเจอวิกฤตไฟฟ้าดับในประเทศหลายครั้ง และไม่ควรพึ่งพาเชื้อเพลิงชนิดเดียวในการผลิตไฟฟ้ามากเกินไป ”นายณอคุณ กล่าว
ปัจจุบันการกระจายเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของไทยแบ่งเป็น ก๊าซธรรมชาติ 71% ถ่านหิน 19% น้ำมัน 0.4% พลังน้ำ 4% รับซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้าน 4% และพลังงานหมุนเวียน 2% รวมกำลังการผลิต 82,671 เมกะวัตต์
จาก นสพ.โพสต์ทูเดย์ 17/09/53