"เรกูเลเตอร์" ของใคร?

การลงพื้นที่ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (Regulator) ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น สิ่งที่ชาวบ้านได้ คือ ได้เห็นว่าข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรมกับนายทุนอุตสาหกรรมนั้นหลอมจนเป็นเนื้อเดียวกัน นายทุนไม่ต้องปะทะกับชาวบ้านโดยตรง เพราะข้าราชการออกรับแทนเสียหมด

"ข้าราชการที่ดี มีอยู่แค่ 2 ประเภท คือ ข้าราชการที่เกษียณแล้ว และที่กำลังจะเกษียณ"

 

คำกล่าวข้างต้นเป็นของอดีตผู้ตรวจการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะเห็นข้าราชการมานาน จนได้บทสรุปว่า ข้าราชการที่ใช้ชีวิตราชการ เห็นความไม่ชอบมาพากลก็เก็บงำไว้ หรือทำเสียเอง ต่อเมื่อชีวิตใกล้อัสดง ใกล้เกษียณ หรือเกษียณแล้ว เป็นไม้ใกล้ฝั่ง ไม่มีแรง หรืออำนาจจะโกงกินแล้วถึงได้เห็นสัจธรรมแห่งชีวิต

 

กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นกระทรวงที่กำหนดทิศทางประเทศ ตั้งแต่มีคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หรือ สภาพัฒน์ ชี้ชะตาของประเทศนี้ว่าจะต้องพัฒนาโดยใช้อุตสาหกรรมนำประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 ที่มีการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กอปรกับแผนพัฒนาชาติ ฉบับที่ 1 (2504-2509) แล้วประเทศไทย ก็อยู่เงื้อมเงาของกลุ่มทุนอุตสาหกรรม

 

จนกระทั่ง เกิดภาวะโลกร้อน ด้วยฝีมือของอุตสาหกรรม ประเทศโลกตะวันตกตื่นตระหนก และตื่นกลัวสุดๆ เมื่อ อัล กอร์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำภาพยนตร์สารคดีออกมาเขย่าโลก พลอยทำให้ "ขุนพลอยพยัก" อย่างไทยเต้นแร้งเต้นกากับเขาไปด้วย

 

ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2503 เป็นต้นมา มีกลุ่มคน 3 กลุ่ม ได้อาศัยเกาะกินกับทิศทางและนโยบายการพัฒนาประเทศที่ใช้การอุตสาหกรรมนำหน้า กลุ่มแรก คือ กลุ่มนักการเมืองกลุ่มซอยราชครู เป็นกลุ่มที่เกาะกุมกระทรวงอุตสาหกรรมชนิดไม่ปล่อยมือ และบรรดาโครงการมหาโครงการในประเทศนี้ก็ล้วนแต่เป็นผลผลิตของกลุ่มการเมืองกลุ่มนี้ ทั้งโรงงานทอกระสอบ โรงสีข้าว และอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับทิศทางการพัฒนาประเทศไปสู่การชดเชยการส่งออก และการผลิตเพื่อการส่งออก ของสภาพัฒน์ และบีโอไอ

 

ที่คลาสสิกสุดๆ และยังส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนแม้ในปัจจุบัน คือ โครงการพัฒนาบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ อีเทิร์นซีบอร์ด ที่เริ่มจากให้ ส.ส. ในพื้นที่กว้านซื้อที่ดินถูกๆ แล้วขายให้กับรัฐแบบแสนแพง เพื่อดำเนินโครงการด้วยการเชิญชวนให้ต่างชาติมาลงทุน  โดยออกกฎหมายกดค่าแรงอย่างหนักเพื่อจูงใจ แล้วก็เพ้อจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NICs) เมื่อถึง พ.ศ. นี้ ประชาชนภาคตะวันออกโดยเฉพาะที่มาบตาพุดกำลังร้องระงมเพราะถูกรมด้วยแก๊สพิษ แต่หาได้มีใครใส่ใจไม่ มิหนำซ้ำ ยังเห็นอกเห็นใจพวกนายทุน แม้หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดอำนาจศาล

 

กลุ่มต่อมา คือ กลุ่มทุนอุตสาหกรรม กลุ่มนี้มีพื้นฐานเติบใหญ่แตกสาขามาจากแถบสระบุรีและนครราชสีมา อันเป็นฐานของกลุ่มการเมือง สร้างตัวจากโรงงานทอกระสอบ ธุรกิจค้าข้าว และกิจการอื่นๆ อันเกี่ยวเนื่องกับสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม จากนั้นค่อยๆ กระจายตัวสู่กลุ่มทุนอุตสาหกรรมและธนาคารในส่วนกลาง แล้วคนและตระกูลเหล่านี้ก็เกาะเกี่ยวกับกลุ่มการเมือง เหมือนไพร่ส่วยที่เกาะกับมูลนายในสมัยยังมีระบบไพร่ ซึ่งในปัจจุบัน คนกลุ่มนี้ได้พัฒนาสู่การลงเล่นการเมืองเสียเอง

 

กลุ่มสุดท้ายของกลุ่มที่เอื้อประโยชน์ให้กับระบบอุตสาหกรรมในประเทศนี้ คือ ข้าราชการประจำ การพัฒนาประเทศโดยตั้งเข็มมุ่งสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม กลไกและเฟืองจักรตัวสำคัญ คือ ข้าราชการ คนเหล่านี้จะถูกหล่อหลอมและปูนบำเหน็จจากกลุ่มทุนอุตสาหกรรม ทั้งการซื้อตำแหน่งและกำหนดชะตาชีวิตโดยกลุ่มทุน ดังนั้น คนเหล่านี้จึงสวามิภักดิ์ เทใจทุ่มกายให้กลุ่มทุน และพูดภาษาเดียวกับนายทุน ชีวิตของข้าราชการกระทรวงนี้ย่อมหนีกฎเกณฑ์และความเป็นจริงข้างต้นนี้ไม่พ้น

 

การเขย่าขวัญชาวโลกด้วยวาทะกรรม "โลกร้อน" แม้จะรู้ทั้งรู้ว่า เป็นผลกรรมมาจากอุตสาหกรรม แต่ประเทศอุตสาหกรรมแทนที่จะประณามและหยุดก่อกรรมทำเข็ญกับโลก กลับเบี่ยงเบนโดยเปิดช่องให้กับ "อุตสาหกรรมสีเขียว" โดยสร้างวาทะกรรม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดภาวะโลกร้อน แล้วก็ตั้งรางวัล "เครดิต คาร์บอน" เป็นคะแนนเพื่อสนับสนุนเป็นตัวเงินจากกองทุนบาปที่พวกทุนโลกเจียดแบ่งมาตั้งกองทุน เพื่อสร้างภาพลักษณ์หลอกชาวโลก และเพื่อปูนบำเหน็จแก่ผู้ที่ผลิตเชื้อเพลิงโดยใช้วัสดุเหลือใช้หรือไม่ใช้ฟอสซิลจากใต้โลก

 

แล้วขบวนการของ "นักล่ารางวัล" ก็เกิดขึ้น กลุ่มที่มีโอกาสมากที่สุดในการรับเงินที่เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับโลก คือ กลุ่มโรงสี เพราะมีแกลบเป็นวัตถุดิบสำคัญ แกลบที่เคยทิ้งแบบทิ้งๆ ขว้างๆ หรือให้ชาวบ้านมาโกยไปฟรีๆ กลับเป็นเงินเป็นทองขึ้นในพริบตา แล้วกลุ่มทุนโรงสีที่เคยเป็นกลุ่มนายทุนบ้านนอกที่ไม่มีใครใส่ใจ ก็ผงาดขึ้นเป็นนายทุน "อุตสาหกรรมเขียว" เพราะ "อินเทรนด์" เข้ากับกระแสโลก เมื่อกลุ่มทุนบ้านนอกที่กระจายตัวอยู่ตาหัวเมืองหันมาทำโรงไฟฟ้าชีวมวล (BioMass) โรงไฟฟ้าจึงกระจายอยู่ทั่วประเทศไทยภายในพริบตา

 

สถานภาพของเถ้าแก่โรงสีก็โดดเด่นขึ้น สามารถเดินชูคอกระทบไหล่ข้าราชการโดยไม่เคอะเขิน เพราะพูดจาภาษาเดียวกัน คือ ภาษาเครดิต คาร์บอน

 

ดังนั้น ในการลงพื้นที่บ้านคำสร้างไชย ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2553 นายประเทศ ศรีชมภู ผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง ผู้อำนวยการสำนักงานโรงงานอุตสาหกรรมรายสาขา 5 กรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมคณะ จึงควงแขนนายสมหมาย สมทรัพย์ โดยไม่เคอะเขิน และเป็นนายสมหมาย สมทรัพย์ เจ้าของโรงสีบัวสมหมายและเจ้าของโรงไฟฟ้าที่กำหนดกำลังผลิตไว้ที่ 9.9 เมกะวัตต์ เพราะถ้ากำลังผลิตตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป ต้องทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและต้องทำประชาพิจารณ์ก่อน และได้มงคลนามของ "หลวงตามหาบัว" นำหน้าชื่อว่า บริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด

 

การเดินทางลงพื้นที่ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือที่เรียกเป็นภาษาต่างประเทศ ว่า "Regulator" (เรกูเลเตอร์) เกิดจากการเรียกร้องของชาวคำสร้างไชย เพราะชาวบ้านได้ข่าวว่า สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลฯ ได้อนุญาตให้บัวสมหมายฯ ซึ่งพวกเขากำลังค้าค้านอยู่ให้ดำเนินการได้แล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่ดำเนินการตามกระบวนการที่มีคณะกรรมการฯ ที่ผู้ว่าฯ อุบลฯ จัดตั้งขึ้น และการลงพื้นที่ครั้งนี้ก็เป็นชาวบ้านเองที่ขอให้ลง เพื่อให้เห็นกับตาว่า โรงไฟฟ้าบัวสมหมายฯ นั้น ตั้งอยู่ใจกลางหมู่บ้าน ขณะที่โรงไฟฟ้าบัวสมหมายฯ ที่จังหวัดร้อยเอ็ดแม้ตั้งอยู่ห่างบ้านชาวบ้านเป็นกิโลเมตรยังสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั้งละแวกนั้นสาหัสสากรรจ์มาแล้ว

 

แล้วก็มีการประชุมขึ้นที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลฯ โดยอนุญาตให้ชาวบ้านที่แห่กันไปถึง 50 คน ให้เข้าห้องประชุมได้เพียง 10 คน และนายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง ตอบข้อสงสัยของชาวบ้านต่อที่ประชุมว่า ยังไม่มีการอนุญาตให้บัวสมหมายฯ ดำเนินการ   และวันนี้ก็เดินทางมาเพื่อรับฟังความรับความเห็นจากชาวบ้านเพื่อประกอบการตัดสินใจการอนุญาต

 

ขณะที่นายสมชาย เสงี่ยมศักดิ์ อุตสาหกรรมจังหวัดอุบลฯ และเพื่อนข้าราชการอีกคน ชี้แจงนิ่มๆ แต่บาดลึกในใจชาวบ้าน ว่า สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฯ ได้รวบรวบข้อมูลการขอสร้างโรงไฟฟ้าของบัวสมหมายฯ ต่อส่วนกลางแล้ว เนื่องจากได้รับฟังความเห็นของชาวบ้านเรียบร้อยแล้ว และทางบริษัทบัวสมหมายฯ ได้ทำการการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย  (ESA)  เสร็จแล้ว และส่งรายงานให้ทางกรมแล้วเป็นการศึกษาที่ไม่เกี่ยวข้องกับชาวบ้าน ทำให้ตัวแทนชาวบ้านโต้แย้งทันควันและยืนยันว่า ยังไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ แสดงว่าข้อมูลที่ได้เป็นข้อมูลเท็จ อุตสาหกรรมจังหวัดฯ รวบรวมขึ้นเอง  ตามข้อเสนอจากกรมอุตสาหกรรมฯ ที่ผ่านมา ยังไม่มีข้อมูลยุติในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จนเป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องขอให้ดำเนินการให้มีข้อยุติ ให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั้งผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง หรือผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงาน แต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ

 

นายสมศักดิ์  จันทรรวงทอง ตอบกลับว่า ถือว่าได้ข้อยุติแล้ว คือ มีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายค้านและฝ่ายสนับสนุน ถือว่าได้ข้อมูลแล้ว

 

ขณะที่ผู้อำนวยการทั้งสองก็ตั้งคำถามกับชาวบ้านว่า ที่ชาวบ้านกังวลใจมีข้อมูลมาจากไหน ใครเป็นคนบอก มันเป็นจินตนาการและความรู้สึกเท่านั้น แล้วก็อ้างกฎหมายเรื่องการอนุญาต เพื่อปิดปากชาวบ้าน

 

ตัวแทนชาวบ้านกล่าวกับเหล่าข้าราชการว่า กฎหมายต้องใช้ควบคู่กับกฎแห่งคุณธรรม พร้อมยืนยันว่าจะใช้รัฐธรรมนูญเพื่อคุ้มครองชีวิตและชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านก็ใช้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและพรบ.สุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้นายทุนเปิดเผยข้อมูลต่อชาวบ้าน  และต้องมีการศึกษาผลกระทบเบื้องต้น เพื่อประกอบการตัดสินใจ

 

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง กล่าวด้วยมธุรสวาจา ว่า ... ที่มาเนี่ยะเป็นการมารับฟังข้อมูล มีอะไรที่จะบอกบอกมา ให้ใช้เหตุผลไม่ใช่ใช้ความรู้สึก ผลกระทบยังไม่เกิดเลย ถ้าเกิดแล้วค่อยแก้ไข  การสร้างโรงไฟฟ้าไม่มีผลกระทบอะไรหรอก ...

 

ตัวแทนชาวบ้านชี้แจงว่า ที่คัดค้านไม่ใช่เรื่องของจินตนาการ แต่เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว ในชุมชน คือ ความขัดแย้งในชุมชนระหว่างชาวบ้านกับผู้นำ ทั้งผู้ใหญ่บ้าน ทั้ง อบต. จนหมู่บ้านตกอยู่ภาวะแห่งความทุกข์ใจ การโรงงานที่ตั้งอยู่ในชุมชนมีขอบเขตติดรั้วชาวบ้าน ถนนทางเข้าหมู่บ้านเป็นเพียงถนนเล็กๆ ใครรับรองหลักประกันชีวิตด้านความปลอดภัย ด้านสุขภาพ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ และบทเรียนที่โรงงานของบริษัทบัวสมหมายฯ ที่ร้อยเอ็ด เห็นได้ชัดเจนว่าปัญหาเรื่องฝุ่น และยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ ชาวบ้านมีการเหมารถลงพื้นที่จนเห็นกับตา

 

แต่การที่หน่วยงานรัฐตอบคำถามกับชาวบ้านว่า โรงงานมีพื้นที่กว้าง ฝุ่นไปไม่ถึงชาวบ้านแน่นอน ทั้งๆ ที่ปัญหาเรื่องฝุ่นขึ้นอยู่กับแรงลมและฤดูกาล  ผู้อำนวยการทั้งสองกับเห็นว่าไม่เป็นการกล่าวโดยใช้ความรู้สึก

 

สรุป การลงพื้นที่ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (Regulator) ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น สิ่งที่ชาวบ้านได้ คือ ได้เห็นว่าข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรมกับนายทุนอุตสาหกรรมนั้นหลอมจนเป็นเนื้อเดียวกัน นายทุนไม่ต้องปะทะกับชาวบ้านโดยตรง เพราะข้าราชการออกรับแทนเสียหมด ซ้ำยังตอบโต้ ทำลายความน่าเชื่อถือของชาวบ้าน แม้แต่ดูถูกชาวบ้านว่าไม่รู้กฎหมาย สร้างจินตนาการไปเอง ที่สำคัญ กระทำต่อหน้านายทุน

ความทุกข์ร้อนของชาวคำสร้างไชยและใกล้เคียงต้องได้รับการแก้ไขทันท่วงที ไม่อาจรอ ... รอให้ นายประเทศ ศรีชมภู นายสมศักดิ์  จันทรรวงทอง และนายสมชาย เสงี่ยมศักดิ์ ทำงานเข้าใกล้เกษียณอายุราชการ หรือเกษียณได้.

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน