ดีเดย์ เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ 'น้ำงึม2' คริสต์มาสนี้

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (2553-2573) ที่เน้นการรับซื้อไฟฟ้าที่เป็นพลังงานทดแทนและไม่มีผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้พลังงานน้ำจึงเป็นทางเลือกลำดับต้น ๆ เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตกระแส ไฟฟ้า เนื่องจากเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

ช่วงระยะเวลา 4 ปี (2549-2553) ที่ผ่านมา โครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ “น้ำงึม 2” จึงได้ถือกำเนิดขึ้น เพื่อตอบโจทย์ทั้ง 2 ด้าน ด้านหนึ่งเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าของประเทศไทยในอนาคตอีกด้านคือเป็น การใช้พลังงานไฟฟ้าที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริษัทเซาท์อีสเอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด และรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ ส.ป.ป.ลาว โดยมีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมาหลักในการออกแบบและก่อสร้าง โดยใช้เงินลงทุน 30,832 ล้านบาท

เขื่อนไฟฟ้าน้ำงึม 2 ตั้งอยู่ทิศเหนือของเขื่อนไฟฟ้าน้ำงึม 1 ตัว เขื่อนตั้งขวางลำน้ำงึมที่บ้านห้วยม่อ แขวงเวียงจันทน์ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 615 เมกะวัตต์ หรือปีละ 2,218 ล้านหน่วย (เท่ากับผลิตไฟฟ้าให้กับจังหวัดเชียงใหม่ได้ทั้งจังหวัด) ซึ่งพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกส่งมายังสถานีไฟฟ้าบ้านนาบง เพื่อส่งผ่านไปยังจุดจำหน่ายไฟฟ้าชายแดนไทยลาว ที่บริเวณบ้านจอมแจ้ง ก่อนเชื่อมต่อกับสถานีไฟฟ้าแรงสูงที่  จังหวัดอุดรธานีเพื่อขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในราคายูนิตละ 2 บาท เริ่มเดินเครื่องเต็มรูปแบบเปิดขายไฟอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 ธ.ค. 2553 นี้

กำธร ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อนน้ำงึม 2 ไม่เพียงแต่ประเทศลาวที่ได้ประโยชน์จากรายได้ที่เกิดจากขายไฟฟ้าเข้าประเทศ โดยยังสามารถรักษาป่าต้นน้ำให้คงอยู่ ในส่วนของประเทศไทยก็รับอานิสงส์ได้ใช้ไฟฟ้าในราคาถูกตลอดอายุสัมปทานที่ยาว นาน 27 ปี ซึ่งสัมปทานนี้จะไปสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2580

ทั้งนี้ค่าไฟฟ้าในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ได้รับเฉลี่ย 2.20-2.30 บาทต่อหน่วย แต่เมื่อเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าประเทศไทยในวันที่ 25 ธ.ค. 2553 จะทำให้ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่าอัตราดังกล่าว

“การนำเสนอโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำนั้นต้องใช้เวลาถึง 3 ปี กว่าที่ ส.ป.ป.ลาวจะยอมเซ็นสัญญา เพราะทางรัฐบาลลาวต้องการความมั่นใจว่าโครงการเขื่อนไฟฟ้าน้ำงึม 2 นี้จะเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้ง ส.ป.ป.ลาวและประเทศไทย 100% โดยที่ทาง ส.ป.ป.ลาว จะมีรายได้และเงินลงทุนสร้างเขื่อนอีกหลายพื้นที่ ตามแนวคิดของรัฐบาลลาวที่ประกาศจะผลักดันให้ ส.ป.ป.ลาวเป็น แบตเตอรี่ ภายในปี พ.ศ.2563 ด้วยพลังงานการผลิตไฟฟ้า 20,000 เมกะวัตต์”

ไม่เพียงเท่านี้ ในแง่ของการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ในพื้นที่ ผู้รับสัมปทานชาวไทยก็ได้เข้าไปดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านราว 5,759 คน จาก 982 ครอบครัวใน 16 หมู่บ้าน ของเมืองไซสมบูน แขวงเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ด้วยการสร้างเมืองใหม่อพยพผู้คนมาอยู่ที่เมืองเฟืองในแขวง เวียงจันทน์

ด้านการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาในกรณีที่เขื่อนแตกนั้น นายสราวุฒิได้อธิบายว่า เขื่อนน้ำงึม 2 ออกแบบให้รองรับกับภัยธรรม ชาติกรณีแผ่นดินไหว 9 ริคเตอร์ โดยมีการศึกษาความเป็นไปได้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 ดังนั้นปัญหาน้ำล้นเขื่อนจะไม่มีแน่นอน

อนาคตข้างหน้า นักลงทุนของไทยยังมีโครงการไชยะบุรี ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างฝายกั้นแม่น้ำโขง กำลังการผลิต 1,280 เมกะวัตต์ โดยจะมีการลงนามในสัญญาเดือน ต.ค.นี้ ด้วยมูลค่าโครงการสูงถึง 110,000 ล้านบาท ในระยะเวลาก่อสร้าง 8 ปี ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเขื่อนน้ำงึม 2 ถึง 2 เท่า.

ชาญวิทย์ สุนทรกาญจนา
ภาพประกอบจาก อินเทอร์เน็ต

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน