นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ด้วยระบบ Feed-in-tariffs เข้ามาใช้แทนระบบ แอดเดอร์ ว่า กระทรวงพลังงานจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อเข้ามาพิจารณาอัตราค่าไฟฟ้า รวมต่อหน่วยที่ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้รับจากการผลิตไฟฟ้า ในการกำหนดอัตราค่า Fit ที่เหมาะสมในแต่ละเทคโนโลยีและชนิดของพลังงานหมุนเวียน,พิจารณาสัญญาที่ซื้อ ขายไฟไปแล้ว,การตอบรับซื้อไฟฟ้า และยื่นคำร้องขายไฟฟ้าและรอพิจารณา เพื่อลดการแบ่งรับภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนและกระตุ้นการลงทุนด้านพลังงาน ทดแทนจากผู้ประกอบการภาคเอกชนในอนาคตให้เพิ่มขึ้น คาดว่าจะได้ความชัดเจนภายใน 2 – 3 เดือนนี้
สำหรับระบบ Feed-in-tariffs จะช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้มากขึ้น เพราะจะมีการส่งผ่านไปยังค่าไฟฟ้าพื้นฐานแทนและมีการพิจารณาความเหมาะสมใน การรับซื้อไฟฟ้าเป็นรายโครงการไป ขณะที่ระบบ แอดเดอร์ จะส่งผ่านไปยังค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นและมีการรับซื้อไฟฟ้าจากทุกโครงการ ดังนั้น หากมีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนครบตามแผนที่วางไว้ในระยะเวลา 15 ปีด้วยระบบเดิม โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เข้าระบบแล้ว 500 เมกะวัตต์ หรือ คิดเป็นค่าแอดเดอร์ที่เข้าระบบแล้ว 8 สตางค์ต่อหน่วย หลังจาก คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีมติปรับลดราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ลงจาก 8 บาทต่อหน่วย เหลือ 6.50 บาทต่อหน่วย เนื่องจากราคาต้นทุนการก่อสร้างต่ำลง จึงมองว่าควรปรับแนวทางพิจารณาค่าไฟฟ้าใหม่
ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า หากมีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนครบทั้ง 7,000 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนระยะเวลา 15 ปี จะส่งผลให้ค่าเอฟทีสูงขึ้นมากกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย และเป็นภาระต่อการอุดหนุนจากกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงานสูงกว่า 400,000 ล้านบาท ดังนั้น การปรับลดราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และลดการส่งเสริมโครงการ เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ลง และการปรับเปลี่ยนการรับซื้อไฟฟ้าเป็น ระบบ Feed-in-tariffs จะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้วันพฤหัสบดีที่ 08 กรกฏาคม 2010 นสพ.ฐานเศรษฐกิจ