แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมาได้อนุมัติให้ย้ายสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ของบริษัทสยามเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จาก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา กำลังผลิต 1,600 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุน 1.7 หมื่นล้านบาท ไปอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมอนุมัติเพิ่มค่าไฟฟ้าใหม่อีก 9.49 สตางค์ต่อหน่วย จากค่าไฟฟ้าที่เสนอขายปัจจุบัน 2.63 บาทต่อหน่วย เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นจากค่าที่ดิน และค่าใช้จ่ายย้ายพื้นที่ เช่น ค่าเดินสายส่งและค่าต่อเชื่อมท่อส่งก๊าซเพิ่ม 800 เมตร พร้อมอนุมัติเลื่อนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบหน่วยที่ 1 ออกไป 2 ปี หรือจากเดือน มี.ค.2556 เป็นเดือน มี.ค.2558 และหน่วยที่ 2 จาก เดือน ก.ย.2556 เป็นเดือนก.ย.2558
"เดิมบริษัทสยามเอ็นเนอร์ยี่ ขอเพิ่มค่าไฟฟ้าที่ 12.48 สตางค์ต่อหน่วยชดเชยต้นทุนย้ายพื้นที่ แต่กระทรวงพลังงานได้ต่อรองเหลือ 9.48 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งต่ำกว่าเอกชนที่เสนอค่าไฟฟ้าอันดับ 5 และตกรอบในการประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือไอพีพีครั้งเดียวกันราว 6 สตางค์ต่อหน่วย"
ทั้งนี้การอนุมัติโรงไฟฟ้าดังกล่าว ย้ายพื้นที่และปรับขึ้นค่าไฟฟ้าตามต้นทุนได้บางส่วนนั้น กพช.ยืนบนหลักการหลังปรึกษาไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เห็นว่าเป็นกรณีสุดวิสัย ที่ไม่สามารถทำตามสัญญาได้ เพราะบริษัทเข้าพื้นที่ เพื่อทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอไม่ได้ จึงถือว่าไม่ใช่ความผิดของคู่สัญญา นอกจากนี้ความต้องการไฟฟ้าที่สูงขึ้นมาก หากประมูลใหม่อาจล่าช้าส่งผลต่อกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง
ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน ของบริษัทแนชั่นแนล พาวเวอร์ ซัพพลาย กำลังผลิต 540 เมกะวัตต์นั้น มีโอกาสเลื่อนเข้าระบบเช่นกัน เนื่องจากต้องปรับสัญญาให้สามารถนำระบบอนุญาโตตุลาการมาใช้กรณีพิพาท ขณะที่โรงไฟฟ้าต้องทำรายงานผลกระทบต่อสุขภาพ หรือเอชไอเอ เพิ่มด้วย ทำให้บริษัทยังไม่สามารถเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หรือพีพีเอได้ และตามกำหนดไฟฟ้าจะเข้าระบบเดือนพ.ย. 2556 สำหรับหน่วยที่ 1 และเดือนม.ค.2557 สำหรับหน่วยที่ 2
นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กรณีโรงไฟฟ้าของบริษัทสยามเอ็นเนอร์ยี่ ต้องเลื่อนเข้าระบบ 2 ปี ขณะที่โรงไฟฟ้าของบริษัทแนชั่นแนลฯ ก็อาจต้องเลื่อนเข้าระบบเช่นกัน หากไม่มีโรงไฟฟ้าอื่นทดแทน จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเหลือแค่ 9.7% เท่านั้น ดังนั้น กฟผ.จึงทำแผนจัดหากำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่ม โดยมีโรงไฟฟ้าพระนครใต้ กำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าบางปะกง 1,100 เมกะวัตต์ทดแทน
กรุงเทพธุรกิจ 30/06/2553