ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมด้วยชาวบ้านซึ่งเดือดร้อนจำนวน 38 คนเดินทางมายื่นฟ้อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน รมว.อุตสาหกรรม, อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, อุตสาหกรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, นายก อบต.ห้วยยาง และนายก อบต.แสงอรุณ ผู้ถูกฟ้องที่ 1-8
เรื่องกระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 ร่วมกันออกคำสั่งที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนในการอนุญาตให้ บริษัท พี.ที.อุตสาหกรรม เหรียญชัย จำกัด ก่อสร้างโรงงาน และติดตั้งเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าระบบพลังงาน ชีวมวล ในเขตพื้นที่ชุมชน
โดยชาวบ้านระบุว่า ได้ร้องขอต่อหน่วยงานต่างๆ ให้ดำเนินการแล้วแต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ ปล่อยให้มีการก่อสร้างโรงงานไม่เป็นไปตามของกฎหมาย และมีการสร้างผ่านแหล่งธารน้ำสาธารณะ นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดมลภาวะทางเสียง และอากาศเป็นพิษ ทำให้ชาวบ้านและสัตว์เลี้ยงต่างๆ เดือนร้อน
จึงขอให้ศาลพิพากษาสั่งให้ผู้ถูกฟ้อง คดีทั้ง 8 ระงับโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทดังกล่าว จนกว่าจะได้มีการปฏิบัติตามมาตรา 66 และ 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 รวมทั้งขอให้ศาลสั่ง รมว.พลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กลับไปดำเนินการหรือทบทวน หรือพิจารณาแผน หรือโครงการที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าประเภทชีวมวล ทั้งหมด ให้ดำเนินการภายใต้มาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ยังขอให้ศาลสั่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อุตสาหกรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายกอบต.ห้วยยาง และนายก อบต.แสงอรุณ ดำเนินการเสนอพื้นที่ตำบลห้วยยาง และตำบลแสงอรุณต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อประกาศให้เป็นเขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติด้วย
ขณะเดียวกัน นายศรีสุวรรณ นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยด้วยว่า วันนี้ยังได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ให้ยกเลิกคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 ที่อนุญาตให้โครงการหรือกิจกรรมจำนวน 11 โครงการในนิคมอุสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ดำเนินการต่อไปได้
เนื่องจากโครงการในลำดับที่ 45 ซึ่งเป็นบริษัทผลิตคลอ-อัลคาลีน และอีพิคลอโรไฮดริน ภายใต้โครงการติดตั้ง Chlorine Vaporizer, Wet Scrubber ของ HCL Section และการเปลี่ยนแปลงขนาดถังบรรจุคอลลีนเหลว ได้เกิดปัญหาการแพร่กระจายของมลพิษจนสร้างความเดือดร้อนและความเสียหายให้ เกิดขึ้นกับคนงานและชาวบ้าน เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่อาจประเมินค่าได้ ดังนั้นจึงขอให้ศาลมีการไต่สวน เพื่อจะยกเลิกหรือให้มีการแก้ไขคำสั่งของศาลดังกล่าว
กรุงเทพธุรกิจ 24/06/53