ผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทย และ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ร่วมกันเซ็นบันทึกช่วยความจำเพื่อความเข้าใจด้านราคาไฟฟ้า จากเขื่อนไซยะบูลี ของกลุ่ม ช.การช่าง ในอัตราหน่วยละ 2.159 บาท ตลอดช่วงสัมปทาน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่จ่ายไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ให้แก่ กฟผ.เป็นต้นไป
ไฟฟ้าจากเขื่อนกั้นลำน้ำโขง แห่งนี้ จะส่งไปยังสถานีไฟฟ้า จ.เลย ผ่านระบบสายส่งไฟแรงสูงขนาด 500 กิโลโวลต์ เป็นระยะทาง 220 กิโลเมตร สำนักข่าวสารปะเทดลาวกล่าว
การ เซ็นบันทึกดังกล่าว มีขึ้นระหว่าง นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กับ นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ช.การช่าง นายสมสะหวาด เล่งสะหวัด รองนายกรัฐมนตรีผู้ประจำการรัฐบาล กับ นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงานของไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน
นาย ปลิว กล่าวว่าโครงการเขื่อนขนาด 1,220 เมกะวัตต์ จะต้องใช้เงินลงทุนกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ ปัจจุบันการสำรวจศึกษาแล้วเสร็จสมบูรณ์ อยู่ในขั้นระดมทุนเพื่อก่อสร้าง ซึ่งจะเริ่มในปีหน้า และเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าได้ในปี 2562 หรือ อีก 9 ปีข้างหน้า
เขื่อน ไซยะบูลี ตั้งอยู่ในเขตเมืองไซยะบูลี ในแขวงภาคเหนือของลาว สร้างกั้นลำน้ำทั้งสาย แต่เป็นเขื่อนแบบฝายน้ำล้น จึงจะทำให้มีน้ำไหลตลอดทั้งปีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในฤดูแล้ง น้ำจะยังไหลตามธรรมชาติ เนื่องจากไม่มีการเก็บกักน้ำในลำน้ำ
นอก จากนั้น ยังจะสร้างประตูน้ำสำหรับปิดเปิดให้เรือสินค้าขนาด 500 ตัน แล่นผ่านได้โดยสะดวก และมีบันไดปลาโจนขนาดกว้าง 10 เมตร เพื่อให้ปลาและสิ่งมีชีวิตในลำน้ำทุกชนิดสามารถเคลื่อนย้ายระหว่างต้นน้ำกับ ปลายน้ำได้ โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง สื่อของทางการกล่าว
ยัง มีโครงการเขื่อนกั้นลำน้ำโขงคล้ายกันนี้อีก 3 แห่งในภาคเหนือของลาว คือ เขื่อนปากลายที่อยู่ใต้ลงไปในเขตเมือง (อำเภอ) ปากลาย แขวงเดียวกัน ซึ่งเป็นของกลุ่มนักลงทุนจากจีน เขื่อนหลวงพระบางของกลุ่มทุนเวียดนาม และเขื่อนปากแบง ที่อยู่ถัดขึ้นไปในแขวงอุดมไซ ของนักลงทุนจีนเช่นกัน
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 8 กรกฎาคม 2553 00:12 น.