คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ซึ่งบางคนสวมหมวกอีกใบในฐานะคณะกรรมการเครือปตท. ฉวยโอกาสชงเองกินเอง อนุมัติล้วงเงินกองทุนน้ำมันที่ขูดมาจากประชาชนผู้ใช้น้ำมัน ชดเชยส่วนต่างราคาให้ปตท.นำเข้าแอลพีจีไม่อั้น เบื้องต้นปีนี้คาดถลุงหมื่นกว่าล้าน อ้างเหตุผลการใช้แอลพีจีมากขึ้น ทั้งที่ความจริงนำเข้าป้อนกลุ่มปิโตรเคมีที่มีเครือปตท.เป็นผู้นำธุรกิจ
มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมี นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว. กระทรวงพลังงาน เป็น ประธาน เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 52 ที่ผ่านมา ที่เห็นชอบให้มีการชดเชยส่วนต่างของราคานำเข้าแอลพีจีจากต่างประเทศให้กับ ปตท. โดยไม่จำกัดวงเงิน จากเดิมที่ กบง.กำหนดว่าจะนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเก็บจากผู้ใช้น้ำมันเบนซินไปชดเชยส่วนต่างไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อเดือน เป็นเรื่องบ่งชี้ให้เห็นถึงการใช้อำนาจของ กบง. ซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่กับ ปตท. ที่ผูกขาดธุรกิจก๊าซธรรมชาติเพียงรายเดียว และเป็นการเข้ามาเอาประโยชน์จากกองทุนน้ำมันซึ่งถูกล้วงไปใช้อย่างบิดเบือน
นพ. วรรณรัตน์ แถลงว่า การนำเข้าแอลพีจี ได้เพิ่มสูงขึ้นโดยเดือนตุลาคม 2552 นำเข้ากว่า 110,000 ตัน ทำให้ ปตท. ต้องแบกภาระนำเข้าในส่วนของส่วนต่างราคานำเข้าและราคาในประเทศถึง 1,100 ล้านบาทต่อเดือน และคาดว่า นับจากนี้การนำเข้าอาจจะอยู่ในระดับกว่า 100,000 ตันต่อเดือน จนกว่าโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ของปตท. หน่วยที่ 6 จะสามารถเปิดดำเนินการได้ เพราะขณะนี้ติดปัญหาคดีมาบตาพุด ยังไม่รู้ว่าจะเปิดได้เมื่อใด ทำให้ ปตท. ต้องนำเข้าแอลพีจีต่อไป
(ทั้งๆ ที่ เมื่อเดือน มี.ค. ปี 2552 ประธาน กบง.คนเดียวกันนี้ เพิ่งบอกว่า ปีนี้การนำเข้าแอลพีจี จะลดลงเหลือราว 200,000 ตัน ลดลงจากปีก่อนเพราะราคาน้ำมันปรับตัวลงอย่างมาก เวลานี้น้ำมันถูกลงกว่าปีที่แล้วแต่การนำเข้าแอลพีจีกลับเพิ่มขึ้น??)
ก่อนหน้าที่ กบง. จะอนุมัติการชดเชยข้างต้นเพียงวันเดียว นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามแนวโน้มการใช้แอลพีจีที่เพิ่มขึ้นทำให้ปตท.มีภาระการนำเข้าสูงขึ้น และหากการใช้ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอาจทำให้การนำเข้าแอลพีจีทะลุ 10,000 ล้านบาทต่อปี โดยคาดการณ์ว่า ปีหน้าจะทะลุ 1 ล้านตันต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 6,000 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 700,000 ตันต่อปี
นายประเสริฐ บอกว่า แนวโน้มราคาแอลพีจีในตลาดโลกจะปรับขึ้นลงตามความผันผวนของราคาน้ำมันดิบ โดยอาจจะเคลื่อนไหวถึง 700 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน จากราคาขณะนี้อยู่ที่ 600 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ขณะที่ราคาจำหน่ายแอลพีจี ในประเทศถูกกำหนดให้อยู่ที่ประมาณ 330 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน รัฐบาลจึงต้องนำกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชย ประกอบกับรัฐบาลยังอุดหนุนราคาแอลพีจีอยู่ที่ 18.13 บาท/กก. ไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2553 ส่งผลให้ ปตท.ต้องแบกรับภาระการนำเข้าเพิ่มขึ้นด้วย
การ ออกมาแถลงและให้สัมภาษณ์ของประธาน กบง. และผู้บริหารสูงสุดของ ปตท. ชาวบ้านทั่วไปฟังดูก็เหมือนสมเหตุสมผลดีแล้ว เพราะหากรัฐบาลต้องการตรึงราคาเอาไว้ก็ต้องหาเงินมาชดเชยให้ผู้ที่ต้องแบก ภาระเป็นธรรมดา
แต่ เดี๋ยวก่อนเรื่องนี้มีข้อกังขาข้อถกเถียงกันมาพอสมควร และฝ่ายรัฐบาลกับ ปตท. ก็ตอบคำถามแบบเอาสีข้างเข้าถูก ทำงุบงิบ กลบเกลื่อนกันไป พอได้จังหวะก็ปฏิบัติการ “ปล้นเงียบ” ประชาชนอย่างสง่าผ่าเผย
ประเด็นที่เป็นคำถามต่อปฏิบัติการปล้นเงียบคราวนี้ก็ไม่แตกต่างจากที่ผ่านมา
ประเด็น ที่หนึ่ง คณะกรรมการ กบง. ที่มีอำนาจพิจารณาอนุมัติการชดเชย กับคณะกรรมการ ปตท. ซึ่งเป็นผู้รับผลประโยชน์ใช่เป็นกลุ่มบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ คำถามเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน การขาดธรรมาภิบาลในกิจการพลังงาน จะยังเป็นประเด็นข้อกังขาต่อสาธารณชนไปอีกนานตราบใดที่ยังไม่มีการปรับ เปลี่ยนนโยบายในเรื่องนี้
คณะ กรรมการ กบง. บางคน ที่นั่งถ่างขาอยู่ในบอร์ด ปตท. และบริษัทในเครือ อย่างเช่น เลขาฯสภาพัฒน์, เลขาคณะกรรมการกฤษฎีกา, ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, ผอ.สำนักนโยบายและแผนพลังงาน ซึ่งรับเบี้ยประชุม, โบนัส จากปตท. ในแต่ละปีประมาณ 2 ล้านกว่าบาท น่าสงสัยว่าจะมุ่งรักษาประโยชน์ของประชาชนหรือ ปตท.
เรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ราวเดือนสิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กพช.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และคณะรัฐมนตรี ได้ให้อำนาจ กบง. เป็นผู้เจรจากับ ปตท. ในการชดเชยค่าก๊าซเอ็นจีวี ให้กับ ปตท. เดือนละ 360 ล้านบาท เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งเท่ากับเป็นการมอบเช็คเปล่าให้ ปตท.เติมตัวเลขที่อนุมัติไว้ปีละ 3,600 ล้านบาท เป็นรูปธรรมหนึ่งที่ชัดเจนถึงผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้น
ประเด็นที่สอง หากยังไม่ลืมกันง่ายเกินไปนัก จะพบว่า เมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา การนำเข้าก๊าซแอลพีจีของปตท.โดยอ้างว่าน้ำมันแพงผู้ใช้รถหันมาใช้แอลพีจี เป็นเชื้อเพลิงมากขึ้น โดย ปตท. ขอค่าชดเชยส่วนต่างประมาณ 8,000 ล้านบาทนั้น มีหลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า ปตท.นำเข้าจริงหรือไม่ นำเข้ามาใช้ในส่วนใด การโยนบาปให้ผู้ใช้รถยนต์ว่าเป็นเหตุให้เกิดวิกฤตขาดแคลนก๊าซฯ ถูกต้องทั้งหมดหรือไม่ ใครคือกลุ่มที่ใช้ก๊าซฯ เพิ่มขึ้นจนทำให้ขาดแคลนกันแน่
กระแสข้อกังขาทำให้ กบง. ละล้าละลังชดเชยส่วนต่างกระทั่งต้องลากการตัดสินใจจ่ายชดเชยให้ปตท.เอาเมื่อ ตอนเดือนมี.ค. 2552 โดยล้วงเอาเงินจากกองทุนน้ำมัน ทยอยจ่ายภายใน 2 ปี เดือนละ 500 ล้านบาท ก่อนที่มติ กบง.ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 52 จะมีมติให้จ่ายชดเชยการนำเข้าตามข้อเท็จจริง
คราว นี้ กบง. และ ปตท. ไม่ได้บอกว่า ผู้ใช้รถยนต์เป็นต้นเหตุทำให้เกิดการขาดแคลนก๊าซแอลพีจีจนต้องนำเข้า เพราะอาจเจอสวนกลับ แต่ กบง. และ ปตท. ก็ไม่ได้บอกเช่นเดียวกันว่า การนำเข้าก๊าซแอลพีจี จนรัฐบาลต้องชดเชยส่วนต่างให้เดือนละพันกว่าล้านนั้น เอาไปป้อนให้ใคร ใช่กลุ่มปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมหรือไม่
ถึง แม้ กบง. กับ ปตท. จะไม่บอกข้อมูลนี้ต่อสาธารณให้รู้กันชัดๆ ว่า เอื้อ ปตท. อุ้ม ปิโตรเคมี แต่จากรายงานการตรวจสอบของคณะอนุกรรมาธิการฯ ในคณะกรรมธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ระบุว่า ผู้ใช้ก๊าซแอลพีจี แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ภาคประชาชน (ผู้ใช้ในครัวเรือนและยานยนต์) และภาคธุรกิจ (อุตสาหกรรมและปิโตรเคมี)
จาก การตรวจสอบของคณะอนุกรรมาธิการฯ ชี้ว่า ระหว่างปี 2549 – 2551 พบว่า อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ใช้ก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้นสูงถึง 403,000 ตัน ขณะที่ครัวเรือนใช้เพิ่มขึ้น 402,000 ตัน ยานยนต์ ใช้เพิ่มขึ้น 317,000 ตัน ตามมาด้วยอุตสาหกรรม 147,000 ตัน
ข้อมูลดังกล่าว จะเห็นว่า กลุ่มปิโตรเคมี เป็นผู้ใช้ก๊าซแอลพีจี ในปริมาณเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ข้อเท็จจริงนี้ กระทรวงพลังงาน กบง. ปตท. ไม่เคยบอกให้สาธารณชนทราบ กลับกล่าวหาแต่ผู้ใช้ก๊าซในยานยนต์เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ก๊าซแอลพีจีไม่ เพียงพอ
หาก ตามไปดูข้อมูลในเชิงลึก ก็จะพบว่า กลุ่มปิโตรเคมี ที่ได้ใช้เชื้อเพลิงก๊าซแอลพีจี เป็นต้นทุนการผลิตในราคาต่ำเพราะรัฐบาลจ่ายชดเชยส่วนต่างราคานำเข้ากับราคา ตลาดโลกให้นั้น ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นบริษัทในเครือ ปตท. ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจนี้ นั่นเอง
ประเด็น ที่สาม ประเทศไทยมีก๊าซธรรมชาติเพียงพอต่อการผลิตแอลพีจี แต่เหตุที่ก๊าซแอลพีจีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ความจริงแล้วเป็นการเล่นเกมต่อรองเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจสูงสุดของ ปตท.
คงจำกันได้ว่า โรงแยกก๊าซฯ แห่งที่ 6 ของปตท.ล่าช้าจากแผนการเดิมมาก ไม่ใช่เพราะติดปัญหาคดีมาบตาพุดที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นเพราะ ปตท.ต้องการให้รัฐบาลลอยตัวราคาก๊าซแอลพีจีในราคาตลาดโลก หากใช้ราคาควบคุมก็ไม่จูงใจสำหรับธุรกิจ ดังนั้นโรงแยกก๊าซฯ แห่งที่ 6 จึงล่าช้าเรื่อยมา
มอง ในมุมการทำธุรกิจ ปตท.ต้องการประโยชน์สูงสุด ต้องได้ราคาสูงที่สุด แต่อย่าลืมว่า ก๊าซธรรมชาติ เป็นทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานที่เป็นสาธารณสมบัติของประชาชนชาวไทย ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรมประชาชนควรได้ใช้ก๊าซฯในราคาต่ำตามที่รัฐบาลควบคุม ราคาไว้ไม่ให้เกิน 330 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ไม่ใช่ปล่อยให้ ปตท. คิดเอาแต่ได้ตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรของคนไทยทั้งมวล
เมื่อรัฐบาลล้วงเอาเงินกองทุนน้ำมันมาชดเชยให้ ปตท. นำเข้าแอลพีจีจากต่างประเทศแล้ว โรงแยกก๊าซฯ แห่งที่ 6 จะดำเนินการได้เมื่อใดไม่ใช่ปัญหาของ ปตท. เพราะการเอาเงินกองทุนน้ำมันการชดเชยส่วนต่างราคานำเข้ากับราคาในประเทศให้ ปตท. ก็เท่ากับว่า ตอนนี้ปตท.ได้ขายก๊าซแอลพีจีในราคาตลาดโลกโดยไม่ต้องไปร่ำร้องให้รัฐบาลลอย ตัวราคาก๊าซแอลพีจีให้เสียเวลา
ประเด็นที่สี่ การล้วงเอาเงินกองทุนน้ำมันมาชดเชยส่วนต่างดังกล่าว เป็นการใช้เงินกองทุนน้ำมันอย่างบิดเบือน เพราะกองทุนน้ำมันเป็นเงินที่เก็บจากประชาชนผู้ใช้น้ำมันเบนซิน เพื่อไว้พยุงราคาน้ำมันในกรณีที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงขึ้นจนกระทบต่อ ราคาขายปลีก
การเอาเงินกองทุนน้ำมันมาชดเชยก๊าซแอลพีจี (รวมถึงเอ็นจีวี) จึงเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมสำหรับประชาชน เพราะกองทุนนี้เก็บเงินจากประชาชน ขณะที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี กลับไม่ต้องจ่ายส่วนต่างราคาที่ตนเองซื้อแอลพีจีในประเทศกับราคาตลาดโลก ประชาชนผู้ใช้น้ำมันเบนซิน จึงเป็นผู้แบกรับภาระการนำเข้าแอลพีจีแต่เพียงผู้เดียว
ข่าว การชดเชยไม่อั้นเพื่อ ปตท. ทำให้หุ้นในกลุ่ม ปตท. และกิจการพลังงาน ดีดตัวขึ้นอย่างแรง อีกทั้งคงทำให้กำไรของ ปตท. ดีขึ้นทันตาหลังจากปีนี้มีแต่เรื่องร้ายฉุดความเชื่อมั่น ทั้งคดีมาบตาพุดและไฟใหม้แท่นขุดเจาะของ ปตท.สผ.ในต่างประเทศ
แต่สำหรับประชาชนพวกเขาอาจยังไม่รู้ตัวว่า กำลังถูก “ปล้นเงียบ” อีกแล้ว
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 26 พฤศจิกายน 2552 1