มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกระทุ้งกระทรวงการคลัง – พลังงาน บังคับให้ปตท.แบ่งแยกทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณะแผ่นดิน และสิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางท่อน้ำมัน-ก๊าซฯ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจปตท. หลังอมของหลวงเอาเป็นสมบัติของบริษัท
เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 52 นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายกรณ์ จาติกวนิช รมว.กระทรวงการคลัง และนายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.กระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้บังคับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิ ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
พร้อมกันนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยังได้ส่งสำเนามติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๐ เรื่องการดำเนินการตามคำวินิจฉัยและคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ ฟ.๔๗/๒๕๔๙ และคดีหมายเลขแดงที่ ฟ. ๓๕/๒๕๕๐ , รายงานของผู้สอบบัญชีต่อมูลค่าทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และรายการทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจากการตรวจสอบของ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวก
หนังสือที่มูลนิธิฯ ยื่นต่อกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.๔๗/๒๕๔๙ คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.๓๕/๒๕๕๐ คดีระหว่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ กับ พวกรวม ๕ คน กับ คณะรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กับ พวกรวม ๔ คน
โดยพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สิน ในส่วนที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิ ของผู้ฟ้องคดีที่ ๔ ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพระราชบัญญัติ การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.๒๕๕๐
ต่อมาวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๐ คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาการดำเนินการตามคำวินิจฉัยและคำพิพากษาศาลปกครองสูง สุด คดีหมายเลขดำที่ ฟ.๔๗/๒๕๔๙ และคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.๓๕/๒๕๕๐ ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอโดยมีมติมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการ คลัง รับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามหลักการดังกล่าว โดยให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง
ทั้งนี้ หากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาลฯ ในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณา เพื่อให้มีข้อยุติต่อไป
มูลนิธิ เพื่อผู้บริโภค ระบุว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ลงวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๑ สรุปว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้โอนทรัพย์สินเพียงเฉพาะที่ดินเวนคืนมูลค่า ๑.๔๒ ล้านบาท สิทธิการใช้ที่ดินมูลค่า ๑,๑๒๔.๑๑ ล้านบาท
และ ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่อยู่บนที่ดินเวนคืนและที่ดินรอนสิทธิเพียง ๓ โครงการ (โครงการท่าบางปะกง-วังน้อย โครงการท่อจากชายแดนไทยและพม่า-ราชบุรี และโครงการท่าราชบุรี-วังน้อย) โดยมีมูลค่าระบบท่อจำนวน ๑๕,๐๕๐.๖๙ ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าทรัพย์สินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ แบ่งแยกกลับไปเป็นของรัฐทั้งสิ้นเพียง ๑๖,๑๗๖.๒๒ ล้านบาท โดยไม่มีการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
ขณะ ที่ตามรายงานของผู้สอบบัญชีต่อมูลค่าทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รายงานว่า ทรัพย์สินที่จะต้องดำเนินการคืนให้กระทรวงการคลัง มีมูลค่าทางบัญชีสุทธิ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๔ จำนวน ๕๒,๓๙๓,๔๙๘,๑๘๐.๓๗ ล้านบาท โดยมีรายการทรัพย์สินดังต่อไปนี้
ส่วนแรก ที่ดินอาคารและอุปกรณ์ ประกอบด้วย ที่ดิน ๒,๔๘๑,๔๖๗,๖๒๒.๔๖ บาท, อาคาร ๕,๘๕๑,๕๐๑,๑๗๘.๔๕ บาท และส่วนเครื่องจักร อุปกรณ์ และทรัพย์สินอื่นๆ คือ ระบบท่อส่งก๊าซ ๓๒,๖๑๓,๔๕๔,๔๗๘.๙๔ บาท, โรงแยกก๊าซฯ คลังน้ำมันและอุปกรณ์อื่น ๖,๑๕๔,๕๓๘,๖๕๒.๗๒ บาท และทรัพย์สินอื่น ๓,๒๐๙,๘๕๐,๕๗๑.๘ บาท รวมเครื่องจักร อุปกรณ์ และทรัพย์สินอื่น ๔๑,๙๗๗,๘๔๓,๗๐๓.๔๗ บาท และรวมที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ มูลค่า ๕๐,๓๑๐,๘๑๒,๕๐๔.๓๘ บาท
ส่วนที่สอง สินทรัพย์ไม่มีตัวตน ประกอบด้วย สิทธิการเช่า/ใช้ ๑,๙๘๖,๕๘๙,๔๐๒.๔๘ บาท, สิทธิในการดำเนินการอื่น ๙๖,๐๙๖,๒๗๓.๕๑ บาท, รวมทรัพย์สินไม่มีตัวตน ๒,๐๘๒,๖๘๕,๖๗๕.๙๙ บาท รวมทรัพย์สินสุทธิ ๕๒,๓๙๓,๔๙๘,๑๘๐.๓๗ บาท
นอก จากนี้ จากการตรวจสอบทรัพย์สินโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (ผู้ฟ้องคดี) และพวก พบว่ายังมีทรัพย์สินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาเพิ่มเติมหลังการแปลง สภาพการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย รวมมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต้องแบ่งแยกและคืนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอีกจำนวนทั้งสิ้น ไม่น้อยกว่า ๒๐๕,๘๙๑ ล้านบาท
มูลนิธิฯ จึงขอให้รมว.การคลัง และกระทรวงพลังงาน ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐมีอำนาจหน้าที่โดยตรงต้องรักษาผลประโยชน์ของ แผ่นดิน ทั้งตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดและมติคณะรัฐมนตรีให้บังคับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คืนทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้ครบถ้วนโดยเร็วภายใน ๑๕ วัน หากไม่มีการดำเนินการจะเป็นการละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอีกด้วย
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 27 พฤศจิกายน 2552