กฟผ. ปรับกระบวนการทำความเข้าใจมวลชน ดึง "นพ.วันชัย" แกนนำเครือข่ายสานเสวนาฯ สร้างแนวทางสมานฉันท์ในการรับฟังความคิดเห็นประชาชน หลังกระแสต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุนแรง
นายสมบูรณ์ อารยะสกุล รองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.เตรียมประสานงานกับสถาบันพระปกเกล้า และ นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ แกนนำเครือข่ายสานเสวนาเพื่อสันติธรรม เพื่อปรับกระบวนการสื่อสารและทำความเข้าใจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกใน อนาคต โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์ โดยจะจัดเวทีสานเสวนาทั้ง 76 จังหวัด เนื่องจากการลงพื้นที่ให้ความรู้ความเข้าใจและสำรวจความเหมาะสมทาง ภูมิศาสตร์ พบมีอุปสรรคจากกระแสการต่อต้านที่รุนแรงขึ้น
ขณะนี้ ในบางพื้นที่จึงให้หยุดการสำรวจไว้ก่อน และมาปรับกระบวนการทำความเข้าใจกับประชาชนใหม่ ขณะเดียวกัน จะสำรวจความคิดเห็นเชิงลึกจากประชาชนอีกครั้ง จากก่อนหน้านี้ ได้ทำแบบสอบถาม 44,000 ชุด ถามความคิดเห็นไปแล้ว พบว่า 64% เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ 66% ไม่เห็นด้วยที่จะให้สร้างในชุมชนของตนเอง
ทั้งนี้ ในการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ยังมีอุปสรรคอีกประการ คือ การที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรคกูเลเตอร์) ยังไม่ได้กำหนดอัตราการนำเงินส่งเข้ากองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า จากการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ทำให้ทีมงานที่ลงพื้นที่ไม่สามารถชี้แจงกับประชาชนได้ว่าหากมีโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ในพื้นที่นั้นๆ จะมีเม็ดเงินเข้าไปพัฒนาพื้นที่เท่าใด
ด้าน พล.อ.อ.พิเนต ศุกรวรรณ์ ประธานคณะทำงานสำรวจและคัดเลือกสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กล่าวว่า จากการสำรวจพื้นที่ต่างๆ พบว่าประชาชนเป็นห่วงใน 3 ประเด็น คือ 1. ความปลอดภัย 2. เกรงว่าจะไปแย่งน้ำจากชาวบ้าน 3. การตกค้างของสารพิษในน้ำที่ปล่อยออกมาจากการผลิตไฟฟ้า ส่วนการทำงานได้เข้าสำรวจความเหมาะสมของพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แล้ว 9 แห่ง จาก 16 แห่ง คาดว่ากลางปี 2553 จะคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมให้เหลือเพียง 3 แห่ง
"ในการลงพื้นที่นั้น จะพบว่าการต่อต้านมาจากหลายส่วน ทั้งจากกลุ่มการเมืองและกลุ่มที่มีโจทย์ว่าต้องต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งมาจากต่างประเทศและคนนอกพื้นที่" พล.อ.อ.พิเนตกล่าว
กรุงเทพธุรกิจ 12/11/52