ข่าวเชิงวิเคราะห์ “ธรรมาภิบาลระบบพลังงานไทย” (1) โดย...ทีมข่าวพิเศษ - ปตท.โก่งราคาน้ำมัน-ก๊าซ สูบกินถึงติดรวยสุดในโลก
ASTVผู้ จัดการรายวัน – ความร่ำรวยระดับติดกลุ่มบริษัทรวยที่สุดในโลกของ ปตท. ด้วยยอดรายได้รวมราว 2 ล้านล้านบาท มีคำถามว่ามาจากการโก่งราคาน้ำมันขูดเลือดขูดเนื้อประชาชนคนไทยใช่หรือไม่ การผูกขาดธุรกิจน้ำมัน-ก๊าซฯ และควบคุมไม่ให้การเคลื่อนไหวของราคาและการแข่งขันเป็นไปตามกลไกตลาดเสรีโดย หว่านผลประโยชน์ให้ข้าราชการระดับสูงของรัฐเพื่อครอบงำตลาด เอาเปรียบผู้บริโภค เป็นเรื่องที่กมธ.ตรวจสอบทุจริตฯ วุฒิสภา สรุปผลตรวจสอบว่าเกิดขึ้นจริง แฉจะจะความผิดปกติของราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊มไม่ปรับขึ้น-ลงตามราคาน้ำมัน ดิบในตลาดโลก
นิตยสารฟอร์จูน ของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยการจัดอันดับ 500 บริษัทใหญ่ที่สุดของโลกปี 2552 ปรากฏว่า บริษัท ปตท. เป็นบริษัทเดียวของไทยที่ติดรายชื่อและมีอันดับดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยอยู่ในอันดับที่ 118 ด้วยรายได้รวม 5.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.01 ล้านล้านบาท) ขยับขึ้นจากเมื่อปีที่แล้วซึ่งอยู่ในอันดับที่ 135 ด้วยรายได้ 5.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.73 ล้านล้านบาท)
ขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ตรวจสอบทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา สรุปผลตรวจสอบการกำหนดราคาซื้อขายน้ำมันสำเร็จรูปพบความไม่โปร่งใส มีลักษณะผูกขาดโดยผู้ค้ารายใหญ่ควบคุมไม่ให้การเคลื่อนไหวของราคาและการแข่ง ขันเป็นไปตามกลไกตลาดเสรี ชี้ ปตท. ผูกขาดธุรกิจน้ำมัน – ก๊าซฯ มีสิทธิควบคุมนโยบายผ่านคณะกรรมการบริษัทซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงของรัฐ เพื่อครอบงำตลาดได้ อนาคตด้านพลังงานของคนไทยทั้งชาติจึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ ปตท. เป็นหลัก
สถานการณ์ปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างมากและเกิด ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ก็คือ เรื่องพลังงาน โดยเฉพาะการปรับขึ้นราคาน้ำมันและก๊าซฯ ข้อกังขาคือเมื่อราคาน้ำมันหรือก๊าซฯในตลาดโลกปรับขึ้น ดูเหมือนผู้ค้าน้ำมันก็จะขึ้นราคาทันที แต่เมื่อราคาน้ำมันลง ราคาน้ำมันในประเทศกลับถูกตรึงไว้ให้คงที่ หรือไม่ได้ลดลงให้สอดคล้องตามราคาตลาดโลก
ปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับธรรมาภิบาลและความโปร่งใสของ รัฐบาล รวมถึงรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของประเทศในร่างของบริษัทเอกชนในตลาดหลัก ทรัพย์ฯ คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่มีนางรสนา โตสิตระกูล เป็นประธาน จึงได้หยิบยกประเด็นเรื่อง “ธรรมาภิบาลในระบบพลังงานของประเทศ” ขึ้นมาตรวจสอบ
จากการตรวจสอบข้อมูลและสถานการณ์เบื้องต้น ค้นพบว่า การกำหนดราคาซื้อขายน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซต่างๆ มีความไม่โปร่งใส มีลักษณะการผูกขาดโดยไม่ให้มีการเคลื่อนไหวของราคาและการแข่งขันตามกลไกตลาด เสรี ปัญหาที่เกิดขึ้นมีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน จึงควรที่จะมีการตรวจสอบอย่างครอบคลุมเพื่อให้เกิดความกระจ่างแก่สาธารณะ
เช่น กลไกการกำหนดราคาน้ำมันในปัจจุบันเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องนี้ ทำไมการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทยจึงต้องอ้างอิงราคาของตลาด สิงคโปร์ ทำให้คนไทยทุกวันนี้ต้องจ่ายค่าน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นที่ตั้งอยู่ใน ประเทศไทยแพงกว่าประชาชนในสิงคโปร์ เหตุใดสินค้าพลังงาน เช่น น้ำมันที่มีการกลั่นหรือผลิตในประเทศได้แล้วกลับไม่มีราคาถูกลงเช่นสินค้า ชนิดอื่นที่ผลิตได้ในประเทศ
หลัง จากคณะกรรมาธิการฯ ใช้ปีกว่านับจากเดือนพ.ค. 51 ศึกษาประเด็นต่างๆ ข้างต้น จึงได้สรุปผลตรวจสอบเสนอต่อประธานวุฒิสภา เมื่อเดือนมิ.ย. 52 ที่ผ่านมา
กล่าว เฉพาะประเด็นเรื่องราคาน้ำมัน รายงานผลการตรวจสอบ สรุปว่า การกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทย โดยอิงราคานำเข้าจากตลาดสิงคโปร์และบวกเพิ่มค่าโสหุ้ยในการขนส่งน้ำมัน สำเร็จรูป ค่าสูญเสียระหว่างขนส่ง ค่าปรับปรุงคุณภาพจากมาตรฐานสิงคโปร์มาเป็นมาตรฐานไทย และค่าประกันภัยจากสิงคโปร์มาไทย ซึ่งเป็นต้นทุนที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะโรงกลั่นน้ำมันตั้งอยู่ในประเทศไทย ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยต้องซื้อพลังงานด้วยราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น กล่าวคือต้องซื้อในราคานำเข้าไม่ใช่ราคาผลิตได้ในประเทศ
ที่สำคัญ ธุรกิจผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของไทยเป็นธุรกิจกึ่งผูกขาด ทำให้ราคาสินค้าพลังงานไม่ได้เคลื่อนไหวโดยกลไกตลาดเสรี หากแต่เป็นไปตามการกำหนดโดยผู้ค้ารายใหญ่ภายในประเทศเอง ด้วยเหตุนี้ราคาค้าปลีกน้ำมันของไทยจะปรับราคาลงช้ากว่าราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่ในยามที่ราคาตลาดโลกปรับขึ้น ราคาน้ำมันขายปลีกของไทยจะปรับราคาขึ้นเร็วกว่าการปรับราคาลง
“สูตรการกำหนดราคาน้ำมันของประเทศไทยอิงตามราคานำเข้าจากตลาด สิงคโปร์ ทำให้คนไทยต้องซื้อน้ำมันสำเร็จรูปแพงกว่าราคาที่ต่างชาติซื้อจากโรงกลั่น ไทย ซึ่งถือเป็นกลไกตลาดเทียมที่ไม่ขึ้นกับอุปสงค์และอุปทานภายในประเทศ”
ผลตรวจสอบ ได้แจกแจงรายละเอียดการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปอิงตามราคานำเข้าจากตลาด สิงคโปร์ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยต้องซื้อพลังงานด้วยราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น และไม่เป็นธรรมเพราะ 1) ราคาที่คนไทยซื้อน้ำมันเป็นราคาที่ต้องบวกค่าโสหุ้ยในการขนส่งน้ำมันสำเร็จ รูป ค่าสูญเสียระหว่างขนส่ง ค่าปรับปรุงคุณภาพจากมาตรฐานสิงคโปร์มาเป็นมาตรฐานไทย และค่าประกันภัยจากสิงคโปร์มาไทย ซึ่งเป็นต้นทุนที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะโรงกลั่นน้ำมันตั้งอยู่ในประเทศไทย
2) การผลิตพลังงานของไทยไม่ได้พึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันดิบทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบบางส่วนเป็นวัตถุดิบในประเทศ ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตที่แท้จริงถูกกว่าราคา ณ ระดับของการนำเข้าทั้งหมด
ปัจจุบันประเทศไทยมีแหล่งก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันดิบขนาดใหญ่ที่ดำเนินการผลิตแล้วกว่า 50 แหล่ง สามารถผลิตพลังงานรวมกันได้ถึงวันละ 115 ล้านลิตร และสามารถพึ่งตนเองได้ในการกลั่นน้ำมันมากกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ของความต้อง การใช้ในประเทศ ทำให้มีการส่งออกอย่างต่อเนื่องและในปี 51 มูลค่าการส่งออกพลังงานของไทยมีมูลค่า 9,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าการส่งออกข้าวที่มีมูลค่าเพียง 6,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รายได้จากการส่งออกพลังงานของไทยมีมูลค่าใกล้เคียงกับมูลค่าการส่งออกน้ำมัน ของประเทศเอกวาดอร์ ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกในกลุ่มโอเปก
3) ธุรกิจผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของไทยเป็นธุรกิจกึ่งผูกขาด ทำให้ราคาสินค้าพลังงานไม่ได้เคลื่อนไหวโดยกลไกตลาดเสรี หากแต่เป็นไปตามการกำหนดโดยผู้ค้ารายใหญ่ภายในประเทศเอง ดังจะพบได้ว่า ราคาค้าปลีกน้ำมันของไทยจะปรับตัวลงช้ากว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมาก แม้ว่าในยามราคาน้ำมันโลกขึ้นจนราคาในประเทศจะขึ้นตามด้วยก็ตาม ราคาน้ำมันที่ขายกันตามปั๊มต่างๆ จึงไม่ใช่ราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมสำหรับผู้บริโภคหรือผู้ใช้น้ำมัน
ในทางกลับกัน โรงกลั่นไทยส่งออกน้ำมันในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ขายให้คนไทย เพราะโรงกลั่นต้องส่งออกตามราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ ลบด้วยค่าโสหุ้ยในการขนส่ง ค่าสูญเสียในการขนส่ง ค่าประกันภัย และค่าปรับปรุงคุณภาพ เนื่องจากเป็นราคาที่เป็นไปตามกลไกตลาดโลกที่แท้จริง ดังนั้น ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่คนไทยจ่ายแพงกว่าที่ควรเป็นเพราะกลไกตลาดเทียม คือประมาณ 2 เท่าของค่าโสหุ้ยในการขนส่งน้ำมันสำเร็จรูประหว่างประเทศไทยและสิงคโปร์นั่น เอง
กล่าวโดยสรุป ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือ (1) คนไทยจ่ายค่าน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นไทยแพงกว่าคนสิงคโปร์ และ (2) สินค้าพลังงานเมื่อมีการกลั่นหรือผลิตในประเทศได้แล้ว กลับมิได้มีราคาที่ถูกลงเช่นสินค้าชนิดอื่นที่ผลิตได้ในประเทศเลย เนื่องจากรัฐบาลอนุญาตให้ใช้ราคาอิงตลาดสิงคโปร์บวกด้วยค่าโสหุ้ยต่าง ๆ ที่ไม่เกิดขึ้นจริง ซึ่งถือเป็นกลไกตลาดเทียมดังที่กล่าวมาแล้ว
“ภาครัฐใช้สูตรการกำหนดราคาเช่นนี้โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อเป็นแรงจูง ใจให้มีการตั้งโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ ทั้งที่ประเทศไทยสามารถกลั่นน้ำมันได้ภายในประเทศมากเกินความต้องการของคน ไทยมากว่า 11 ปีแล้ว จึงควรต้องมีการทบทวนเรื่องนี้ใหม่ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์”
ปัจจุบัน บมจ. ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของโรงกลั่นน้ำมัน 5 แห่งจากโรงกลั่นขนาดใหญ่ 6 แห่งในประเทศไทย ที่มีกำลังการผลิตรวมกันกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ ปตท. มีสิทธิควบคุมนโยบายผ่านคณะกรรมการบริษัทเพื่อครอบงำตลาดได้ ดังนั้น อนาคตด้านพลังงานของคนทั้งชาติจึงขึ้นกับการตัดสินใจของ บมจ. ปตท. เป็นสำคัญ
ประสาท มีแต้ม นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งติดตามเรื่องพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง ได้ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในประเด็น “ความผิดปกติ” ของราคาน้ำมัน โดยยกราคาน้ำมันในตลาดโลกและราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเปรียบเทียบการขึ้น -ลง ว่าสอดคล้องกันหรือไม่ ค่าการกลั่นและค่าการตลาดมีการปรับขึ้น-ลง ตามการกำหนดของผู้ค้ารายใหญ่อย่างไร รวมไปถึงภาษีและกองทุนที่จัดเก็บในแต่ละช่วงของรัฐบาลเป็นอย่างไร เงินที่เราจ่ายไปแต่ละลิตรแต่ละบาทนั้นเข้ากระเป๋าของรัฐในรูปภาษีและพ่อค้า น้ำมันฝ่ายละเท่าใด
ประสาท ได้เลือกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ซึ่งเป็นประเภทน้ำมันที่คนใช้มากที่สุดวันละประมาณ 50 – 60 ล้านลิตร โดยเลือกเอาช่วงเวลา 8 ต.ค. – 13 พ.ย. 51 (รวม 26 วัน บางวันไม่มีข้อมูล) และช่วง 12 พ.ค. – 15 มิ.ย. 52 (รวม 24 วัน) มาศึกษาโดยใช้ราคาน้ำมันดิบของตลาด WTI (West Texas Internediate ซึ่งเป็นราคาที่ท่าเรือ) พบว่า แต่ละช่วงค่าเฉลี่ยของราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 68.76 และ 64.50 เหรียญต่อบาร์เรล ตามลำดับ เมื่อเปลี่ยนเป็นเงินไทยแล้ว พบว่า ราคาน้ำมันดิบของสองช่วงเวลาเฉลี่ยลิตรละ 15.02 และ 14.06 บาท ตามลำดับ
แต่เมื่อนำราคาตลาดโลกมาเทียบกับราคาขายปลีกหน้าปั๊มที่กรุงเทพฯ รวมทั้งองค์ประกอบต่างๆ ของราคา พบว่า ราคาหน้าปั๊มแทบไม่มีความแตกต่างกัน
คำถามถึง “ความผิดปกติ” คำถามแรก จากตารางจะเห็นความแตกต่างหรือ “ความผิดปกติ” ที่ชัดเจนอยู่ 2 รายการ คือ ราคาค่าการตลาด และค่าภาษีและกองทุน ซึ่งภาษีและกองทุนเป็นเรื่องเชิงนโยบายของรัฐบาล แต่ค่าการตลาดซึ่งกำหนดโดยผู้ค้าน้ำมัน มีคำถามว่า ทำไมช่วงแรก (8 ต.ค. – 13 พ.ย. 51) จึงสูงกว่าในช่วงหลัง (12 พ.ค. – 15 มิ.ย. 52) ถึง 2 เท่าตัว หรือสูงกว่าถึงลิตรละ 1.68 บาท
คำถามที่สอง ในช่วงดังกล่าว คนไทยใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วประมาณ 1,500 ล้านลิตร ดังนั้นมูลค่าที่เกินมานี้ประมาณ 2,500 ล้านบาท (เฉพาะในเดือนดังกล่าว) คือการสมคบกันระหว่างพ่อค้าพลังงานกับนักการเมืองที่กำกับดูแลกิจการพลังงาน ใช่หรือไม่
คำถามที่สาม ค่าการกลั่นที่กระทรวงพลังงาน ไม่ยอมบอกข้อมูลนี้ (ช่วงเวลา 12 พ.ค. – 15 มิ.ย. 52) ประชาชนผู้บริโภคต้องการคำอธิบาย
คำถามที่สี่ ค่าการกลั่นลิตรละ 2.43 บาท เป็นราคาที่เหมาะสมหรือไม่ ทั้งนี้ เมื่อแปลงเป็นตัวเลขของต่างประเทศ จะเท่ากับ 11.12 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับบางประเทศในช่วงเดือนก.ย. – ต.ค. 51 พบว่า ในกลุ่มยุโรป จะอยู่ที่ 8.93 และ 6.18 เหรียญต่อบาร์เรล (สำหรับการกลั่นชิดที่แพงที่สุดแล้ว) นั่นหมายความว่า ค่าการกลั่นของไทยแพงเสียยิ่งกว่า (ที่มา : WWW.oilmarketreport.org International Energy Agency ฉบับที่ 13 November 2008
คำถามที่ห้า เมื่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง ราคาน้ำมันในประเทศลดลงหรือไม่ ตอบว่า มีทั้งลดและไม่ลดลง แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ลดลงตาม ราคาขายปลีกจะถูกตรึงไว้ให้คงที่เป็นส่วนใหญ่ ส่วนต่างของราคากลับไปเพิ่มให้เป็นค่าการตลาดหรือค่าการกลั่น
ขั้นตอนการค้าน้ำมันโดยย่อ
1. พ่อค้าซื้อน้ำมันดิบจากตลาดกลาง โดยราคาน้ำมันดิบดังกล่าวยังไม่รวมค่าขนส่งนำมากลั่นในประเทศ
2. เมื่อน้ำมันดิบมาถึงโรงกลั่น หลังกลั่นเสร็จแล้วจะมีการกำหนด “ราคาหน้าโรงกลั่น” ในอดีต (ก่อน 9 ธ.ค. 51) กระทรวงพลังงานจะรายงาน “ค่าการกลั่นเฉลี่ย” แต่หลังจากนั้น ไม่มีการรายงานโดยไม่ทราบเหตุผล
ความหมายของ “ค่าการกลั่น” คือ ผลต่างของราคาน้ำมันดิบ(ในตลาดโลก)กับราคารวมของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่กลั่นมาได้ เช่น ถ้าราคาน้ำมับดิบบาร์เรลละ 60 เหรียญสหรัฐฯ เมื่อกลั่นเสร็จแล้วขายได้ 67 เหรียญสหรัฐฯ ค่าการกลั่นจะเท่ากับ 7 เหรียญสหรัฐฯ
3. ภาษีมีหลายประเภท ทั้งภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล ภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ยังมีค่ากองทุนน้ำมันและกองทุนอนุรักษ์พลังงาน
4. ค่าการตลาด คือ ผลต่างระหว่างราคาหน้าปั๊มในกรุงเทพฯ กับราคาหน้าโรงกลั่น โดยหักภาษีและค่ากองทุนออกไปด้วย (ส่วนราคาหน้าปั๊มในต่างจังหวัดที่สูงกว่าในกรุงเทพฯ คือ ต้นทุนค่าขนส่งที่บวกเพิ่มเข้าไป ไม่ใช่ค่าการตลาด)
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 13 กรกฎาคม 2552 08:03 น.