ไออีเอหนุนอาเซียนฮับผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ

พลังงานผนึกไออีเอ หนุนอาเซียน ศูนย์กลางผลิตและส่งออกเชื้อเพลิงชีวภาพ ลดแรงกดดันราคาน้ำมันตลาดโลก ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนยอดใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเป็น 25% ในอีก 40 ปีข้างหน้า พร้อมวางสองแนวทางสต็อกเอทานอลป้องกันขาดแคลนในอนาคต

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน Bangkok Biofuels 2009 วานนี้ (7 ก.ย.) ว่า กระทรวงพลังงานร่วมกับองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) หารือเรื่องการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพอย่างยั่งยืนในกลุ่มอาเซียน เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ ภายใต้แผนปฏิบัติการพลังงานของอาเซียน (ปี 2553-2558) โดยมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีเชื้อเพลิงชีวภาพ ไปสู่การพัฒนายุคที่ 2 หรือ Second Generation Biofuels ด้วยการนำพืชที่ไม่ได้ผลิตอาหารมาพัฒนาเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น ไบโอดีเซลจากสาหร่าย หรือเอทานอลจากเศษไม้และฟางข้าว เป็นต้น ขณะนี้อยู่ในขั้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี

"เป้าหมายสูงสุดคือผลักดันให้กลุ่มประเทศอาเซียน เป็นศูนย์กลางผลิตและส่งออกเชื้อเพลิงชีวภาพระดับโลก (โอเปคแห่งเชื้อเพลิงชีวภาพ) เพราะแต่ละประเทศมีศักยภาพมากพอ เช่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ผู้ส่งออกปาล์มอันดับหนึ่งของโลก ประเทศไทย มีศักยภาพเป็นศูนย์กลางผลิตวัตถุดิบ และเชื้อเพลิงชีวภาพสำเร็จรูป เช่น แก๊สโซฮอล์ เอทานอล

ด้านนายริชาร์ด โจนส์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไออีเอ กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพของโลก อยู่ที่ 1.5% ของปริมาณการใช้น้ำมันทั้งหมด 85 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดว่าปี 2573 การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจะเพิ่มเป็น 4% แต่ถ้ามีการสนับสนุนนโยบายผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพทั่วโลก จะทำให้ปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นเป็น 8% ได้ และเพิ่มเป็น 25% ภายในปี 2593 หรือวันละ 25 ล้านบาร์เรล จากปริมาณการใช้น้ำมันของโลก ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปีเดียวกัน

ด้าน นายทวารรัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ จะถ่ายทอดโครงสร้างราคาเอทานอลแต่ละประเทศ เพื่อใช้เป็นข้อมูลกำหนดราคาร่วมกัน และสะท้อนต้นทุนแท้จริง แข่งขันกับราคาน้ำมันได้ โดยไม่มีกลไกให้เงินอุดหนุน ซึ่งประเทศต่างๆ ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น บราซิล

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานมีแนวทางบริหารจัดการเอทานอลระยะยาว เพื่อให้การผลิตและใช้เอทานอลเหมาะสมไม่ขาดแคลน 2 แนวทาง คือ 1.ให้ภาคเอกชนเก็บสำรองเอทานอลหรือทำสต็อกส่วนกลาง หรือ 2.ออกกฎหมายให้ผู้ค้าเอทานอลต้องสำรองเอทานอลแบบเดียวกับผู้ค้าน้ำมัน อย่างไรก็ตามมีประเด็นค่าใช้จ่ายจากการสร้างคลังเก็บเอทานอล ที่ต้องหารือกับผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอ รมว.พลังงาน พิจารณา

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 08/09/52

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน