สนพ.หวั่นโรงไฟฟ้าถ่านหินล้มติดอีเอไอ เร่งดัน'เอสพีพี'เข้ามาเสริมระบบการใช้

 

สนพ.เตรียมไม้สองจัดหาไฟฟ้ารับเศรษฐกิจฟื้น หลังโรงไฟฟ้าถ่านหินเอ็นทีเอสก่อสร้างไม่ได้ ติดเงื่อนไขอีไอเอจ่อไม่ผ่านภายในสิ้นปีนี้ โดยจะไปเร่งรับซื้อไฟฟ้าจากเอสพีพีเข้ามาเสริมแทน คาดไม่มีปัญหาด้านความมั่นคง เพราะความต้องการใช้ไฟฟ้ายังต่ำ และยังมีปริมาณสำรองสูง

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากที่รัฐบาลได้เปิดประมูลการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่หรือไอพีพีเมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา จำนวน 4,400 เมกะวัตต์ โดยมีเอกชน 4 รายที่ชนะการประมูลได้แก่ บริษัท เก็คโค่-วัน จำกัด ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง กำลังการผลิต 660 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้ว และจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2554 ,บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลายฯ ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง กำลังการผลิต 540 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบวิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2556-2557 ,บริษัท สยามเอ็นเนอจี จำกัด ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง กำลังการผลิต 1,600 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา อยู่ระหว่างการจัดทำอีเอไอ และบริษัท เพาเวอร์ เจนเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง กำลังผลิต 1,600 เมกะวัตต์ตั้งอยู่อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี อยู่ระหว่างรอการอนุมัติอีไอเอนั้น

ทั้งนี้จากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าไอพีพีที่ผ่านมานั้น มีความเป็นห่วงว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลายฯ จะไม่สามารถก่อสร้างได้ เนื่องจากเหลือระยะเวลาเพียง 5 เดือน รายงานอีไอเอยังไม่ผ่านการอนุมัติ จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ที่มีการระบุในสัญญาว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2552 นี้ หากยังไม่ผ่านอีไอเอ ก็ไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ หลายฝ่ายมองว่าอาจจะส่งผลต่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าได้นั้น

ดังนั้นเพื่อเป็นการไม่ประมาท หากโรงไฟฟ้าดังกล่าวไม่สามารถก่อสร้างได้ ทางสนพ.จะเร่งให้ผู้ประกอบการที่อนุมัติรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กหรือเอสพีพีไปแล้วประมาณ 1,580 เมกะวัตต์ ให้เร็วขึ้น เพื่อมาเสริมระบบเป็นทางออกแทน จากเดิมที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพีได้กำหนดจ่ายไฟฟ้าจะเข้าระบบตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไปถึงปี 2557 ที่กำหนดจะต้องมีการปรับซื้อไฟฟ้าจากเอสพีพีทั้งสิ้น 4,064 เมกะวัตต์

นายวีระพล กล่าวอีกว่า ส่วนจะเร่งการจ่ายไฟฟ้าเอสพีพีเข้าระบบได้เร็วแค่ไหน จะต้องรอดูความชัดเจนของความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงปี 2556-2558 ว่าจะเป็นอย่างไรด้วย ซึ่งหากความต้องการใช้ไฟฟ้ายังต่ำอยู่ ก็คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาแม้จะไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้ามา เพราะเวลานี้เองในรอบ 6 เดือนที่ผ่านความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศลดลง 3-4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับยังมีปริมาณสำรองไฟฟ้าสูงเกือบ 30 % ที่จะมารองรับการใช้ไฟฟ้าได้

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทราบความต้องการใช้ไฟฟ้าที่แท้จริง ขณะนี้สนพ.อยู่ระหว่างการจัดจ้างที่ปรึกษา เพื่อมาทำการศึกษาการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า เพื่อนำมาประกอบการจัดทำแผนพีดีพีพีฉบับใหม่ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วง 6 เดือนนี้ และหลังจากนั้นจะทำให้ทราบได้ว่า หลังจากนี้ไปประเทศจะต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่เกิดขึ้นกี่แห่ง และต้องใช้เชื้อเพลิงอะไรในการผลิตไฟฟ้าบ้าง

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2447 26 ก.ค.  - 29 ก.ค. 2552

 

 

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน