ฟื้นฟูรถไฟไทย ใครได้ประโยชน์?

89.7% ผู้ใช้บริการรถไฟเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ควรจะต้องมีแผนฟื้นฟูกิจการรถไฟอย่างเร่งด่วน


เมื่อวันที่ 28 ก.ค. ศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้เสนออผลเอแบคเรียล ไทม์โพล เรื่อง

"สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการให้บริการของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) กรณีศึกษาประชาชนใน 17 จังหวัด ได้แก่ กทม. เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ กาญจนบุรี เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปทุมธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สกลนคร หนองบัวลำภู พัทลุง ระนอง และสุราษฎร์ธานี จำนวน 1,209 ครัวเรือน ระหว่างวันที่ 26-27 ก.ค.52

นอกจากนี้ยังศึกษาผู้ใช้บริการรถไฟในเส้นทางสายเหนือ สายใต้ สายตะวันออกเฉียงเหนือ สายชานเมือง สายตะวันออก และขบวนท่องเที่ยวพิเศษจำนวน 909 ตัวอย่าง ช่วงวันที่ 24-27 ก.ค.52 พร้อมจัดสัมมนาเรื่อง "ฟื้นฟู...พัฒนา รถไฟไทย ทำไปเพื่อใคร"

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบค กล่าวว่า จากการสำรวจผลปรากฏว่าส่วนใหญ่เป็นผู้มีการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี โดยพบว่า 96.5% ของประชาชนทั่วไปและอีก 89.7% ของผู้ใช้บริการรถไฟเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ควรจะต้องมีแผนฟื้นฟูกิจการรถไฟอย่างเร่งด่วน

โดยเห็นควรปรับเปลี่ยนการบริหารให้มีประสิทธิภาพ จัดตั้งบริษัทเดินรถทำหน้าที่ดูแลด้านการเดินรถ เร่งจัดเก็บรายได้จากที่ดินเช่าของร.ฟ.ท.ให้ครบจำนวน จัดการกับภาระการจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญให้แก่พนักงานร.ฟ.ท.ที่ติดค้างไว้ แก้ปัญหาหนี้สินสะสมของร.ฟ.ท. ปรับค่าโดยสารตามต้นทุน ควรแยกโครงสร้างกิจการในเชิงธุรกิจที่ทำกำไรออกจากการลงทุนในระบบราง

อย่างไรก็ตามประชาชนส่วนใหญ่ 72% เห็นว่าผู้ที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการฟื้นฟูร.ฟ.ท.คือ ผู้บริหารระดับสูงของร.ฟ.ท. รองลงมาคือพนักงานรถไฟ ส่วนประชาชนจะได้รับประโยชน์เป็นอันดับ 3 ขณะที่กลุ่มนายทุนและนักการเมืองจะได้รับประโยชน์เป็นอันดับ 4 และ 5 ตามลำดับ

ด้านนายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพย์สินร.ฟ.ท. กล่าวว่า ผลการสำรวจที่ออกมาไม่ผิดจากที่คาดไว้ เพราะที่ผ่านมาร.ฟ.ท.ไม่เคยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เพียงแต่ทำตามงบประมาณที่มีอยู่ ซึ่งถึงเวลาที่ต้องปรับปรุงแล้ว

แม้ว่าขณะนี้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจร.ฟ.ท. จะยังไม่ยอมให้ตั้งบริษัทเดินรถโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ แต่ให้แยกหน่วยธุรกิจเดินรถภายใต้ร.ฟ.ท. เนื่องจากเห็นว่าหากตั้งบริษัทขึ้นมาก็ง่ายต่อการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้น รัฐจึงต้องให้ความมั่นใจในการทำงานของพนักงานด้วย

ส่วนเรื่องการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ ที่ดินร.ฟ.ท.ทั่วประเทศที่มีอยู่ประมาณ 2.3 แสนไร่นั้น จำเป็นต้องมีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับร.ฟ.ท. โดยเฉพาะที่ดินที่สามารถพัฒนาได้ในเชิงพาณิชย์ทั่วประเทศ 3 หมื่นไร่ คิดเป็นมูลค่า 1 แสนล้านบาท แต่ได้รับผลตอบแทนเพียง 2.75% เท่านั้น

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) กล่าวว่า ขณะนี้ร.ฟ.ท.มีงานจำนวนมากที่จะต้องดำเนินการ แต่จะต้องมีการจัดวางระบบที่ดี มิฉะนั้นจะเสี่ยงต่อการขาดทุนเหมือนที่ผ่านมา จึงจะต้องมีการพัฒนาในหลายๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งบริษัทเดินรถ โครงการแอร์พอร์ตลิงก์ การจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์

ส่วนสาเหตุที่ต้องจัดให้มีการแยกการจัดการเพื่อความสะดวกรวดเร็วและก่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน ซึ่งหากล่าช้าไปร.ฟ.ท.จะเสียหาย และต้องนำเงินภาษีประชาชนเข้ามาชดเชยให้ร.ฟ.ท.ต่อไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด

เพราะปัจจุบันร.ฟ.ท.มีรายได้ประมาณ 8,600 ล้านบาทต่อปี แต่ขาดทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี

ข้อมูลจาก นสพ.ข่าวสด 29/7/52

 

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน