ปชช. ค้านต่อสัมปทานบีทีเอสล่วงหน้า พร้อมเรียกร้องปฏิรูประบบรถไฟฟ้า ทำระบบตั๋วร่วมในราคาที่เหมาะสม

news pic 22042021 BTScampaign

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และตัวแทนประชาชนร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ คัดค้านต่อสัมปทานบีทีเอสล่วงหน้า 38 ปี พร้อมเรียกร้องให้ปฏิรูประบบรถไฟฟ้า และทำระบบตั๋วร่วมในราคาที่สอดคล้องกับค่าครองชีพ

วันนี้ (22 เมษายน 2564) ที่บริเวณทางเชื่อมรถไฟฟ้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และตัวแทนประชาชนได้ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ในการคัดค้านรัฐบาล กรณีเซ็นสัญญาต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นเวลา 38 ปี โดยให้ผู้โดยสารรับภาระค่าโดยสาร 65 บาทต่อเที่ยว และเรียกร้องการปฏิรูประบบรถไฟฟ้ามวลชนและรถใต้ดินทั้งระบบให้เป็นระบบเดียว ทำระบบตั๋วร่วมใบเดียวใช้ได้ทุกสาย และในราคาที่ประชาชนทุกคนจ่ายได้ คือ 25 บาท หรือสูงสุดไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ

จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล และจากการรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนการคัดค้านรัฐบาลเซ็นสัญญาต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวกว่าแปดพันคน ของสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ข้อสรุปว่า คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดการเซ็นสัญญา ปฏิรูประบบรถไฟฟ้าทุกสายให้เป็นการขนส่งมวลชนอย่างแท้จริง ด้วยการทำระบบตั๋วร่วม และทำราคาให้ผู้โดยสารสามารถใช้บริการได้ทุกวันโดยไม่ต้องแบกภาระราคาที่ประชาชนจ่ายได้จริง

news pic 22042021 BTScampaign 2

สภาองค์กรของผู้บริโภคและ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเรียกร้องรัฐบาลให้รับฟังเสียงของส่วนรวม โดยมีข้อเสนอดังนี้

1. ยุติการต่อสัมปทานสายสีเขียว

2. หาวิธีการทำสัญญาหรือต่อสัมปทานที่เหมาะสมกับระบบขนส่งสาธารณะ ที่ให้สาธารณะชนเข้าถึงได้

3. พิจารณาข้อเสนอสภาผู้บริโภค ราคารถไฟฟ้าสีเขียว 25 บาทตลอดสาย

4. บูรณาการระบบรถไฟฟ้าทั้งระบบให้เป็นระบบเดียว ที่ไม่สร้างความยุ่งยากให้แก่ผู้ใช้

5. พิจารณาความเป็นไปได้ที่จะหารายได้จากมูลค่าที่ดินสิ่งก่อสร้างและธุรกิจรอบ ๆ สถานีรถไฟฟ้าเพื่อนำเงินมาอุดหนุนค่าใช้จ่ายของรถไฟฟ้า

ทั้งนี้ สภาฯ ผู้บริโภค และมูลนิธิฯ ยืนยันว่ารัฐบาลต้องยึดมั่นในหลักการการจัดบริการขั้นพื้นฐานที่ประชาชนเข้าถึงได้จริง ในราคาที่จ่ายได้จริงโดยคำนึงถึงค่าครองชีพของประชาชน เนื่องจากปัจจุบันมีปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนที่สูงมากอยู่แล้ว

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

(เอกสารแนบ: ความเห็นประชาชนบางส่วนจากสื่อสังคมออนไลน์)

“ใช้เงินภาษีจากคนทั้งประเทศเป็นหลายแสนล้านบาทลงทุนสร้างให้คนเพียงร้อยละ 2.86% ที่มีกำลังซื้อได้ใช้ เพราะไม่ควบคุมราคาให้ถูกที่คนส่วนใหญ่สามารถใช้บริการได้โดยไม่เดือดร้อน คือไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำใน 1 วัน" - กมล กมลตระกูล

“ราคาควรจะให้ประชาชนเข้าถึงมากกว่า​นี้ค่ะ” - ปอน ศิริลักษณ์

“โคตรแพงเทียบกับค่าแรงมาตรฐาน” - ชาติชาย วัฒนา

“เห็นด้วยว่าการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับสัญญา BTS ควรต้องเอาข้อเท็จจริงทั้งหมดมาพิจารณา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทางราชการและประชาชนผู้ใช้บริการ... รัฐบาลต้องไม่ลืมว่า เงินลงทุนทุกบาททุกสตางค์ที่ทางราชการได้ร่วมลงทุนไปกับ BTS ไม่ว่าโดยวิธีหรือรูปแบบใดก็ตาม ล้วนเป็นเงินที่มาจากภาษีของประชาชนทั้งสิ้น ดังนั้น ประชาชนจึงมีสิทธิโดยชอบธรรมที่ต้องได้ร่วมรับรู้และเห็นชอบกับการดำเนินการใดๆที่รัฐบาลจะทำหรือจะอนุมัติ ที่เกี่ยวกับโครงการ BTS ด้วยทั้งหมดทุกขั้นตอน” - ประพัฒน์ จงสงวน

“ต่อไปโครงการใหญ่ก่อนเซ็นสัญญารัฐควรเปิดเผยให้ ปชช.รู้ก่อนมั้ย เบื่อต้องมาโง่ไปกับรัฐทีหลังอีกแล้ว” - Takol Wo

“65 บาท ไม่เอา ต้อง 25 บาท เท่านั้น” - สมาคมเพื่อนโรคไต

 

 

Tags: รถไฟฟ้า, BTS , มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มพบ., สภาองค์กรของผู้บริโภค, บีทีเอส, รถไฟฟ้าขึ้นราคา, รถไฟฟ้าบีทีเอส, ค่ารถไฟฟ้าแพง, รถไฟฟ้าสายสีเขียว, ค่าโดยสารรถไฟฟ้า

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน