สภาฯ ผู้บริโภค เสนอเดินหน้านโยบายขนส่งมวลชนทุกคนขึ้นได้ ในวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย

news pic 29042021 THconsumerprotectionday coverสภาองค์กรของผู้บริโภค ยืนยันรถไฟฟ้า 25 บาททำได้จริง หวังประชาชนใช้กลไกสภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นตัวแทนผู้บริโภคในทุกด้าน พร้อมเสนอเดินหน้านโยบายขนส่งมวลชนทุกคนขึ้นได้ มีความเป็นธรรม ปลอดภัยทั่วประเทศ ในวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย

วันนี้ (29 เมษายน 2564) สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผู้แทนองค์กรผู้บริโภค ผู้แทนเครือข่าย 9 ด้าน ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้หญิง แรงงาน เกษตรกร ชุมชนแออัด ผู้ป่วยเรื้อรัง ชนเผ่า คนพิการ ผู้แทนเครือข่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่ ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชนอื่น ๆ ผู้แทนเครือข่ายนักวิชาการ จัดประชุมผ่านระบบออนไลน์ เนื่องในโอกาสวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย (30 เมษายน ของทุกปี) ในหัวข้อ “ผู้บริโภคจะได้รับการคุ้มครองเรื่องขนส่งมวลชนอย่างไร?” จากเวทีดังกล่าว ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่มองว่าการออกแบบเมืองทำให้คนส่วนใหญ่อยู่นอกเมืองมากขึ้น รวมถึงยังมีการบริการขนส่งมวลชนที่จำกัดและราคาแพง ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงต่อวันในการใช้บริการขนส่งมวลชน สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลให้คุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในบริการขนส่งมวลชน ดังนี้

1. บริการขนส่งมวลชน เป็นบริการสาธารณะ และ เป็นสิทธิของประชาชนที่ทุกคนต้องขึ้นได้ รวมทั้งยุติการแบ่งชนชั้นในการใช้บริการขนส่งมวลชน พร้อมปรับปรุงให้ขนส่งมวลชนแต่ละประเภทสนับสนุนกันและกันในการให้บริการแบบไร้รอยต่อ รวมถึงพัฒนาทางเท้าที่สะดวกสามารถเดินได้จริงในทุกพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานของบริการขนส่งมวลชนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

2. เสนอรัฐบาลจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้สอดคล้องกับความต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น การศึกษา การสาธารณสุข การขนส่งมวลชน โดยขอให้รัฐบาลสร้างถนนเท่าที่จำเป็น และนำเงินเหล่านั้นมาใช้ในการปรับปรุงบริการขนส่งมวลชนให้เชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในทุกจังหวัด และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดตั้งแต่คนออกจากบ้านจนถึงใช้บริการขนส่งมวลชน

3. เร่งดำเนินการให้มีรถบริการขนส่งมวลชนครอบคลุมทั่วประเทศ ที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน มีความปลอดภัย สะอาด เป็นธรรม มีอุปกรณ์ป้องกันไฟไหม้ และเร่งจัดการรถตู้โดยสารที่หมดอายุหรือเกิน 10 ปี รวมทั้งดำเนินการกับรถจักรยานยนต์ที่ไม่มีหมวกกันน็อคให้ผู้โดยสาร ทำให้รถเมล์จอดตรงป้ายเทียบฟุตบาท และจัดการรถเมล์ที่จอดเลนที่สอง นอกจากนี้ในเรื่องการบริการนั้นก็ควรเร่งดำเนินด้วยเช่นเดียวกัน อาทิ ผู้ให้บริการรถโดยสารสาธารณะมีจิตใจให้บริการ รวมถึงมีคุณภาพในการบริการสำหรับกลุ่มเฉพาะ เช่น คนพิการ ผู้สูงอายุ

4. เร่งดำเนินการบัตรใบเดียวใช้กับบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท เช่น รถเมล์ รถตู้ รถไฟฟ้า และต้องดำเนินการทั่วประเทศ รวมทั้งสนับสนุนราคารถไฟฟ้า 25 บาทตลอดสาย เสนอยุติการต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้ารถไฟฟ้าสีเขียว เพื่อทำให้ราคา 25 บาท เป็นได้จริง โดยมีเหตุผลรองรับอย่างน้อย 3 ประการ               

4.1 จากตัวเลขของกระทรวงคมนาคมที่ได้เสนอราคาของระบบสายสีเขียวอยู่ที่ 49.83 บาทต่อเที่ยว ซึ่งจะทำให้สายสีเขียวนี้มีกำไรถึง 380,200 ล้านบาทเมื่อหมดสัมปทานในปี 2602 สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอให้ลดค่าโดยสารลงร้อยละ 50 คือ 25 บาทต่อเที่ยว ยังทำให้ กทม. มีกำไรสูงถึง 23,200 ล้านบาท                

4.2 รายได้สายสีเขียวที่ใช้ในการคำนวณเพื่อต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้าเพียง 30,000 ล้านบาทต่อปี แต่จากรายงานประจำปี 2562 ของบริษัท พบว่า บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงาน 39,937 ล้านบาท จากการขนส่ง 32,076 ล้านบาท จากสื่อโฆษณา 5,735 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน 8,817 ล้านบาท

4.3 ล่าสุด นักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้คำนวณต้นทุนการเดินรถไฟฟ้าต่อคนต่อเที่ยว ไม่เกิน 17.01 บาทเท่านั้น         

5. ส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ได้มีส่วนร่วมในการจัดบริการขนส่งมวลชนในทุกประเภท ทุกระดับ หรือ การจัดทำความเชื่อมโยงของบริการขนส่งมวลชนในทุกด้านทุกระบบทุกประเภท รวมถึงการมีส่วนร่วมในการจัดทำสัญญาสัมปทานของรัฐกับเอกชนที่ปัจจุบันไม่เปิดเผยข้อมูล ไม่โปร่งใส ไม่มีส่วนร่วมและสร้างภาระให้กับผู้บริโภค

และ 6. ขอให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคและจัดการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น การปฏิเสธผู้โดยสารของแทกซี่มิเตอร์ การดำเนินการเมื่อมีการคุกคามทางเพศในบริการขนส่งมวลชน รวมทั้งจัดให้มีบริการที่จำเป็นในบริการขนส่งมวลชน เช่น ห้องน้ำที่สะอาดปลอดภัยให้ประชาชนที่ท่าเรือ สถานีรถไฟ และรถไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพของประชาชน

วันคุ้มครองผู้บริโภคปีนี้จึงถือเป็นเหตุพิเศษ เพราะเป็นปีที่ประเทศไทยมีกลไกที่สำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภคโดยผู้บริโภคของผู้บริโภคได้เกิดขึ้น คือ สภาองค์กรของผู้บริโภค ที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนผู้บริโภคที่กำหนดไว้ในมาตรา 14 ให้สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นตัวแทนผู้แทนผู้บริโภคและมีอำนาจคุ้มครองพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน รวมทั้งเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

ท้ายที่สุด ขอส่งกำลังใจให้กับทุกคน ทุกครอบครัว ที่ประสบความทุกข์จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด - 19 ในรอบที่สามนี้ จึงขอถือโอกาสนี้แสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้ที่เสียชีวิตทั้งหมดและขอให้ทุกคนปลอดภัยจากการระบาดของเชื้อโควิด - 19

Tags: รถไฟฟ้า, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, สภาองค์กรของผู้บริโภค, บริการสาธารณะ, ผู้บริโภค, โควิด19, วันคุ้มครองผู้บริโภคไทย, โควิด, ขนส่งมวลชน, รถเมล์, ขนส่งมวลชนทุกคนขึ้นได้, เรือ

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน