มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอคมนาคม ทบทวนค่าโดยสารรถเมล์

news pic 01032021 bus

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอคมนาคมทบทวนค่าโดยสารรถเมล์ ชี้เหมาจ่าย 30 บาทต่อวัน ต้องขึ้นได้ทั้ง ขสมก. และรถร่วมเอกชน พร้อมเสนอหยุดเก็บค่าทางด่วนลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค

         จากกรณีปัญหาการอนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการเดินรถขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ยังไม่มีข้อยุติ ซึ่งมีข้อทักท้วงจากกระทรวงมหาดไทยและผู้บริโภค ถึงประเด็นการกำหนดค่าโดยสารอัตรา 30 บาทต่อคนต่อวัน ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มผู้ใช้บริการที่เสียค่าโดยสารต่อวันน้อยกว่า 30 บาท แม้ต่อมากระทรวงคมนาคมจะชี้แจงว่ามีแนวทางเบื้องต้นที่กำหนดตั๋วเที่ยวเดียวในราคา 15 บาทไว้แล้ว แต่อัตราดังกล่าวก็ยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันนั้น

          คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า อัตราค่าโดยสารรถเมล์ในปัจจุบันที่กำหนดตามมติคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง ครั้งที่ 10/2561 ถือเป็นอัตราค่าบริการที่แพงและสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะรถเมล์ปรับอากาศ (สีฟ้า) ที่เรียกเก็บค่าโดยสารแบบเหมาจ่ายตามระยะทางในอัตรา 15 - 20 - 25 บาท ยิ่งไปกว่านั้นสำหรับผู้บริโภคที่ใช้รถเมล์ทางด่วนยังต้องเสียบริการทางด่วนเพิ่มอีก 2 บาท รวมแล้วหากต้องใช้รถเมล์ทางด่วนไปกลับจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากถึง 54 บาทต่อวัน ยังไม่รวมค่าเดินทางด้วยบริการขนส่งมวลชนประเภทอื่น อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเสียงสะท้อนถึงความเดือดร้อนจากผู้บริโภค แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาราคาค่าโดยสาร โดยเฉพาะประเด็นค่าทางด่วนสำหรับรถเมล์ควรเป็นภาระของรัฐที่ต้องสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เพราะ ขสมก. ก็ได้ประโยชน์ในการลดต้นทุนการเดินทางอยู่แล้ว

          “นอกจากปัญหาค่าโดยสารแพงแล้ว ยังพบปัญหาการเอาเปรียบซ้ำเติมผู้บริโภค ในช่วงวันที่ 10 ธันวาคม 2563 และ 26 กุมภาพันธ์ 2564 ที่รัฐบาลมีมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนโดยงดเว้นการเก็บค่าบริการทางด่วน รวมถึงรถเมล์ที่ใช้ทางด่วนให้ขึ้นฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ผู้บริโภคที่ใช้บริการรถเมล์ทางด่วนกลับต้องจ่ายค่าบริการทางด่วนเพิ่มจากค่าโดยสารอยู่เช่นเดิม จึงอยากถามไปยังกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก และ ขสมก. ว่า เมื่อรถเมล์ ขสมก. ได้สิทธิยกเว้นค่าผ่านทางด่วนเหมือนรถยนต์ทุกคันในวันดังกล่าว แต่ทำไมผู้โดยสารรถเมล์ต้องจ่ายค่าทางด่วนอยู่เช่นเดิม เรื่องนี้อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เป็นสิทธิผู้บริโภคที่ทุกคนต้องได้รับความคุ้มครอง” คงศักดิ์ กล่าว

          ผู้ประสานงานโครงการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม กล่าวถึงประเด็นแผนฟื้นฟู ขสมก. อีกว่า มูลนิธิฯ เห็นด้วยกับนโยบายตั๋วเหมาจ่ายต่อวัน แต่หากจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคที่ใช้บริการและส่งเสริมให้ทุกคนใช้ขนส่งมวลชนมากขึ้น มองว่า ตั๋วเหมาจ่ายต่อวัน 30 บาท ต้องใช้ได้ทั้งรถเมล์ ขสมก. และ รถร่วมบริการ ส่วนตั๋ววันเที่ยวเดียวควรยึดหลักราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้จริงในอัตราค่าโดยสาร 10 บาท และที่สำคัญต้องหยุดเก็บค่าทางด่วนเพิ่มเติมจากค่าโดยสารกับผู้บริโภค เพราะรถเมล์ คือ หัวใจหลักของการเดินทางในเขตเมือง และปริมณฑลเพื่อเชื่อมต่อกับระบบขนส่งประเภทต่าง ๆ ซึ่งการที่ ขสมก. เป็นบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดให้กับประชาชน ดังนั้น การคิดอัตราค่าโดยสารและการพัฒนาคุณภาพบริการรถเมล์จึงจำเป็นต้องคิดให้เป็นระบบและครอบคลุมกลุ่มผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐในการส่งเสริม และสนับสนุนให้ทุกคนเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนให้เพิ่มขึ้นอย่างปลอดภัยและเป็นธรรม

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, ผู้บริโภค, รถเมล์, ขสมก, รถร่วมเอกชน, ค่าโดยสารรถเมล์

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน