วงเสวนา ชี้ สื่อมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเรื่องราคารถไฟฟ้า

S 34553915

วงเสวนา ชี้ สื่อมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเรื่องรถไฟฟ้า ด้านสภาองค์กรผู้บริโภคยัน ราคารถไฟฟ้าสายสีเขียว 25 บาททำได้จริง

            วันนี้ 16 มีนาคม 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จัดเวทีเสวนา ‘บทบาทสื่อกับการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีราคารถไฟฟ้าที่เหมาะสม’ ที่โรงแรมทีเค พาเลซ คอนเวนชั่น แจ้งวัฒนะ

           สว่าง ศรีสม ประธานฝ่ายโครงการและแผนงาน ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ กล่าวว่า ตัวเองเป็นผู้พิการที่ใช้รถเข็นวีลแชร์ ทำให้พบปัญหาในการใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ เช่น สมัยก่อนยังไม่มีลิฟต์ตรงสถานีรถไฟฟ้า ทำให้ต้องใช้บริการแท็กซี่เป็นหลัก รายจ่ายส่วนใหญ่จึงใช้ไปกับการเดินทาง ดังนั้น จึงต่อสู้จน กทม. ปรับปรุงจนมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ  

           อย่างไรก็ตาม สว่าง ศรีสม แสดงความเห็นว่า ผู้พิการอาจจะไม่ได้มีปัญหาเรื่องราคามากนัก เนื่องจากเคยต้องจ่ายค่าเดินทางในราคาที่แพงกว่านี้มาก แต่เห็นด้วยว่าควรปรับราคาให้เหมาะสม ซึ่งเกณฑ์ที่ควรจะนำมาใช้ในการกำหนดราคารถไฟฟ้าคือค่าแรงขั้นต่ำ เท่าที่ศึกษามาก็ไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ นอกจากนี้ มองว่าสื่อต้องช่วยกันผลักดันเรื่องสิทธิต่าง ๆ ทั้งเรื่องค่ารถไฟฟ้า ทางเท้า สะพานลอย หรือระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ เพื่อให้คุณภาพชีวิตของทุกคนดีขึ้น

           ด้านฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ เดอะรีพอตเตอร์ส ต้องยอมรับว่าเรื่องเกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภคสื่อให้ความสนใจน้อย ชนชั้นกลาง ดังนั้นการที่ค่าโดยสารราคาสูงขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก แม้ว่าปัจจุบันราคารถไฟฟ้าราคารถไฟฟ้าจะยังไม่ถูกปรับขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสนใจ ออกมาเรียกร้อง และสะท้อนปัญหาที่เกิด เพื่อให้มีระบบขนส่งมวลชนที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

           “สื่อต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เป็นประเด็นสาธารณะ เพราะมันเป็นประโยชน์ของส่วนรวม อย่ามัวแต่นึกว่าถ้าเราทำข่าวนี้แล้วคนจะสนใจไหม ได้ยอดไลก์เท่าไหร่ แต่เราควรจะผลักดันประเด็นเหล่านี้ให้กลายเป็นสิ่งที่คนสนใจให้ได้ ทั้งนี้ ต้องใช้ความร่วมมือจากนักข่าวหลายๆ สาย เช่น นักข่าวสายการเมืองไปสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับเรื่องรถไฟฟ้า นักข่าวสายผู้บริโภคก็ไปสัมภาษณ์ผู้บริโภคในประเด็นดังกล่าว เพื่อตีแผ่เรื่องนี้ในหลายแง่มุม” ฐปณีย์กล่าว

           กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ดำเนินรายการวิทยุเช้าทันโลก FM 96.5 ระบุว่า สมัยก่อนเวลาสื่อนำเสนอเรื่องบริการสาธารณะ เช่น ค่ารถไฟฟ้า ค่าทางด่วน ก็จะพูดถึงเรื่องสัมปทานต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่อธิบายค่อนข้างยากและมีข้อจำกัดในการนำเสนอเนื่องจาก บริษัทนายทุนเหล่านั้นเข้าไปซื้อโฆษณาในหน้าสื่อ นอกจากนี้ คนจำนวนไม่น้อยมักมองว่าเรื่องดังกล่าวเกินความสามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้ ดังนั้น หากต้องการจะผลักดันเรื่องราคารถไฟฟ้า หน้าที่ขององค์กรผู้บริโภคคือผลิตชุดข้อมูลที่รอบด้านเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลเหล่านั้นให้ประขาชนได้รับรู้ ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย

           สารี  อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ยืนยัน ราคารถไฟฟ้าสายสีเขียส 25 บาททำได้จริง โดยอ้างอิงจากข้อมูลนำเสนอในการประชุมกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคิดราคารถไฟฟ้าตั้งต้น 49.83 บาท เมื่อคำนวณโดยลดรายได้รวมลงครึ่งหนึ่ง คือคิดราคาค่ารถไฟฟ้า 25 บาท พบว่ายังมีกำไรหรือเงินส่งคืนรัฐถึง 23,200 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนควรได้รู้ และจากเวทีเสวนาในวันนี้สะท้อนให้เห็นว่าสื่อสามารถนำเรื่องรถไฟฟ้าไปเจาะลึกหรือตีแผ่ได้ในหลายแง่มุม ดังนั้น สื่อควรเป็นผู้นำที่ทำให้ประชาชนเห็นว่าเราควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ได้

S 34553922

           ศ.ดร. พิรงรอง รามสูตร อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า เรื่องความโปร่งใสและการเข้าถึงข้อมูลเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการทำงานสื่อในปัจจุบัน เคยมีเปรียบเทียบว่า สื่อเป็นเสมือนกระจกของสังคม แต่จะเป็นกระจกของใครก็ขึ้นอยู่กับว่าเราไปสัมภาษณ์ใคร สิ่งที่สื่อได้มาคือชุดความจริง ซึ่งชุดความจริงของแต่ละฝ่ายก็อาจแต่ต่างกันไป ถ้าหากสื่อรู้ไม่เท่าทันก็อาจกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงต้องมองข้อมูลให้รอบด้าน ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าราคารถไฟฟ้าเป็นเรื่องปลายทาง แต่สื่อควรทำให้ประชาชนเห็นถึงกระบวนการระหว่างทางที่ไม่ชอบมาพากล และสะท้อนเรื่องสิทธิของประชาชนที่ถูกละเลย และถูกละเมิดออกมาให้ได้

           ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ปัจจุบันบทบาทของสื่อหลักเปลี่ยนไป และมีข้อจำกัดในเรื่องทรัพยากร เงินทุน หรืออะไรต่างๆ ดังนั้น สื่อจึงมักจะเลือกนำเสนอประเด็นที่มีประชาชนจำนวนมากพูดถึง อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องระบบขนส่งมวลชนก็เป็นเรื่องที่ประชาชนควรทราบ ดังนั้นสื่อจึงควรนำเสนอเรื่องดังกล่าวทั้งประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และข้อมูลเกี่ยวกับระบบขนส่งสาธารณะในต่างประเทศ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและตระหนักในเรื่องดังกล่าว

 

ติดตามรายเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : เวทีเสวนา 'บทบาทสื่อกับการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีราคารถไฟฟ้าที่เหมาะสม'

Tags: รถไฟฟ้า, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มพบ., บีทีเอส, รถไฟฟ้าขึ้นราคา, รถไฟฟ้าบีทีเอส, ค่ารถไฟฟ้าแพง, รถไฟฟ้าสายสีเขียว, สื่อกับการคุ้มครองผู้บริโภค

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน