สภาองค์กรของผู้บริโภค ขอบคุณรัฐบาล สั่ง กทม. เลื่อนและทบทวนการเก็บค่ารถไฟฟ้า 104 บาท พร้อมเปิด 6 ข้อเสนอ แก้ไขปัญหาราคารถไฟฟ้าแพง
จากกรณีที่กรุงเทพมหานครประกาศขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นสูงสุด 104 บาท เมื่อประมาณกลางเดือนมกราคมและจะเริ่มเก็บค่าโดยสารในอัตราใหม่ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป นำไปสู่การคัดค้านการขึ้นค่าโดยสารจากหลายฝ่ายทั้งกระทรวงคมนาคม กรมราง นักวิชาการ รวมถึงภาคประชาชน กระทั่งเมื่อวาน (8 กุมภาพันธ์ 2564) ครม. ได้มีมติให้ กทม. เลื่อนการขึ้นราคาออกไปก่อน และกลับไปพิจารณาทบทวนอัตราค่าโดยสารใหม่อีกครั้ง โดยให้คำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และภาระของกรุงเทพมหานคร ให้เกิดความเหมาะสมในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 จนทำให้ กทม. ออกประกาศเลื่อนการขึ้นราคารถไฟฟ้าสายสีเขียว นั้น
สภาองค์กรของผู้บริโภค ต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ให้นโยบายสั่งเลื่อนการเก็บค่าโดยสาร 104 บาท เนื่องจากการกำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายของผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เป็นราคาที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ กำหนดราคาแต่เพียงลำพัง ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นขององค์กรผู้บริโภค หน่วยงานต่างๆ หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ รวมทั้งขัดต่อกฎหมายมาตรา 96 ว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ที่กำหนดไว้ว่า ในกรณีจำเป็น กรุงเทพมหานครอาจมอบอำนาจให้เอกชนกระทำกิจการ ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครและเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบริการหรือค่าตอบแทนที่เกี่ยวข้องแทนกรุงเทพมหานครได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสียก่อน
ประชาชน ผู้บริโภค มีข้อกังขาเกี่ยวกับสัญญาที่เสียเปรียบของกรุงเทพมหานครในการจ้างเดินรถ จนทำให้เป็นหนี้ที่มากกว่าควรจะเป็นและไม่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาสถานีรถไฟฟ้า การโฆษณาบนรถไฟฟ้า เพื่อนำมาใช้ในการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า
สภาองค์กรของผู้บริโภค ตระหนักถึงภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคและวิกฤติสภาพอากาศ (PM 2.5) ขอให้รัฐมีมาตรการราคาที่เข้าถึงได้ทุกคน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น ทำให้บริการรถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนของประชาชนทุกคน โดยปัจจุบันคนส่วนใหญ่เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว 43% ใช้รถมอเตอร์ไซต์ 26% และใช้บริการรถขนส่งสาธารณะเพียง 24% จากรถโดยสาร 15.96% รถแทกซี่ 4.2% ระบบรางหรือรถไฟฟ้า เพียง 2.68% รถตู้ 1.28% เรือ 0.28% จึงขอเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ในการใช้บริการรถไฟฟ้าต่อฯพณฯนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี โดยมีข้อเสนอระยะสั้นและระยะยาวดังนี้
ข้อเสนอเร่งด่วน
1. ขอให้นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กรุงเทพมหานครเปิดเผยสัญญาการให้บริการรับจ้างวิ่งรับส่งผู้โดยสารในส่วนต่อขยายที่เกินสัญญาสัมปทานหลัก และยืนยันการเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายทุกเส้นตลอดสายอีกเพียง 15 บาท รวมไม่เกิน 59 บาท(44 บาทตามสัญญาสัมปทานเดิมและส่วนต่อขยาย 15 บาท) พร้อมเปิดเผยข้อมูล ข้อเท็จจริง พื้นฐานรายได้ โครงสร้างหนี้ หรือ รายละเอียดกับสภาองค์กรของผู้บริโภค หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น การพิจารณาต่อสัญญาสัมปทานหลักสายสีเขียว หรือ สัญญาการให้บริการรับจ้างวิ่งรับส่งผู้โดยสารในส่วนต่อขยายที่เกินสัญญาสัมปทานหลัก หรือ การขึ้นราคาในส่วนต่อขยาย เป็นต้น
2. ขอให้กำหนดเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ว่า บริการรถไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของบริการขนส่งมวลชนที่ทุกคนต้องขึ้นได้ และเร่งดำเนินการให้มีการกำหนดราคาที่เป็นธรรมกับผู้บริโภค โดยกำหนดค่าบริการขนส่งมวลชน ไม่เกินร้อยละ 10% ของรายได้ขั้นต่ำหรือเพดานค่าใช้จ่ายสูงสุดในการใช้บริการขนส่งมวลชนต่อวันของประชาชน ในการดำเนินดังกล่าวขอให้นายกรัฐมนตรีตั้งคณะทำงานที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยต้องมีเป้าหมายในการกำหนดราคาสูงสุดของบริการรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อทั้งระบบ เนื่องจากปัจจุบันมีรถไฟฟ้าให้บริการจำนวน 6 สาย และจะมีทั้งหมดไม่น้อยกว่า 14 สายในอนาคต
3. ขอให้ชะลอการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสีเขียวและสายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อเร่งกำหนดราคาสูงสุดในการใช้บริการรถไฟฟ้าในการเดินทาง เพราะหากไม่มีการดำเนินการใดๆ ผู้บริโภคต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงถึง 107 บาท หากต้องการเดินทางจากบางใหญ่มายังสยามสแควร์ในปัจจุบัน หรือถึงแม้รัฐบาลจะยกเว้นค่าบริการแรกเข้าในการใช้บริการรถไฟฟ้าในอนาคต ค่าบริการรถไฟฟ้าก็ยังมีราคาแพง เช่น สูงถึง 99 บาทจากมีนบุรีมายังสยามสแควร์
ข้อเสนอระยะยาว
1. ขอให้คิดค่าโดยสารตลอดสายไปกลับไม่เกิน 33 บาทต่อวัน หรือร้อยละ 10 ของรายได้ขั้นต่ำต่อวันและมีการบริหารจัดการตั๋วร่วมของรถไฟฟ้า
2. ขอให้เร่งดำเนินการการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมของบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท ได้แก่ บริการรถไฟฟ้า รถเมล์ เรือโดยสาร เป็นต้น
3. ขอให้เร่งดำเนินการกำหนดค่าโดยสารสูงสุดต่อวันของทั้งระบบบริการขนส่งมวลชน ได้แก่ บริการรถไฟฟ้า รถเมล์ เรือโดยสาร เป็นต้น
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
- สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิด 6 ข้อเสนอแก้ปัญหารถไฟฟ้าแพง แนะรัฐทบทวนสัญญาสัมปทานทุกสาย
- สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิด 6 ข้อเสนอแก้ปัญหารถไฟฟ้าแพง แนะรัฐทบทวนสัญญาสัมปทานทุกสาย (ต่อ)