1.เหตุที่ต้องฟ้องคดี
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำตัดสินในคดีที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นางสาวรสนา โตสิตระกูล นางสาวสายรุ้ง ทองปลอน นางภินันทน์ โชติรสเศรณี และนางสาวบุญยืน ศิริธรรม ได้ยื่นฟ้อง คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ บริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) ต่อศาลปกครองสูงสุดและขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2544 ซึ่งเกี่ยวกับการแปลงสภาพการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542
ในวันนั้นศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่า “ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ส่วนคำขอตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งห้า ที่ขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2544 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 นั้นให้ยก”
แม้ว่าคำพิพากษาจะส่งผลให้บมจ.ปตท ไม่ถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่จะต้องโอนคืนที่ดินและระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่มีการก่อสร้างขึ้นก่อนการแปรรูป ปตท. เมื่อปลายปี 2544 ให้กับกระทรวงการคลัง โดยยังมีสิทธิในการใช้ท่อส่งก๊าซแต่ต้องจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายได้แผ่นดินตามที่กระทรวงการคลังกำหนด หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาได้ 4 วัน คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ 18 ธันวาคม 2550 ให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง ดำเนินการเรียกคืนทรัพย์สินจาก บมจ.ปตท. โดยให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ตรวจสอบความถูกต้อง และให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ชี้ขาดข้อโต้แย้งที่หากจะมีขึ้น
ต่อมา บมจ.ปตท. ได้ทำการโอนมอบทรัพย์สินให้กระทรวงการคลังมีมูลค่าประมาณ 15,139 ล้านบาท ประกอบไปด้วยที่ดินที่การปิโตรเลียมฯ ได้มาโดยการใช้อำนาจเวรคืนและได้โอนให้กับ บมจ. ปตท. จำนวน 32 ไร่ มูลค่า 7 ล้านบาท, สิทธิเหนือที่ดินเอกชนมูลค่า 1,124 ล้านบาทและทรัพย์สินที่เป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ที่ประกอบกันเป็นระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ส่วนที่เป็นท่อก๊าซเส้นที่ 1 และ 2 เฉพาะส่วนที่อยู่บนบก มูลค่า 14,008 ล้านบาท ส่วนท่อเส้น 1 และ 2 ที่อยู่ใต้น้ำ (บริเวณอ่าวไทย) และท่อเส้นที่ 3 ทั้งบนบกและในน้ำไม่ยอมโอนคืนให้ก็ให้สิทธิ ปตท. ได้ใช้ท่อต่อไปโดยคิดค่าเช่าท่อก๊าซทั้งหมด 30 ปี จำนวน 8,800 ล้านบาท ให้ทยอยจ่ายปีละ 200 กว่าล้านบาท
หลังการโอนคืนทรัพย์สิน บมจ.ปตท ได้รายงานต่อศาลปกครองว่าคืนทรัพย์สินครบถ้วนแล้ว ซึ่งศาลมีคำสั่งคำร้องว่า ผู้เกี่ยวข้องได้ดำเนินการคืนทรัพย์สินตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว เมื่อ 26 ธ.ค.2551 แต่ สตง.มีรายงานว่า คืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วน เพราะ บมจ.ปตท.ต้องคืน ระบบท่อก๊าซที่สร้างก่อนการแปรรูปทั้งหมด แต่ บมจ.ปตท.คืนให้บางส่วนเฉพาะ 3 โครงการที่กล่าวถึงในคำพิพากษาเท่านั้น แต่กระทรวงการคลังในฐานะผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินกลับไม่พยายามติดตามทวงคืนเลย และอ้างแต่คำสั่งศาลปกครองที่ออกมาเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2551 ว่าได้มีการส่งคืนทรัพย์สินครบถ้วนแล้ว และยอมไม่ส่งเรื่องให้กฤษฎีกา ขณะที่กฤษฎีกาเองก็แจ้งว่าต้องให้ศาลชี้ขาด จึงเท่ากับว่า กระทรวงการคลังซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐไม่ปฏิบัติหน้าที่ และไม่มีทางอื่นจึงต้องให้ศาลมีคำพิพากษาให้เจ้าพนักงานปฏิบัติ
2. ใครสามารถเป็นผู้ฟ้องคดีได้บ้าง
ผู้ริเริ่มฟ้องคดีนี้คือ 1. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 2. น.ส.รสนา โตสิตระกูล 3.น.ส.สารี อ๋องสมหวัง(เป็นผู้ฟ้องในคดีขอให้เพิกถอนการแปรรูป ปตท.) ทั้งนี้ ประชาชนในฐานะผู้ใช้ไฟฟ้าและใช้ก๊าซมีสิทธิในการฟ้องคดีได้ ซึ่งสิทธิในการฟ้องคดีนี้คือ (1) เป็นคดีเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ และ(2) เป็นผู้ใช้ก๊าซ ใช้ไฟฟ้า ที่ต้องเสียค่าผ่านท่อทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านทางค่าก๊าซและค่าไฟฟ้า
3. เราจะฟ้องกับใคร
เราจะฟ้องกับศาลปกครองสูงสุด โดยกำหนดนัดหมายยื่นฟ้องในวันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2555 เวลาประมาณ 11.00 น.
4. เราจะฟ้องใคร
ผู้ถูกฟ้องประกอบด้วย 1. คณะรัฐมนตรี 2. นายกรัฐมนตรี 3. กระทรวงพลังงาน 4. บมจ.ปตท. และ 5. กระทรวงการคลัง
6. เราฟ้องเพื่ออะไร
เราฟ้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้งหมดร่วมกันดำเนินการติดตามท่อก๊าซบนบก และในทะเล ที่มีก่อน 1 ตุลาคม 2544 ทั้งหมด + ท่อก๊าซเส้นที่ 3 ส่วนที่อยู่ในทะเล (เริ่มดำเนินการปี 2550 แต่วางท่อในทะเลก่อนการแปรสภาพ) เพราะมีหนังสือโต้ตอบระหว่างกระทรวงการคลัง กับ สตง. กล่าวถึง มูลค่าประมาณ 47,664 ล้านบาท
7. หากเราไม่ฟ้อง จะมีความเสียหายอย่างไร
(1) รัฐขาดรายได้ จากค่าผ่านท่อก๊าซที่ บจม.ปตท.ได้รับประมาณปีละประมาณ 23,000 ล้านบาท แต่รัฐได้ค่าเช่าเท่าส่วนที่ บมจ.ปตท คืนเพียง 180-550 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น
(2) บมจ.ปตท.ผูกขาดการค้าก๊าซธรรมชาติทำให้ไม่เกิดการกลไกตลาด ผู้บริโภคจึงต้องใช้ก๊าซในราคาที่ไม่มีการแข่งขัน รัฐบาลขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 84 (5)
(3) บมจ.ปตท. ได้โอกาสที่จะประเมินมูลค่าท่อก๊าซใหม่แล้วขึ้นราคาค่าผ่านท่อโดยไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค ทั้งๆที่ไม่ได้ลงทุนเอง (เพราะสร้างสมัยเป็น ปตท.ใช้เงินภาษีสร้าง)