วันนี้ (16 กพ. 58) ที่ศูนย์บริการประชาชน เมื่อเวลา 11.00 น. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย นําโดย มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อํานวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต พร้อมด้วยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์อดีตโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค และนายศตวรรษ เศรษฐกร ดารานักแสดง ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อเรียกร้องต่อแนวทางขยายเวลาการยื่นแสดงจํานงสํารวจและผลิตปิโตรเลียมและข้อเรียกร้องต่อแนวทางการจัดเวทีกลางถกสัมปทานรอบที่ 21 โดยมี พลเอก สกล ชื่นตระกูล ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเป็นผู้ออกมารับหนังสือ
โดยพลเอก สกล ชื่นตระกูล ได้กล่าวกับเครือข่ายประชาชนว่า จะนําข้อมูลที่ยื่นเข้ามาในวันนี้เข้าหารือกับนายกรัฐมนตรีและคณะ ที่จะมีประชุมวันนี้เวลา 14.00 น. หากพบว่าข้อมูลทั้งสองฝ่ายไม่ตรงกันจะเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายมาหารือร่วมกันอีกครั้ง ในวันที่ 20 กพ. นี้
ด้านนายอิฐบูรณ์กล่าาว่า ตามที่รัฐบาลได้แถลงข่าวในวันที่15 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า จะเปิดเวทีกลางถกสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ในวันที่ 20 ก.พ. และจะขยายเวลาการยื่นแสดงความจํานงสํารวจและผลิตปิโตรเลียมหรือขยายเวลาการรับซองขอสัมปทานปิโตรเลียมออกไปก่อนโดยมิได้ประกาศยกเลิกการรับยื่นซองขอสัมปทานนั้น ทางเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยขอขอบคุณพระคุณรัฐบาลที่ได้มีความห่วงใยต่อข้อเรียกร้องของประชาชน และขอสนับสนุนนความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่จะสร้างความมั่นคงทางพลังงานบนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้อง และมีความประสงค์ที่จะส่งตัวแทนเข้าร่วมเวทีกลางที่รัฐบาลจัดขึ้น
ทั้งนี้ในหนังสือที่ยื่นในวันนี้ได้ระบุรายละเอียดว่า ตามที่รัฐบาลได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2558 ถึงกรณีการเรียกร้องให้ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย โดยแจ้งว่าจะมีการดําเนินการ 2 ประการคือ 1.การขยายเวลาการยื่นแสดงจํานงสํารวจและผลิตปิโตรเลียมออกไปก่อน โดยยังมิได้กําหนดเวลา และให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมและจะประกาศต่อสาธารณะต่อไป
2. การจะจัดให้มีเวทีกลางโดยเชิญทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายกระทรวงพลังงาน ฝ่ายผู้ที่ยังมีข้อห่วงใย นักวิชากร ประชาชน รวมถึงนักลงทุน มาชี้แจงพร้อมกัน ในประเด็นที่ยังมีข้อสงสัย เพื่อเป็นการให้ข้อมูลกับรัฐบาล สภานิติบัญญัติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และประชาชนทุกภาคส่วน โดยจะเปิดเวทีกลางถกสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ในวันที่ 20 กพ. 2558 นั้น
แต่ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดําเนินการตามข้อเรียกร้องของประชาชนที่ขอให้ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และเพื่อการสร้างบรรยากาศที่แสดงถึงความเป็นกลางของรัฐบาลในการจัดเวที และต่อกระบวนการให้สิทธิในการสํารวจและผลิตปิโตรเลียมที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน โดยไม่มีเงื่อนไขเวลาของการยืนขอสัมปทานมามีอิทธิพลเหนือเวทีพูดคุย เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย จึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลดังนี้
1. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยไม่เห็นด้วยต่อแนวทางขยายเวลาการยื่นแสดงจํานงสํารวจและผลิตปิโตรเลียมออกไป เพราะยังมีผลให้กระบวนการเปิดขอสัมปทานยังดํารงอยู่อีกทั้งยังอาจสร้างความเข้าใจผิดต่อประชาชนว่ารัฐบาลไม่มีความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาและยังไม่เป็นหลักประกันที่จะส่งผลให้เกิดการชะลอสัมปทานปิโตรเลียได้จริง รัฐบาลจึงควรพิจารณาดําเนินการดังนี้ (1.1) ให้ยกเลิกประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเรื่อง “เขตพื้นที่แปลงสํารวจปิโตรเลียมบนบกและในทะเลอ่าวไทยที่เปิดให้ยื่นขอสิทธิสํารวจและผลิตปิโตรเลียม” ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 30 กย. 2557 (1.2) ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง “การยื่นขอสิทธิสํารวจและผลิตปิโตรเลียมสําหรับแปลงสํารวจบนบก และในทะเลอ่าวไทย” ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 21 ตค. 2557 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 4 กพ. 2558 ทั้งนี้ต่อข้อกังวลของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีที่เกรงว่า เมื่อชะลอการเปิดสัมปทานปิโตเลียมรอบที่ 21 แล้ว อาจจะเกิดปัญหาก๊าชธรรมชาติไม่เพียงพอต่อการใช้อาจทําให้เกิดปัญหาไฟฟ้าดับนั้น เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยขอชี้แจงว่า ไฟฟ้าจะไม่ดับ หากรัฐบาลได้พิจารณาตรวจสอบข้อมูลต่อไปนี้อย่างถี่ถ้วน
1.1 ปัจจุบันแผนการจัดหาก๊าชธรรมชาติของประเทศถูกกําหนดตามแผนพัฒนากําลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (แผน PDP) ซึ่งไม่มีความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวในปัจจุบัน ทําให้เกิดปัญหาปริมาณสํารองไฟฟ้าที่สูงเกินควรมากถึงร้อยละ 20 และอาจจะถึงร้อยละ 40 ในอนาคตอันใกล้หากไม่มีการปรับแผน PDP ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนปัญหาดังกล่าวนํามาสู่การจัดหาก๊าซธรรมชาติที่สูงเกินจริงตามมาด้วย ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากการจัดหาก๊าซธรรมชาติของปตท. ในปี 2557 ที่ผ่านมาพบว่า มีการจัดหาก๊าซธรรมชาติทั้งจากในและนอกประเทศเป็นจํานวน 5,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่กลับมีการใช้จริงเพียง 4,680 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือสูงเกิดจริงถึงวันละ 420 ล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งก๊าซธรรมชาติที่จัดหามาเกินนี้มีปริมาณใกล้เคียงกับปริมาณก๊าซที่นําเข้าจากแหล่งยานาดาหรือเยตากุนของประเทศพม่าเลยทีเดียว
1.2 ปัจจุบัน ปตท.มีแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG อยู่แล้ว โดยดําเนินการตามมติ กพช. วันที่ 28 มิ.ย. 2553 และมติ ครม.วันที่ 20 ก.ค. 2553 ที่ให้ปตท. จัดหา LNG ในปี พ.ศ. 2554-2557 ด้วยสัญญาระยะสั้น และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นไปให้ปตท. จัดหา LNG ตามสัญญาระยะยาว เสนอ กพช. และครม. โดยหากจําเป็นต้องนําเข้าด้วยสัญญา Spot หรือสัญญาระยะสั้น ราคาที่จัดหาต้องไม่เกิดราคาน้ํามันเตา ทั้งนี้ จากสถานการณ์ราคาน้ํามันในตลาดโลกมีแนวโน้นลดลงอย่างมีนัยสําคัญ จึงส่งผลให้ LNG ที่มีสูตรราคาอ้างอิงราคาน้ํามันมีแนวโน้นลดลงเช่นกัน
1.3 ปัจจุบันราคาน้ํามันดิบในตลาดโลกลดราคาจาก 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลเหลือไม่เกิน 50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งทําให้ราคาน้ํามันเตาที่สามารถใช้ผลิตไฟฟ้าทดแทนก๊าซธรรมชาติได้ราคาลดลงตามไปด้วยจึงไม่เป็นภาระกับประชาชนหากมีความจําเป็นต้องมีการใช้น้ํามันเตาในการผลิตไฟฟ้าแทน แต่ปัจจุบันกลับปล่อยให้มีการส่งออกน้ํามันเตาไปขายต่างประเทศโดยไม่มีการเสียภาษีถึงวันละ 10 ล้านลิตรต่อวัน
1.4 แผนการส่งเสริมการติดตั้งเซลแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารที่อยู่อาศัย ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติได้เสนอจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวันได้อย่างมากทําให้ไม่มีความจําเป็นต้องใช้พลังงานก๊าซธรรมชาติในปริมาณมากดังเช่นในปัจจุบันรัฐบาลจึงควรเร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดําเนินการให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว ดังนั้น จึงเห็นได้ว่ารัฐบาลมีทางเลือกในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้หลายแนวทาง หากต้องชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไป เพื่อใช้โอกาสนี้ในการปฏิรูปพลังงานของประเทศอย่างจริงจัง
2. ข้อเสนอต่อแนวทางการจัดเวทีถกสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ขอให้รัฐบาลพิจารณาดําเนินการดังนี้
2.1 เนื่องจากปัญหาข้อสงสัยต่อระบบสัมปทานปิโตรเลียมมีอยู่หลายประการและยังมีความสลับซับซ้อนค่อนข้างมากอีกทั้งยังมีผู้เข้ารค่วมการเจรจาอยู่หลายฝ่ายดังนั้นเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนครบถ้วนมากที่สุด และเกิดประโยชน์ต่อผู้รับฟังรัฐบาลจึงควรให้เวลาในการจัดเวทีทุกสัปดาห์ๆ ละหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย ภายในระยะเวลา 2 เดือน
2.2 รัฐบาลควรจัดสรรเวลาในการนําเสนอข้อมูลอย่างเท่าเทียมกับทุกๆ ฝ่ายในทุกๆ เวทีและการตอบคําถามของกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีเอกสารรองรับให้ประชาชนสามารถนําไปตรวจสอบได้
2.3 ขอให้สื่อมวลชนเข้าร่วมสังเกตการณ์และมีการถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐช่องใดช่องหนึ่งเป็นอย่างน้อย เช่น สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์หรือ สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ตลอดการดําเนินเวทีทุกครั้ง
2.4 ขอให้มีผู้แทนจากองค์กรตรวจสอบภาครัฐ อาทิ ผู้แทนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการผ่านดิน เป็นต้น เข้าร่วมในเวทีทุกครั้ง
2.5 ขอให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนสามารถจัดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านการจัดทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มเติมได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีการขัดขวางปิดกั้น