"หม่อมอุ๋ย" เผยประชุมครม. 24 ก.พ.หารือเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ชี้นายกรัฐมนตรีพร้อมแถลงด้วยตัวเองหากได้ข้อสรุปชัดเจน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้รับราบจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ในการประชุมครม.วันที่ 24 ก.พ.นี้ จะหารือถึงเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดเวทีสัมมนาเพื่อรับทราบข้อมูลจากฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายคัดค้านการเปิดสัมปทานเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งในการประชุมครม.ครั้งนี้ จะถามความเห็นจากที่ประชุมถึงเรื่องดังกล่าว โดยไม่ได้ออกเป็นมติว่า เรื่องนี้จะเดินหน้าต่อหรือไม่ เพราะหากได้ข้อสรุป นายกฯ จะเป็นผู้แถลงเรื่องนี้ด้วยตัวเอง
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงพลังงานและภาคประชาชน เพื่อหาข้อสรุปก่อนวันเปิดสัมปทาน รอบที่ 21 ในวันที่ 16 มี.ค ว่า นายกฯคาดหวังว่า การตั้งคณะกรรมการร่วมดังกล่าว จะช่วยแก้ปัญหาในประเด็นที่ยังมีความเห็นต่าง จึงมอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยการให้ประชุมให้ได้ข้อยุติ โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีประมาณ 10-15 คน มีตัวแทนกระทรวงพลังงาน ผู้เห็นต่าง นักวิชาการ ยกเว้นฝ่ายการเมือง คาดว่าไม่เกินวันที่ 25 ก.พ.นี้คณะกรรมการดังกล่าวจะมีความชัดเจน ส่วนประธานคงให้เลือกกันเอง และการหารือต้องให้เสร็จก่อนวันที่ 16 มี.ค.นี้ เพื่อให้นายกฯ มีเวลาตัดสินใจ
“ที่ผ่านมารัฐบาลใจกว้างเปิดรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายมาโดยตลอด จึงอยากให้สังคมตระหนักว่าเราฟังทุกความเห็นและคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง แต่เรื่องนี้ต้องพิจารณารอบด้านไปพร้อมกันทั้งงบการลงทุนการจ้างผลิต ความเชื่อมั่นจากต่างชาติ ที่สำคัญคือกระบวนการบริหารจัดการพลังงานเป็นอำนาจของรัฐบาลที่รับฟังผู้เห็นต่างแต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำตามทุกอย่าง เพราะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของบ้านเมือง”
ส่วนเวทีดังกล่าวจะเป็นเวทีสุดท้ายก่อนจะตัดสินใจว่า รัฐบาลจะเดินหน้าเปิดสัมปทานหรือไม่ พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ตนไม่กล้าตอบอย่างนั้น แต่อยากให้เวทีเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมาเป็นเวทีท้ายๆ เพราะที่ผ่านมาเคยมีเวทีอย่างนี้มานานหากคุยกันไม่จบสิ้นก็หาทางออกไม่ได้ว่าจะชะลอหรือเดินหน้าต่อ ถ้าต่างฝ่ายคิดว่าความเห็นตัวเองถูกต้องโดยไม่ฟังความเห็นก็จะไปลำบาก จึงอยากให้พูดกันด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง ไม่ใช่ความรู้สึก
ขณะที่กลุ่มที่เห็นต่างเตรียมเคลื่อนไหวนั้น เชื่อว่า คงไม่ได้ และต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาบ้านเมืองเรามีปํญหาความขัดแย้งทางความคิดที่ต่างกัน แต่ความเห็นต่างสามารถนำเสนอเหตุผลและอธิบายกันได้ และต้องยอมรับในอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ ถ้าคิดว่าไม่ได้อย่างที่ตัวเองตั้งใจและจะเคลื่อนไหวชุมนุมก็เป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งรอบใหม่ รัฐบาลและคสช.พยายามบริหารจัดการเรื่องต่างๆอย่างแนบเนียนด้วยเหตุผลกับฝ่ายต่างๆ เรื่องอะไรที่เป็นเรื่องเล็กเราพยายามอะลุ่มอะหล่วยมาตลอด แต่อะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่จะบานปลายในวันข้างหน้าเรายอมไม่ได้และต้องว่าไปตามกฎหมาย และเชื่อว่าประชาชนและสื่อมวลชนเข้าใจความลำบากของรัฐบาล
ที่มา : เดลินิวส์-เศรษฐกิจ วันจันทร์ 23 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 21:00 น.
บทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน :
|