ปตท.รับฟังปัญหาวางท่อก๊าซทองผาภูมิ

ปตท.จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นผลกระทบจากโครงการวางท่อส่งก๊าซไทย-พม่าบ้านอีต่อง อ.ทองผาภูมิ

ที่ห้องประชุมหลวงปู่สาย เทศบาลตำบลทองผาภูมิ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่ง แวดล้อม และสุขภาพของโครงการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกจากชายแดนไทย-สหภาพพม่า มายังสถานีควบคุมความดันก๊าซฯ ฝั่งตะวันตกที่1 เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของโครงการในทุกภาคส่วน ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ อันอาจจะเกิดจากโครงการดังกล่าว พร้อมเสนอแนะประเด็นข้อห่วงกังวลของผู้มีส่วนได้เสียจากโครงการ โดยมีนายพิพัฒน์ ศังขะฤกษ์ ปลัดจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธาน โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน เข้าร่วมกว่า 200คน

นายจิร จบหิมเวศน์ ผู้จัดการฝ่ายสนับสนุนโครงการ เผยว่า โครงการนี้เกิดขึ้นจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในมติของคณะกรรมการนโยบาย พลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่2/2553 เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 53 เรื่องแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติในระยะยาว และการทบทวนแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซฯ ฉบับที่3 พ.ศ.2544-2554 ซึ่งมอบหมายให้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติทำหน้าที่ดำเนินการจัดหาก๊าซธรรมชาติ และขยายโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ และรองรับการขยายตัวของความต้องการใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มมาก ขึ้นทั้งในภาคการผลิตกระแสไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม และภาคคมนาคมขนส่ง

สำหรับโครงการนี้เป็นการวางท่อส่งก๊าซเพิ่มเติมจากท่อส่งก๊าซเดิมจากบ้าน อีต่อง ต.ปิล๊อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ไปยัง โรงไฟฟ้าราชบุรี ต.พิกุลทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี ความยาว 260 กม. ซึ่งได้ก่อสร้างแล้วเสร็จไปประมาณ 12 ปี โดยเป็นท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 28 นิ้ว ซึ่งมีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดส่งมอบก๊าซธรรมชาติบริเวณชายแดนประเทศไทย-สหภาพ พม่า ที่ช่องทางมิตรภาพ ใกล้ฐานปฏิบัติการตำรวจตระเวนชายแดน 135 (ตชด.135) โดยจะวางขนานกับเขตทางของถนน จากนั้นจะวางขนานกับท่อก๊าซฯ ปัจจุบันไปสิ้นสุดที่สถานีควบคุมก๊าซฯ ฝั่งตะวันตกที่1 (BVW#1) ในพื้นที่หมู่ที่1 บ้านอีต่อง ต.ปิล๊อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี รวมระยะทางประมาณ 600 เมตร โดยมีแผนการก่อสร้างภายในไตรมาสที่ 2 ปี พ.ศ.2556 และใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 6 เดือน

ในส่วนของข้อห่วงกังวลของผู้มีส่วนได้เสียจากโครงการ ประเด็นหลักคือ เรื่องของการช่วยเหลือชุมชนและสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งการอยู่ร่วมกันระหว่าง ปตท.กับ ชุมชน จ.กาญจนบุรี ได้มีการช่วยเหลือดูแลกันมาโดยตลอด

การนำก๊าซเข้ามาครั้งนี้ ไม่ได้เป็นประโยชน์ของ ปตท.โดยตรง แต่เป็นความมั่นคงของประเทศที่จะนำไปเป็นโครงสร้างพื้นฐานในภาคส่วนต่างๆ นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสและทางเลือก เนื่องจากราคาพลังงานมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากยากมากขึ้นด้วย ดังนั้นการเตรียมพลังงานสำรองเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง

กรณีที่หลายหน่วยงาน รวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่ของ จ.กาญจนบุรี มองไม่เห็นประโยชน์ของการวางท่อส่งก๊าซฯ เนื่องจากไม่ได้รับประโยชน์จากการวางท่อก๊าซเดิม นั้น ตนของชี้แจงว่า ตามกฎหมายได้กำหนดไว้ว่าสิ่งที่ ปตท.ค้าขายหรือทำมาได้จะต้องส่งไปที่รัฐ ซึ่งทาง ปตท.ได้ดำเนินการในรูปแบบของการเสียภาษีให้กับรัฐ โดยได้เสียภาษีโดยตรงให้กับ จ.กาญจนบุรี เฉลี่ยเดือนละ 550 ล้านบาท ซึ่งทางจังหวัดจะต้องไปจัดสรรในรายละเอียดต่อไป และในส่วนที่ไม่ใช้ในรูปภาษีก็คือการพัฒนาท้องถิ่นและการช่วยเหลือเกื้อกูล กัน เช่น ชาวอีต่องได้ใช้ไฟฟ้าฟรีจากการผลิตจากก๊าซธรรมชาติ

ส่วนข้อกังวลในเรื่องของแผ่นดินไหว ทาง ปตท.ได้มีการศึกษาพื้นที่รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ และรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ พบว่า ในปี 2526 อยู่ที่ความแรงขนาด 5.9 ริกเตอร์ ซึ่งท่อส่งก๊าซได้ออกแบบเพื่อทนแรงสั่นสะเทือนได้ขนาด 7 ริกเตอร์ และก็ได้มีการศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในกรณีที่จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่แนวท่อส่งก๊าซ จะสามารถทนแรงได้ 6.4 ริกเตอร์ และหากจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวห่างออกไปประมาณ 8 กม. จะสามารถทนแรงสั่นสะเทือนได้ 8 ริกเตอร์ ซึ่งหากเกิดแผ่นดินไหวตัวท่อส่งก๊าซจะมีความยืดหยุ่นที่สามารถเคลื่อนตัวได้ ประมาณ 50 เซนติเมตร โดยไม่แตกหัก นอกจากนี้การเกิดไฟป่าในบริเวณแนวท่อส่งก๊าซก็จะไม่ส่งผลต่อท่อส่งก๊าซ เนื่องจากสภาพดินที่อยู่บนหลังท่อจะเป็นฉนวนซึ่งสามารถป้องกันความร้อนและ ไม่ทำอันตรายต่อท่อแต่อย่างใด

จากกรณีที่ต้องมีการหยุดซ่อมบำรุงท่อส่งก๊าซธรรมชาติของแหล่งเยตากุนใน สหภาพพม่า ในช่วงระหว่างวันที่ 8-18 เมษายน 2555 ที่จะถึงนี้ เป็นแผนการบำรุงดูแลรักษาท่อตามปกติ ซึ่ง ปตท.ทราบมาก่อนล่วงหน้า โดยได้มีการเตรียมพร้อมในเรื่องของพลังงานสำรองไว้เรียบร้อยแล้ว

ข้อมุลจาก นสพ.แนวหน้า 04/04/55

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน