บริการสุขภาพ

นักวิชาการแนะเลิกดึงดันแก้ กม.บัตรทอง ชี้หากขืนใจให้ประชาชนยอมรับคงสู้กันไม่จบ

sutee docterอาจารย์คณะแพทย์ มศว แนะนับหนึ่งใหม่แก้กฎหมายบัตรทอง ชี้กระบวนการไม่เป็นธรรมตั้งแต่เริ่มต้น หากเดินต่อโดยขาดการยอมรับจากประชาชน เรื่องคงไม่จบลงง่ายๆ


นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ให้ความเห็นถึงการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ว่า การแก้กฎหมายในรอบนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่เป็นธรรมรอบใหม่โดยที่รัฐเป็นคนก่อให้เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น เนื่องจากกระบวนการแก้กฎหมายไม่แฟร์กับประชาชน หากเดินหน้าต่อหรือข่มเหงความรู้สึกกันให้ยอมรับแบบนี้ เชื่อว่าการต่อสู้จะไม่จบลงง่ายๆ

นพ.สุธีร์ กล่าวว่า ความไม่เป็นธรรมเริ่มต้นตั้งแต่การกำหนดประเด็นแก้ไขกฎหมาย 14 ประเด็น โดยไม่ผ่านการถกเถียงวิเคราะห์ทางวิชาการด้วยมุมมองที่รอบด้าน แต่เป็นการหยิบยกประเด็นขึ้นมาตามที่กรรมการส่วนใหญ่เห็นสมควร แล้วนำไปสู่กระบวนการรับความความคิดเห็นเลย ซึ่งโดยขั้นตอนที่ควรจะเป็นแล้ว ก่อนจะผ่านไปถึงขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นได้ ควรจะต้องทำการศึกษาในเชิงวิชาการอย่างรอบด้านจนสะเด็ดน้ำเสียก่อน

“การประชาพิจารณ์จะเริ่มก็ต่อเมื่อสะเด็ดน้ำจากวิชาการแล้ว มองครบทุกมุมแล้ว แต่นี่ชงปุ๊ปตบปั๊ป ยังไม่ได้ส่องดูให้รอบด้านเลย แบบนี้มันไม่ใช่” นพ.สุธีร์ กล่าว
ขณะเดียวกัน ในขั้นตอนของคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้ ก็มีตัวแทนประชาชนเข้าไปมีสิทธิมีเสียงเพียง 2 คน ซึ่งมติใดๆ ก็ตามที่ต้องโหวตสู้กันก็ไม่มีทางชนะอยู่แล้ว

“ให้คนหนึ่งทำ แต่ผลกระทบไปตกอยู่กับอีกคนหนึ่ง ถ้าคุณกล้าเอาข้าราชการมาทำให้ประชาชน อย่างนั้นกล้าเอาประชาชนไปออกแบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการไหม แล้วส่งตัวแทนไป 2 คนท่ามกลางประชาชน 10 คน ผลออกมาอย่างไรก็เอาแบบนั้น อย่างนี้เอาไหม” นพ.สุธีร์ กล่าว
นพ.สุธีร์ กล่าวอีกว่า นอกจากขั้นตอนการกำหนดประเด็นแก้ไขกฎหมาย สัดส่วนคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมแล้ว กระบวนการรับฟังความคิดเห็นก็ไม่เป็นธรรม เพราะมีการเร่งรัดดำเนินการอย่างรวดเร็วทั้งๆ ที่ผู้เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้มีกว่า 40 ล้านคน ซึ่งการทำให้คนจำนวนมากเกิดความเข้าใจคงไม่เร็วขนาดนี้
“ดูตอนวันที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ต้องใช้เวลากี่ปีกว่าจะออกมาเป็นกฎหมายได้ แต่เวลาแก้ใช้เวลาปุ๊ปปั๊ปแค่ 2 เดือน” นพ.สุธีร์ กล่าว

 

“ผมเดินออกมาเจอรถกรงขังจอดอยู่ข้างหน้า สีดำมืดเลย มันรู้สึกว่าประชาชนมาแสดงความคิดเห็นถึงขนาดต้องเอารถกรงขังมาจ่อแบบนี้เลยเหรอ รัฐบาลทหารไม่จำเป็นต้องมาสร้างบรรยากาศตรงนี้ มันสามารถเปิดพื้นที่ให้คนพูดคุยได้ หากทำได้มันก็จะเกิดความชอบธรรมในเชิงกระบวนการไปในตัว” นพ.สุธีร์ กล่าว

นพ.สุธีร์ กล่าวว่า ขั้นตอนกระบวนการทั้งหมดนี้ทำให้เกิดการไม่ยอมรับและกลายเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายประชาชนและผู้ให้บริการที่มาทะเลาะกัน มุมมองในการพูดคุยก็กลายเป็นการต่อสู้เพื่อเอาชนะกัน ไม่มีมุมมองจากคนกลางมาไกล่เกลี่ย ดังนั้น เพื่อไม่ให้เรื่องนี้กลายเป็นชนวนลุกลามในอนาคต ตนเสนอว่าควรเริ่มนับหนึ่งกระบวนการแก้ไขกฎหมายใหม่ โดยที่ต้องใช้ประเด็นปัญหาของระบบหลักประกันสุขภาพเป็นตัวตั้ง อย่าพึ่งไปเริ่มที่จำนวนหรือสัดส่วนกรรมการแก้กฎหมาย

“ตอนนี้ยังไม่ต้องพูดถึงรายละเอียดการแก้กฎหมายเพราะเริ่มต้นมันก็ผิดแล้ว ผมเลยไม่อยากไปวิเคราะห์องค์ประกอบสัดส่วนกรรมการหรือเนื้อหาอื่นๆ ตอนนี้มันอยู่ในขั้นตอนการสร้าง platform ถ้าเวทีมันดี เนื้อหามันก็เดินไปได้ แต่ถ้าพื้นที่มันไม่ดี ไม่ชอบธรรม ต่อให้ประเด็นดียังไง มันก็ไม่ยอมรับกัน แล้วคนเราถ้ามันข่มเหงข่มความรู้สึกกันแล้วมันไม่จบหรอก ต้องเริ่มใหม่เอา issue มาตั้งก่อน แล้วพูดคุยให้มันสะเด็ดน้ำ ขืนเดินหน้าไปแบบนี้มันอึดอัดกันหมด เมื่อไหร่มันร้อนขึ้นมา คนลุกขึ้นมา ประเทศชาติมันไม่สงบสุข” นพ.สุธีร์ กล่าว

พิมพ์ อีเมล