นักวิชาการทีดีอาร์ไอเผยประกัน สุขภาพถ้วนหน้าช่วยลดค่ารักษาพยาบาลในครัวเรือน 28% ระบุเหตุที่กองทุนต้องใช้เงินเพิ่มขึ้น เพราะประชากรสูงวัย และเงินเดือนบุคลากรด้านการแพทย์เพิ่มขึ้น ย้ำการรวมกองทุนไม่ใช่การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ
1 กันยายน 2558 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดแถลงข่าวเรื่อง “การปฏิรูประบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า : สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ ณ ห้องประชุมชั้น 2 ทีดีอาร์ไอ
ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงกดดันจากรัฐบาลทั้งที่มาและไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในการลดการ สนับสนุนระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพิ่มต่อเนื่องตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น มาจาก 1. ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2% 2. การเพิ่มขึ้นของเงินเดือนบุคคลากรด้านสุขภาพทุกประเภท ซึ่งเป็นเครื่องหนึ่งของต้นทุนทั้งหมด ปีละ 6% ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นปีละ 5%
ดร.อัมมาร กล่าวด้วยว่า เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่า 5% ย่อมส่งผลให้ภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้น รัฐบาลจึงพยายามจะให้เกิดการร่วมจ่าย ซึ่งการร่วมจ่ายจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อสามารถดึงคนชนชั้นกลางให้เข้ามาใช้ บริการด้วย โดยต้องออกแบบแพกเกจให้เหมาะสม
ด้านดร.จิระวัฒน์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า จากผลการศึกษาที่ผ่านมานั้น พบว่าระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทองช่วยขยายความคุ้มครองไปสู่ผู้ที่ไม่เคยได้รับความคุ้มครองมาก่อน ทำให้สัดส่วนของประชาชนที่มีประกันสุขภาพทุกระบบเพิ่มขึ้นจาก 71% ในปี 2544 เป็น95% ในปี 2545 และสูงเกิน 98% ในปัจจุบัน
ดร.จิระวัฒน์ กล่าวว่า ระบบบัตรทองเป็นระบบที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการใช้บริการผู้ป่วยในซึ่งมีรายได้ น้อย โดยกลุ่มผู้ใช้บัตรสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล หรือ บัตร สปร. โดยมีอัตราการใช้บริการเพิ่มขึ้น 12% ในกลุ่มที่ไม่เคยมีประกันมาก่อนใช้บริการเพิ่มขึ้น 8% อีกทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสในการใช้บริการผู้ป่วยนอกด้วย ที่สำคัญระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลโดย เฉลี่ยของครัวเรือนลงได้ถึง 28%
ขณะที่ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การวิจัยของทีดีอาร์ไอเรื่องค่าใช้จ่ายในระยะสุดท้ายก่อนตายของผู้สูงอายุ ที่เป็นโรคเรื้อรัง 5 โรค คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ หลอดเลือดสมอง และมะเร็ง พบว่า ผู้สูงอายุมีค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลในปีสุดท้ายก่อนตายเฉลี่ยประมาณ 60,000 บาท ซึ่งถือว่าสูงสำหรับคนมีรายได้ปานกลางและประมาณ 5% ของผู้ตาย มีต่ำใช้จ่ายเกินกว่า 200,000 บาท โดยผู้ป่วยมะเร็งมีค่าใช้จ่ายสูงที่สุด
ดร.วรวรรณ กล่าวว่า ดังนั้น ปัญหาปัจจุบันคือ รัฐให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยในที่ใช้บัตรทองต่ำเกินไป ทำให้อัตราการจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในแก่สถานพยาบาลระดับสูง ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลทั่วไป ต่ำกว่าอัตราการจ่ายของสวัสดิการข้าราชการมาก
“จึงอยากเสนอให้มีการทบทวนการ จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่สถานพยาบาลสำหรับผู้ป่วยในและผู้ป่วยเรื้อรังให้ เหมาะสม ด้วยงบประมาณที่จำกัดในเบื้องต้นก็ควรจัดสรรงบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใหม่ โดยผู้ป่วยนอกที่ไม่ได้ป่วยด้วยโรครุนแรงควรร่วมจ่าย โดยเฉพาะการร่วมจ่ายค่ายา เหมือนกับประเทศที่มีการใช้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าอื่นๆ”
สำหรับบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข ดร.วรวรรณ กล่าวว่า กระทรวงควรเพิ่มบทบาทการกำกับดูแลระบบให้มากขึ้น และลดบทบาทการเป็นผู้ให้บริการเองลง โดยมาเป็นผู้ดูแลระบบในภาพรวมและติดตามการใช้งบประมาณการประกันสุขภาพของทุก สวัสดิการเป็นหลัก นั่นหมายถึงว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่ควรเป็นทั้งเจ้าของโรงพยาบาลและผู้จัดการระบบประกัน สุขภาพไปพร้อมกัน เนื่องจากการเป็นเจ้าของโรงพยาบาลจะเน้นดูแลผลประโยชน์ของผู้ให้บริการ ขณะที่ผู้จัดการระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องดูแลผลประโยชน์ของผู้ป่วย
“หากกระทรวงสาธารณสุขอยากดูแล ระบบประกันสุขภาพอย่างเต็มที่ ก็ควรโอนย้ายโรงพยาบาลไปยังหน่วยงานอื่นนอกกระทรวง เช่น องค์กรอิสระ เพราะหากทำสองอย่างไปพร้อมกันบางครั้งจะเกิดการเอนเอียงและสร้างความขัดแย้ง ขึ้น”
ส่วนเรื่องการรวมกองทุนนั้น ที่ปรึกษาทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า เรื่องการจะรวมกองทุนหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นหลัก และไม่ใช่ปัญหาของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะความสำคัญอยู่ที่การบริหารจัดการระบบที่ดี