คณะอนุกรรมการประชาพิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับใหม่ พร้อมเปิดประชาพิจารณ์ 3 รูปแบบ ทั้งรับฟังออนไลน์, เวทีประชาพิจารณ์ และเวทีปรึกษาสาธารณะ ตั้งแต่ 2-18 มิ.ย.นี้ เวที 4 ภาค เริ่ม 10 มิ.ย.นี้ ที่จังหวัดสงขลา ก่อนจัดทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เน้น 14 ประเด็นสำคัญ นพ.พลเดช ชูวิสัยทัศน์สร้างสันติวัฒนธรรม แสดงความคิดเห็นแก้ไขกฎหมายสำคัญ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ
การประชุมคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณา (ร่าง) พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ... ครั้งที่ 3/2560 วันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ โดยมี นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณา (ร่าง) พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ... เป็นประธาน ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกว่า 30 คน
นพ.พลเดช เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เตรียมความพร้อมในการจัด เวทีประชาพิจารณ์ (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ... เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมเสนอแนะความคิดเห็นในการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบสุขภาพและการให้บริการด้านสาธารณสุขของคนไทย จำนวน 14 ประเด็นหลัก อาทิ กรอบการใช้เงิน การเหมาจ่ายรายหัว การจัดระบบหลักประกันสุขภาพครอบคลุมทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยใน 3 รูปแบบ ได้แก่ การรับฟังความเห็นผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Online) การจัดเวทีประชาพิจารณ์ (Public Hearing) และการจัดเวทีปรึกษาสาธารณะ (Public Consultation) โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2560 เพื่อสรุปเผยแพร่สู่สาธารณะ ควบคู่ไปกับการนำเสนอต่อ คณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่มี รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน ต่อไป
ทั้งนี้ การรับฟังความเห็นผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Online) จะดำเนินการผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และ เว็บไซต์กลางสำหรับการรับฟังความคิดเห็นกฎหมายไทย (www.lawamendment.go.th) โดยจะมีการเผยแพร่เอกสารใน 3 ส่วนหลัก คือ ร่าง พ.ร.บ.ใหม่ ที่มีการปรับปรุงแก้ไข เอกสารแนวคิดการแก้ไข (Concept Paper) 14 ประเด็น และตารางการเปรียบเทียบการแก้ไขรายมาตรา พร้อมกับคำแนะนำในการอ่านเอกสารเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็น โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 2-18 มิถุนายน นี้
สำหรับ เวทีประชาพิจารณ์ (Public Hearing) ระดับภูมิภาค เปิดให้ประชาชนที่สนใจทั่วประเทศร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวน 4 ครั้ง เริ่มจาก
เวทีภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา วันที่ 10 มิถุนายน 2560
เวทีภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 11 มิถุนายน 2560
เวทีภาคอีสานที่จังหวัดขอนแก่น วันที่ 17 มิถุนายน 2560
เวทีภาคกลางที่กรุงเทพฯ วันที่ 18 มิถุนายน 2560
และการจัด เวทีปรึกษาสาธารณะ (Public Consultation) โดยเชิญตัวแทนของหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้หาแนวทางสร้างประโยชน์ที่ดีให้กับประชาชน ระหว่างวันที่ 20–21 มิถุนายน 2560
“เนื่องจาก ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง มีข้อคิดเห็นที่แตกต่างกันมากมาย จึงต้องพิถีพิถันในการออกแบบการดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์ให้ครอบคลุม ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง เป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ ไม่ใช่เพียงแค่การจัดพิธีกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพียงอย่างเดียว แต่ทุกภาคส่วนจะได้เรียนรู้ ปรับตัว เป็นสันติวัฒนธรรม เป็นตัวอย่างของการดำเนินการให้กับหน่วยงานอื่นๆ ที่ในอนาคตอาจจะต้องมีการออกหรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อสังคมเป็นวงกว้างในลักษณะเช่นเดียวกันนี้”
นพ.พลเดช กล่าวต่อว่า การประชาพิจารณ์เป็นไปตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่ระบุให้การออกกฎหมาย หรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายใหม่จะต้องมีการจัดทำประชาพิจารณ์ให้ประชาชนรับทราบ และร่วมแสดงความคิดเห็น สำหรับ (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่....) พ.ศ... นี้ ปรับปรุงแก้ไขจาก พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งประกาศบังคับใช้มาแล้ว 15 ปี จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอดีตถึงปัจจุบัน ส่งให้การปฏิบัติมีข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ดีของประชาชน การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติงาน เกิดประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนมากขึ้น
ทั้งนี้ การประชาพิจารณ์ (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ... จำนวน 14 ประเด็นหลัก
1. การจ่ายเงินให้กับหน่วยงาน/องค์กร ที่ไม่มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย
2. กรอบการใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
3. การจ่ายเงินโดยตรงแก่บุคคล ไม่จ่ายผ่านหน่วยบริการตามกฎหมายกำหนด
4. เงินเหมาจ่ายรายหัวกับเงินที่ได้จากผลงานบริการให้รับเข้าเป็นรายได้ของหน่วยบริการ เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็น และใช้ตามระเบียบเงินบำรุงฯ ได้
5. นิยาม “บริการสาธารณสุข” คือ บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งให้แก่บุคคล
6. เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการ ครอบคลุมทุกสิทธิ
7. เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการ ครอบคลุมทุกสิทธิ และยกเลิกการไล่เบี้ย
8. การจัดระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย
9. การร่วมจ่ายค่าบริการ
10. การจัดซื้อร่วมยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์
11. องค์ประกอบ จำนวน อำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
12. องค์ประกอบ จำนวน อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข
13. แยกเงินค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรส่วนที่จ่ายจากเงินงบประมาณของหน่วยบริการภาครัฐออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวของกองทุนฯ
14. การใช้จ่ายเงินบริหารของ สปสช. ไม่ต้องส่งคืนคลังเพื่อความคล่องตัว และการปรับปรุงคุณสมบัติของเลขาธิการ สปสช.
ข้อมูลจาก สำนักข่าว Hfocus