กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ยื่นหนังสือชี้แจงแนวทางการจัดการความคิดเห็นที่แตกต่างในการแก้ไขกฎหมายต่อนายวรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในเวที Public Consultation ในวันพุธที่ 21 มิถุนายน 2560 ในความจดหมายระบุว่า
ตามที่ท่านได้รับหน้าที่ประธานในการปรับปรุงพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และได้จัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นใน ๔ ภูมิภาค จากการติดตามการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างใกล้ชิด พบว่า มีประเด็นในการแก้กฎหมายจากการศึกษาของภาคประชาชน จำนวน ๑๖ ประเด็นโดยมีประเด็นที่เห็นเหมือนกันจำนวน ๔ ประเด็น ประเด็นที่เห็นแตกต่างจำนวน ๕ ประเด็น และข้อเสนอใหม่เพื่อการปฏิรูปในการแก้ไขกฎหมายจำนวน ๗ ประเด็น โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ประเด็นที่เห็นเหมือนกันกับคณะกรรมการพิจารณาร่าง ฯ จำนวน ๔ ประเด็นได้แก่
๑. มาตรา ๑๔ ห้ามดำรงตำแหน่งสองคณะในขณะเดียวกัน และให้รวมถึงการเป็นกรรมการหลักประกัน ฯ และต่อเนื่องเป็นคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ ก็ให้ถือว่าดำรงตำหน่งต่อเนื่องกัน
๒. มาตรา ๑๕ วาระกรรมการไม่เกินสองสมัย โดยยึดตัวบุคคลห้ามใช้ตำแหน่งสลับไปมา
๓. มาตรา ๒๙ รายได้ของสำนักงานไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งเห็นร่วมในการแก้ไข เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการบริหารกองทุน เนื่องจากงานบริการด้านสุขภาพ อัตราการป่วย การตายเป็นการคาดการณ์ ควรมีระบบบริหารจัดการในลักษณะเงินหมุนเวียน
๔. ยกเลิกมาตรา ๔๒ เรื่องการไล่เบี้ย การกำหนดเรื่องการไล่เบี้ย เป็นปัญหาต่อผู้ให้บริการดังนั้นควรยกเลิกมาตรานี้ เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพและผู้ป่วย
ประเด็นที่มีความเห็นแตกต่างกับคณะกรรมการพิจารณาร่าง ฯ จำนวน ๕ ประเด็น ได้แก่
1. ไม่เห็นด้วยเรื่องการเพิ่มนิยาม “เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ” ตามมาตรา ๓ เนื่องจากการเพิ่มนิยามคำนี้ จะเป็นการขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของกองทุนในมาตรา ๓๘ ที่ระบุว่า “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ แต่การแก้ไขกลับเพิ่มนิยามที่จะส่งผลให้ไปจำกัดความหมายของ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ด้านการสนับสนุน ส่งเสริม การจัดบริการซึ่งสามารถสนับสนุนเป็นรูปแบบอื่นได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะตัวเงินเท่านั้น เช่นการสนับสนุนเป็นยา เวชภัณฑ์ เป็นต้น
ไม่เห็นด้วยเรื่องการแก้ไขนิยาม “สถานบริการ” ตามมาตรา ๓ เนื่องจาก “หลักการ” ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากมุ่งเน้นการส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงการบริการรักษาอย่างมีมาตรฐานแล้ว ยังมุ่งเน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการร่วมจัดบริการด้านสุขภาพของประชาชน ประชาสังคม องค์กรสาธารณะ รวมทั้งองค์กรท้องถิ่นดังนี้จึงให้เพิ่มนิยาม “องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร” ทั้งนี้มีหลักฐานเชิงประจักษ์จากผลการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชนในการสร้างการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็น ยกตัวอย่างเช่น การทำงานร่วมให้บริการของกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีในรูปแบบ “ศูนย์องค์รวม” ที่สามารถติดตาม ดูแล ให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถกินยาได้อย่างต่อเนื่อง ลดปัญหาการดื้อยา ส่งผลต่อการลดอัตราการเสียชีวิต หรือการริเริ่มของชุมชนในการให้บริการด้านการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค (Community Led Services) กับกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเปราะบางต่างๆ เป็นต้น
2. ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา ๑๓ ในการแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีเหตุผลดังนี้
๒.๑ ไม่เห็นด้วยกับการที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธาน เนื่องจากขัดกับหลักการแยกผู้จัดบริการและผู้ซื้อบริการ (Purchaser Provider Split)
๒.๒ ให้คงจำนวนผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวนเดิม
๒.๓. เพิ่มผู้แทนหน่วยบริการในระดับต่างๆ จำนวน ๕ คน เพื่อเป็นตัวแทนหน่วยบริการแทนผู้แทนสภาวิชาชีพที่ควรเป็นผู้แทนในคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข
๒.๔ ตัดผู้แทนหน่วยงานรัฐ จำนวน ๔ คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เหลือกรรมการจำนวน ๒๖ คน จากเดิมจำนวน ๓๐ คน
3. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๔๑ ที่มีการระบุเพียงให้ได้รับเงินด้วยเหลือเบื้องต้น แต่เห็นว่าควรต้องเพิ่มเรื่องการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ให้ทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ และยังคงเห็นร่วมว่าให้เพิ่มผู้ให้บริการเข้าไปในมาตรานี้ด้วย เพื่อลดการฟ้องคดีกับผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม และพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการโดยไม่มีระบบเพ่งโทษตัวบุคคล
4. ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา ๔๖ ที่เสนอให้มีการแยกเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากร ออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว เนื่องจากการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว จะมีผลกระทบต่อการกระจายบุคลากร และในการแก้ไขมาตรานี้มีนัยยะสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในด้านการเข้าถึงบริการ หากบุคลากรไม่เพียงพอ ดังนั้นควรต้องมีการศึกษาด้านวิชาการ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณามาตรานี้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ เนื่องจากการแก้กฎหมายจะส่งผลต่อการปฏิบัติในระยะยาว
5. ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา ๔๘ (๘) ที่มีการเสนอเพิ่มเฉพาะวิชาชีพ และผู้ให้บริการเนื่องจากจะเป็นการลดสมดุลกรรมการในการพิจารณากรณีปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ให้บริการและผู้ป่วย ซึ่งในกฎหมายปัจจุบันสัดส่วนของผู้ให้บริการและวิชาชีพมีมากอยู่แล้ว ในขณะที่ในส่วนของผู้ป่วย และผู้รับบริการกลับมีสัดส่วนน้อย ดังนั้นภาคประชาชนจึงเสนอเพิ่มตัวแทนประชาชนจากห้าคนเป็นแปดคน โดยให้เพิ่มสัดส่วนของงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ให้บริการตามมาตรา ๕๐ (๕) และเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์จำนวน ๓ คน
ข้อเสนอใหม่เพื่อการปฏิรูปในการแก้ไขกฎหมายจำนวน ๗ ประเด็น ได้แก่
1. แก้ไขมาตรา ๕
1.1. ให้บริการสาธารณสุขคนไทยทุกคน รวมถึง บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ คนไทยพลัดถิ่น คนไทยตกสำรวจ
1.2. ยกเลิกการเก็บการร่วมจ่าย ณ หน่วยบริการ หรือในแต่ละครั้งที่เข้ารับการบริการ เพราะกระทบต่อการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยได้ ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติหลายมาตรฐาน เป็นสาเหตุความขัดแย้งระหว่างหน่วยบริการและผู้รับบริการ เพื่อยืนยันคำพูดของนายกรัฐมนตรีว่าไม่เคยคิดเก็บเงินซักบาทเดียว
๒. แก้ไขมาตรา ๙ เสนอให้มีสิทธิประโยชน์ด้านบริการสาธารณสุขเดียวสำหรับทุกคน เนื่องจากสอดคล้องกับยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข 20 ปี ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสาธารณสุข เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สนับสนุนสิทธิมนุษยชนด้านสุขภาพที่ทุกคนได้รับบริการสาธารณสุขโดยมีสิทธิประโยชน์เดียวกัน มีมาตรฐาน เพราะปัจจุบันมีสิทธิประโยชน์ในการรับบริการสาธารณสุขที่แตกต่างกัน รวมทั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุน
๓. แก้ไขมาตรา ๑๐ เสนอให้มีมีสิทธิประโยชน์เดียวสำหรับประชาชนทุกคน และรัฐต้องจ่ายสมทบเรื่องสุขภาพให้ผู้ประกันตน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้ผู้ประกันตนที่ต้องจ่ายสมทบด้านสุขภาพทางตรงเพียงกลุ่มเดียว และเหตุผลอื่นๆ เดียวกันกับการแก้ไขมาตรา ๙
๔. เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา ๑๘ แก้ไขอำนาจของคณะกรรมการ ในการจัดหาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เงินกองทุน โดยมีเหตุผลดังนี้
1. การเข้าถึงยา วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีราคาแพงสำหรับผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี มะเร็ง เป็นต้น
2. เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุน โดยเพิ่มอำนาจกรรมการให้สามารถจัดซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์ราคาแพง ๑๐ ปีที่ผ่านมาสปสช. จัดซื้อยารวมเพียงร้อยละ ๔.๙ ของการจัดซื้อยา ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณได้มากถึง 50,000 ล้านบาท
3. ลดภาระงบประมาณของประเทศ หากไม่แก้กฎหมายให้สามารถจัดซื้อได้ รัฐบาลจะต้องนำเงินเพิ่มเติมปีละ 5,000 ล้านบาท ท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัดของประเทศ
4. เป็นโอกาสในการเก็บเงินร่วมจ่าย ณ หน่วยบริการ ซึ่งทำให้เกิดหลายมาตรฐานบริการสาธารณสุข
5. เกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยบริการและผู้ป่วย
๕. แก้ไขมาตรา ๒๖ ให้สามารถตรวจสอบหน่วยบริการที่ไม่โปร่งใส ด้วยเหตุผลดังนี้
ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณที่ได้รับทำให้ต้องมีการกำหนดการจ่ายในลักษณะ Global budget ซึ่งหากหน่วยบริการใดที่ผลการตรวจสอบเชื่อได้ว่ามีการจงใจจัดทำข้อมูลเพื่อการเบิกจ่ายที่เกินจริงก็จะส่งผลกระทบกับหน่วยบริการอื่น ดังนั้น ควรมีมาตรการที่สามารถดำเนินการลงโทษทางปกครองกับหน่วยบริการที่จงใจเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกินจริง เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารกองทุนและก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่หน่วยบริการที่ดำเนินการถูกต้อง ซึ่งการลงโทษทางปกครองเป็นการลงโทษการกระทำของบุคคลที่จงใจฝ่าฝืนกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งของเจ้าหน้าที่
๖. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๔๗/๑ ให้สามารถสนับสนุนองค์กรชุมชน องค์กรเอกชน และภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร ให้สอดคล้องตามคำสั่งคสช.ที่ ๓๗/๒๕๕๙
๑. เพื่อให้หน่วยบริการ เครือข่ายหน่วยบริการ หน่วยบริการที่รับการส่งต่อ ผู้รับบริการ องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร
๒. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ทำกิจการในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่นจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
๗. เสนอให้ตัดบทเฉพาะกาลมาตรา ๖๖ ออกทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ เรื่องการบริหารจัดการกองทุนด้านสุขภาพ
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จึงใคร่ขอส่งเอกสารเพื่อให้ท่านพิจารณา และขอให้ท่านกรุณาชี้แจงการจัดการความเห็นที่แตกต่างในการแก้ไขกฎหมาย หรือการจัดการความเห็นเพิ่มเติมที่มีต่อการแก้ไขกฎหมาย ว่าจะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เกิดความเห็นร่วมกันของทุกฝ่าย ทุกกลุ่มที่มีต่อการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้