‘กรรณิการ์’ กรรมการหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน แจง กลยุทธ์การต่อรองราคายาและวัคซีนไม่ง่ายแค่ตั้ง คกก.ต่อรองราคา ยกตัวอย่างวัคซีนเอชพีวี กระบวนการต่อรองล้มเหลว เหตุถูกประกาศว่าจะเข้าเป็นสิทธิประโยชน์พื้นฐานก่อนการต่อรอง ทำไทยได้ของแพง แถมถูกแทรกแซงได้สายพันธุ์ครอบคลุมน้อยกว่า
บริการสุขภาพ
กลุ่มคนรักหลักฯ โต้รัฐมนตรี พูดกฎหมายที่ถูกแก้ไขไม่หมด ที่ต้องแก้ไม่แก้ ที่ไม่จำเป็นกลับสอดไส้ อย่างนี้ อย่าแก้ ดีกว่า
กลุ่มคนรักหลักประกัน โต้รัฐมนตรีสาธารณสุข ที่อ้างว่าประเด็นที่แก้ไขเป็นประโยชน์กับประชาชนโดยรัฐมนตรียกเพียงประเด็นเรื่องการไม่ร่วมจ่ายซึ่งในกฎหมายไม่ได้มีการแก้ไข นั่นหมายว่า ไม่ได้ยกเลิกการร่วมจ่าย ซึ่งเข้าทางการขึ้นทะเบียนคนจน เพราะต้องการให้ประชาชนชนร่วมจ่ายเมื่อมีการไปใช้บริการและยกเว้นเฉพาะคนที่ขึ้นทะเบียนคนจน ซึ่งเรื่องบริการสุขภาพ มีแนวคิดคนรวยช่วยคนจน คนไม่ป่วยช่วยคนป่วย คนชั้นกลางก็มีสิทธิล้มละลายได้ถ้าต้องจ่ายค่ารักษาบริการสุขภาพด้วยตนเอง ขัดต่อหลักสิทธิประชาชนขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นสำหรับทุกคน
ประเด็นสำคัญที่นอกเหนือจากนี้ที่รัฐมนตรีไม่ได้พูดก็คือการแก้ไขกฎหมายที่ปรับโครงสร้างสัดส่วนของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและคณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุขซึ่งได้เพิ่มสัดส่วนในฝั่งของผู้ประกอบวิชาชีพมากขึ้นทั้งในสองคณะ ซึ่งปัจจุบันการปฎิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการทั้งสองคณะเป็นไปด้วยความยากลำบากเนื่องจากมีสัดส่วนของภาคประชาชนเพียงห้าคนและเป็นเสียงข้างน้อยตลอดเวลา รวมถึงการแก้กฎหมายให้แยกเงินเดือนของบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งดูเหมือนจะดีและไม่ต้องกังวลกับบุคลากร แต่นั่นคือการกลับไปสู่การจ่ายเงินตามขนาดของโรงพยาบาลเหมือนก่อนมีระบบหลักประกันเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ทำให้ไม่เกิดการกระจายบุคคลากรที่เป็นธรรมต่อหน่วยบริการหรือโรงพยาบาล
ส่วนประเด็นที่สำคัญมากที่สุดที่รัฐมนตรีไม่ได้พูดถึงเลยก็คือ ขณะนี้มีข้อถกเถียงเรื่องอำนาจของสปสช.ในการจัดซื้อยาราคาแพงสำหรับโครงการพิเศษเพียงร้อยละ ๔.๙ ของการจัดซื้อยาซึ่งสปสช. ได้มีการดำเนินการจัดซื้อยาจำเป็นราคาแพงเป็นระบบการจัดซื้อรวมซึ่งสามารถประหยัดงบประมาณในรอบ 10 ปีได้เกือบ 50,000 ล้านบาท แต่การแก้กฎหมาย กลับไม่ถูกพูดถึง ว่า จะให้ดำเนินการต่อเนื่องหรือไม่อย่างไร แต่การแก้ไขครั้งนี้ หากไม่แก้กฎหมายให้สามารถจัดซื้อได้ จะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร รัฐบาลจะนำเงินปี ละ 5,000 ล้านบาทมาจากไหน ท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัดของประเทศ หรือนี่คือหลุมในการร่วมจ่ายของประชาชนในการใช้ยา
การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ทำให้ระบบการบริหารจัดการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นประโยชน์มากขึ้นสำหรับประชาชน น่าเสียดายที่ไม่ได้ยินจากปากของรัฐมนตรีเลยในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ย้ำกระบวนการต่อรองราคาวัคซีนเอชพีวีล้มเหลว ถูกแทรกแซง ได้ของแพงกว่า ครอบคลุมสายพันธุ์น้อยกว่า
น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า กลยุทธ์การต่อรองราคายาระดับชาตินั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเพียงแค่ตั้งคณะกรรมการต่อรองราคายาระดับชาติ แล้วให้ รพ.ต่างๆ ไปจัดซื้อตามราคานี้ ตัวอย่างการต่อรองราคาวัคซีนเอชพีวี (HPV) หรือวัคซีนมะเร็งปากมดลูกเป็นตัวอย่างชัดเจนที่แสดงถึงความล้มเหลวของเรื่องนี้ นั่นคือ ก่อนการต่อรองราคายาผู้บริหารตั้งแต่ รองนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการวัคซีน ต่างออกมาให้ข่าวว่าจะนำวัคซีนเอชพีวีเข้าอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ทั้งที่เทคนิคการต่อรองราคายาและเวชภัณฑ์ที่มีสิทธิบัตรนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า ยาและวัคซีนที่ยังติดสิทธิบัตร ทำให้ตลาดถูกผูกขาดโดยผู้ผลิตเพียงรายเดียว กรณีนี้ตลาดเป็นของผู้ขาย ผู้ซื้อทำได้แต่ตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ ซึ่งเป็นอำนาจต่อรองเดียวที่มีอยู่ หากบริษัทไม่ยอมลดลงในระดับที่ต้องการ คณะอนุกรรมการฯ จะไม่ยอมรับรายการยาหรือวัคซีนนั้นๆ เข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติ ส่งผลให้ผู้ขาย ขายได้เฉพาะผู้ที่สามารถจ่ายได้เองหรือผู้ที่มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการเท่านั้น
ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ได้ใช้กลยุทธ์นี้ในการต่อรองราคายาและวัคซีนที่มีการผูกขาดตลาดเพื่อให้ได้ราคาที่ต่ำที่สุด ดังนั้น หากผู้บริหาร สธ.สั่งให้แยกการพิจารณายาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติออกจากกลไกการต่อรองราคา อาวุธชิ้นเดียวที่มีอยู่เพื่อใช้ต่อรองราคายาก็หมดไปทันที บริษัทยาจะลดราคาไปทำไม ในเมื่อเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว ยังไงรัฐก็ต้องให้สิทธิประโยชน์นี้กับประชาชน จะขายราคาเท่าไหร่ก็ได้ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วกับการต่อรองราคาวัคซีนเอชพีวี หรือ HPV ที่ดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวต่อว่า เมื่อให้ข่าวว่าจะบรรจุวัคซีนเอชพีวีในบัญชียาหลักแน่นอน ตั้งแต่ก่อนการเจรจาต่อรองราคาวัคซีนดังกล่าวจะเกิดขึ้น จนเป็นเหตุให้ราคาวัคซีนของ 2 บริษัทไม่ลดลงมามากเท่าที่ควร จนกระทั่งบริษัทที่แพ้การประกวดราคาตัดสินใจล้มกระดาน ด้วยการทุ่มตลาด ลดราคาลงมาอีก เพราะรู้แล้วว่าผู้ชนะเสนอราคาเท่าไร และด้วยความกลัวว่าตัวเองจะไม่ได้ขายของ ทั้งที่ในการแข่งขันประกวดราคาในตอนแรกบริษัทเดียวกันนี้ประกาศว่าขอให้การประกวดราคาครั้งนั้นป็นที่สิ้นสุด
“ที่ผู้บริหาร สธ. อ้างว่าประหยัดไป 37 ล้านบาทนั้น จริงๆ แล้ว หากไม่มีการแทรกแซงนโยบายวัคซีนตั้งแต่ต้น คือ กรมควบคุมโรคและคณะกรรมการวัคซีนไม่ออกมาประกาศให้ฉีดวัคซีนนี้ ระหว่างการเจรจาต่อรองราคาโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ มีความเป็นไปได้ที่ราคาที่คณะอนุกรรมการบัญชียาหลักฯ ต่อรองได้อาจต่ำกว่าเข็มละ 375 บาทนี้ก็ได้เพราะ Gavi (องค์กรจัดซื้อวัคซีนร่วมให้กับประเทศแถบละติน) และประเทศในแถบลาตินอเมริกาซึ่งรวยกว่าไทย ยังซื้อเพียง 150-180 บาทต่อเข็ม เรื่องนี้จึงไม่สมควรดีใจ”
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวอีกว่า การที่เรายอมให้บริษัทที่พ่ายแพ้การต่อรองราคายาในรอบแรก มาล้มโต๊ะแบบนี้ได้ การต่อรองราคายาในอนาคตของเราคงไม่มีประสิทธิภาพเหมือนเดิม ต้องไม่ลืมว่างบซื้อวัคซีน HPV ไม่กี่ร้อยล้านบาท ประหยัดได้ในครั้งนี่ไม่กี่สิบล้านบาท แต่งบซื้อยาอื่นๆ หลายพันล้านบาท หากเราเป็นบริษัทยา การต่อรองราคาครั้งหน้าคงทำเป็นพอพิธี ถ้าลดราคาลงเล็กน้อยแล้วรัฐบาลไทยตกลง บริษัทก็กำไรเยอะ หากรัฐบาลไม่เอายาเรา เราก็มาเสนอราคาใหม่ ให้ต่ำกว่าคนชนะ จะยากอะไร ในเมื่อเรารู้ราคาแล้ว
“เรื่องที่แปลกประหลาดของการต่อรองราคาวัคซีนเอชพีวีครั้งนี้ คือ ในตอนแรกที่แข่งขันกัน ได้วัคซีนที่ครอบคลุมมากกว่านั่นคือ 4 สายพันธุ์ในราคาถูกกว่า แต่ต่อมากลับคุยว่า ประหยัดงบได้มากกว่า แต่ได้วัคซีนที่ครอบคลุมแค่ 2 สายพันธุ์ ถูกกว่าตรงไหน นี่มันเป็นการเทียบกับของคนละอย่างมิใช่หรือ ที่สำคัญช่วงต้นปีนี้บริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตรวัคซีนเอชพีวี 2 สายพันธุ์ได้ออกแถลงการณ์ว่าจะถอนวัคซีนเอชพีวี 2 สายพันธุ์ออกจากตลาดออสเตรเลียภายในต้นปี 61 หลังจากก่อนหน้านี้ ต.ค.59 ถอนวัคซีนชนิดเดียวกันออกจากสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุผลว่ามีความต้องการน้อย คือตลาดอื่นไม่มีใครใช้แล้ว แต่ไทยกำลังจะไปช่วยซื้อของที่คนอื่นไม่เอา” น.ส.กรรณิการ์ กล่าว
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล 0895003217
เนื้อหาอื่นๆ...
- แฉ สธ.แทรกแซงการคัดเลือกวัคซีน HPV เข้าบัญชียาหลัก
- ภาคปชช.เชียงใหม่ walk out เวทีแก้กม.บัตรทอง
- เจ็บป่วยฉุกเฉิน เริ่มเข้าที่ แต่ยังพบปัญหาเข้า รพ.เอกชนที่ไกลกว่า รพ.รัฐใกล้บ้าน
- บอร์ดสปส. มีมติเพิ่มค่าบริการทางการแพทย์ผู้ป่วยประกันสังคม 1,500 บ.ต่อคนต่อปี
- อดีต รมว.สาธารณสุข เปิดใจถึงนายกตู่ ชี้มีพวกกำลังทำลายหลักการสำคัญผ่านแก้ พรบ.หลักประกันสุขภาพ