ฉลาดซื้อพบสารปนเปื้อนในน้ำปลาร้า แต่ไม่เกินเกณฑ์ เตือนปรุงสุกก่อนบริโภค

papaya

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเผยปริมาณแคดเมียม ตะกั่ว และสารกันบูดในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด แนะให้ผู้บริโภคปรุงสุกก่อนบริโภค อ่านฉลากให้รอบคอบ และเลือกรับผลิตภัณฑ์ที่มีอย.

 

วันนี้ (2 กรกฎาคม 2562) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ โดยโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมมือกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยผลทดสอบน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ ครั้งที่ 2 เพื่อเป็นการเฝ้าระวังด้านอาหารและสร้างความมั่นใจในการบริโภค เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ จำนวน 15 ตัวอย่าง เป็นผลิตภัณฑ์เดิม 9 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 6 ตัวอย่าง ส่งวิเคราะห์หาสารโลหะหนักตะกั่วและแคดเมียม รวมทั้งเพิ่มการทดสอบปริมาณสารกันบูดกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกด้วย

plara graphic 04 col rgb 01 ok

plara graphic 04 col rgb 02 ok

          ผลทดสอบตะกั่วพบว่า น้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้า ของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียม ต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช. เช่นกัน

สำหรับผลทดสอบปริมาณสารกันบูด พบผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสุก 2 ยี่ห้อ ที่ระบุบนฉลากว่าไม่ใช้วัตถุกันเสีย แต่กลับตรวจพบกรดเบนโซอิก ได้แก่ น้ำปลาร้าปรุงรสตราไทยอีสาน พบปริมาณกรดเบนโซอิก 831.83 มก./กก. และ น้ำปลาร้าส้มตำปรุงสำเร็จ ตะวันทอง ๑ พบปริมาณกรดเบนโซอิก 404.84 มก./กก. ซึ่งใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าต้มสุกเข้มข้น ตราน้องพร ที่พบปริมาณกรดเบนโซอิก 641.81 มก./กก. แต่แสดงข้อมูลบนฉลากชัดเจนว่าใช้วัตถุกันเสีย ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดพบกรดเบนโซอิกไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดคือ ไม่เกิน 1,000 มก./กก.   

          อย่างไรก็ตาม หลายผลิตภัณฑ์พบว่ามีปริมาณกรดเบนโซอิกในปริมาณไม่มาก (ไม่ถึง 100 มก./กก.) คือ ไม่มากพอที่จะเป็นการตั้งใจใส่เพื่อให้มีฤทธิ์ในการต่อต้านจุลินทรีย์(ปริมาณที่เหมาะต่อการเก็บหรือยืดอายุอาหารคือ 500-2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ดังนั้นเป็นไปได้ว่ามาจากวัตถุดิบที่นำมาผลิต ซึ่งกรดเบนโซอิกสามารถพบได้จากพืชพรรณหลายชนิดตามธรรมชาติ

 

อ่านบทความได้ที่

- ฉบับที่ 220 ปริมาณแคดเมียมและตะกั่วและสารกันบูดในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ
-
ฉบับที่ 205 ผลิตภัณฑ์ของฝาก-ของดี จาก 4 ภาค "น้ำพริกหนุ่ม น้ำปลาร้า แกงไตปลาแห้ง และโรตีสายไหม"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- สงกรานต์นี้… อย่าลืม! ดูให้ดีก่อนเลือกซื้อโรตีสายไหม น้ำพริกหนุ่ม แกงไตปลาแห้ง เพราะมีสารกันบูดเกินเกณฑ์ ส่วนน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จพบโลหะหนักแต่ปลอดภัย

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, นิตยสารฉลาดซื้อ, ของฝาก, น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน