ไทยแพนเปิดผลตรวจผักผลไม้พบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน 41% ผักห้างแย่กว่าผักตลาดสด ตะลึงพบสารพิษห้ามใช้ในประเทศไทยตกค้างอื้อ 12 ชนิด

pak

          วันนี้ (26 มิถุนายน 2562) ณ สวนชีววิถี จังหวัดนนทบุรี --- เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน (Thai PAN) ได้จัดแถลงผลการตรวจผักและผลไม้ประจำปี 2562 โดยร่วมมือกับองค์กรภาคีต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยงานราชการ เช่น เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ องค์กรผู้บริโภค และภาคประชาสังคม ในจังหวัดต่างๆ โดยเก็บตัวอย่างผักและผลไม้ทั้งหมด 286 ตัวอย่างจากห้างค้าปลีก ตลาดสดทั่วไปในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น ยโสธร สระแก้ว จันทบุรี ราชบุรี และสงขลา ครอบคลุมผัก 15 ชนิด และผลไม้ 9 ชนิดที่นิยมบริโภคทั่วไป โดยส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO-17025 ในประเทศสหราชอาณาจักร

          นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช กล่าวถึงผลการตรวจสารเคมีในผักและผลไม้ว่า พบผักผลไม้ที่มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานสูงถึงร้อยละ 41 โดยผักที่พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานมากที่สุดคือ กวางตุ้ง คะน้า กะเพรา ผักชี พริก กะหล่ำดอก ผักชี โดยพบ 10, 9, 8, 7, 7 และ 7 ตัวอย่างจาก 12 ตัวอย่างตามลำดับ ส่วนผลไม้ที่พบการตกค้างมากที่สุดได้แก่ ส้ม ชมพู่ ฝรั่ง องุ่น โดยพบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน 12, 11, 7 และ 7 ตัวอย่างจากการสุ่มตรวจ 12 ตัวอย่างตามลำดับ

          เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผักและผลไม้ที่ปลูกในประเทศกับผลไม้นำเข้า พบว่า ผลไม้นำเข้า มีการตกค้างร้อยละ 33.3 แต่ผลไม้ที่ปลูกในประเทศกลับพบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานสูงถึงร้อยละ 48.7 ข้อมูลที่น่าสนใจผักผลไม้ที่ขายให้ห้างค้าปลีกซึ่งราคาสูงกว่าผักผลไม้ในตลาดทั่วไปหลายเท่านั้น มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานมากกว่าตลาดสด โดยพบมากถึงร้อยละ 44 (52 จาก 118 ตัวอย่าง) ในขณะที่ในตลาดสดพบสารตกค้างร้อยละ 39 (66 จาก 168 ตัวอย่าง)

64891755 10157817688157590 4438826233442074624 o

          ผู้ประสานงานไทยแพนกล่าวอีกว่า ข่าวดีสำหรับประชาชนทั่วไปคือ ปี 2562 พบอัตราการตกค้างของสารเคมีในผักและผลไม้ลดลงเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับผลการเฝ้าระวังในปี 2560 ซึ่งไทยแพนพบการตกค้างเกินมาตรฐานร้อยละ 46 และผักผลไม้ที่ได้ตรารับรองคุณภาพ GAP, GMP พบการตกค้างเหลือร้อยละ 26 เท่านั้น ส่วนผักผลไม้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของรัฐ "Organic Thailand" ยังคงต้องปรับปรุง เพราะพบการตกค้างของสารพิษ 3 ตัวอย่างจาก 6 ตัวอย่าง ในขณะที่ตรารับรอง เกษตรอินทรีย์อื่น เช่น USDA, EU, Bioagricert, มกท. (สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์) สุ่ม ไม่พบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน

          สำหรับสารพิษกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างมากที่สุด ได้แก่ สารฆ่าเชื้อรา คาร์เบนดาซิม (carbendazim) ซึ่งไม่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกานานกว่าทศวรรษ เพราะมีผลต่อระบบสืบพันธุ์ แต่กลับพบการตกค้างในผักและผลไม้ถึง 57 ตัวอย่าง รองลงมาคือไซเปอร์เมทริน อิมิดาคลอร์ฟริด เอซอกซิสโตรบิน และคลอร์ไพริฟอสซึ่งเป็นสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการสมองของเด็ก พบ 54, 41, 39 และ 38 ตัวอย่างตามลำดับ

          นอกจากนี้ยังพบสารพิษกำจัดศัตรูพืชที่ยกเลิกการใช้ไปแล้ว เช่น เมทามิโดฟอส ถึง 8 ตัวอย่าง พบสารพิษที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน เช่น คาร์โบฟูราน 9 ตัวอย่าง เมโทมิล 8 ตัวอย่าง และสารซึ่งไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 มากถึง 9 ชนิด เช่น Boscalid, Ethirimol, Fenhexamid, Fluxapyroxad, Isopyrazam, Metrafenone, Proquinazid, Pyrimethanil, Quinoxyfen ซึ่งสาร 3 กลุ่มนี้ทั้งหมดล้วนผิดกฎหมายและเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ปล่อยให้มีการใช้ และ อย. ที่ปล่อยให้มีการตกค้าง

          เมื่อถามถึงแนวทางการดำเนินการในอนาคต นางสาวปรกชล กล่าวว่า ไทยแพนจะจัดเตรียมผลการตรวจวิเคราะห์ดังกล่าวและประเด็นหารือเพื่อเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ หลังจากมีการโปรดเกล้าแต่งตั้งแล้ว โดยจะเรียกร้องให้ทั้ง 2 กระทรวงเดินหน้ายุติการใช้สารพิษอันตรายร้ายแรง 3 ชนิด ได้แก่พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยเร็วที่สุด รวมทั้งเสนอให้จัดการแก้ปัญหาสารพิษที่ตกค้างบ่อย และตรวจพบตกค้างเป็นอันดับต้นๆ เช่น สารคาร์เบนดาซิม ทั้งนี้ ควรจะมีแนวทางจัดการกับหน่วยราชการที่ปล่อยให้มีการจำหน่ายและใช้จนสามารถตรวจพบการตกค้างด้วย

prokchon 1

          "นอกจากนี้ ไทยแพนจะนำ ข้อมูลผลการตรวจผักและผลไม้ในห้างค้าปลีก โดยเฉพาะส่วนที่พบว่ายังมีการใช้สารพิษร้ายแรงที่ประเทศไทยได้ห้ามใช้แล้ว ไปมอบให้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เพื่อให้มีการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดต่อไป" นางสาวปรกชล กล่าว

          นางสาวพนมวรรณ คาดพันโน นักวิชาการสาธารณสุข ตัวแทนสมัชชาสุขภาพจังหวัดยโสธร ซึ่งเข้าร่วมวางแผนการเก็บตัวอย่าง และการตรวจวิเคราะห์ในครั้งนี้ยังได้แถลงเพิ่มเติมว่า ผลการตรวจวิเคราะห์ของไทยแพนในครั้งนี้เป็นการดำเนินการร่วมกันของหลายฝ่าย ซึ่งภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมจะดำเนินการนำผลวิเคราะห์ไปหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดและผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เปิดตลาดเขียวพื้นที่ และผลักดันให้เกิดธรรมนูญตำบล เพื่อจัดทำเขตปลอดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและยาฆ่าหญ้าเพื่อให้ผักและผลไม้ในพื้นที่ต่างๆปลอดจากสารพิษ และประชาชนมีสุขภาพที่ดีจากสิ่งแวดล้อมและอาหารที่ปลอดภัยมากขึ้น

thaipan2 2 

thaipan3 3

Tags: ThaiPAN, มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI), สารเคมีอันตราย

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน