เด็กไทยจ่ายปีเกือบหมื่นซื้อขนมขยะ ชี้มันฝรั่งไขมันอื้อ

 สธ. เปิดตัวสัญลักษณ์รับรองคุณภาพอาหารลดน้ำตาล ไขมัน โซเดียม 25% เริ่มจากขนมเด็ก 6 บริษัทผลิตอาหารตบเท้าเข้าร่วม จำหน่ายในท้องตลาด พ.ค.นี้ หวังเปลี่ยนพฤติกรรมติดหวาน มัน เค็ม อย.เผยบิสกิตสอดไส้ มีน้ำตาลสูงสุด มันฝรั่งทอดกรอบ ไขมันมากสุด ส่วนปลาเส้นเป็นขนมที่มีโซเดียมมากสุด เฉลี่ยเด็กไทยเสียเงินซื้อขนมกรุบกรอบ วันละ 26 บาท ตกปีละ 9,800 บาท แต่เสียเงินด้านการศึกษาแค่3,024 บาทต่อปี

       วันที่ 22 เมษายน นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีแถลงข่าวเปิดโครงการตรวจสัญลักษณ์รับรองอาหารลดน้ำตาล ไขมันและโซเดียม 25% ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันกับบริษัทผู้ผลิตขนมกรุบกรอบ6 บริษัท คือ 1.บริษัท วาไรตี้ ฟูดส์ อินเอตร์เนชั่นแนล จำกัด 2. บริษัทโรงงานแม่รรวย จำกัด (โก๋แก่) 3. บริษัท เวิร์ลฟูลด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 4. บริษัทอุตสาหกรรม ส.ขอนแก่น จำกัด (มหาชน) 5. บริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) และ 6.บริษัท อัลฟ่า เจ จำกัด (ฟ้าสาธุ ซองเดอร์) ร่วมพัฒนาผลิตผลิตภัณฑ์อาหารลดน้ำตาล ไขมัน โซเดียม ร้อยละ 25
       
       นายวิทยา กล่าวต่อว่า ได้มีการกำหนดตราสัญลักษณ์อาหารลดน้ำตาล ไขมัน โซเดียม 4 แบบ ตามชนิดของการลด คือ 1 อาหารลดน้ำตาล ไขมัน โซเดียม 2 อาหารลดน้ำตาล ไขมัน 3 อาหารลดน้ำตาล โซเดียม และ 4 อาหารลดไขมัน โซเดียม โดยต้องมีข้อความ “บริโภคแต่น้อยและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ” ติดที่บรรจุภัณฑ์เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้และมีทางเลือกในการซื้อขนมเพื่อสุขภาพ พร้อมทั้งกระตุ้นให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่าย ผลิตและจำหน่ายอาหารที่ดีต่อสุขภาพของประชาชนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้เป็นการปรับพฤติกรรมการบริโภคให้มีการบริโภคอาหารที่รสไม่หวานจัด เค็มจัดอีกด้วย
       
       “นอกจากนี้ มีผู้แทนจำหน่ายที่ให้ความร่วมมือเป็นตัวแทนในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับตราสัญลักษณ์รับรองอาหารลดน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม 25% อาทิ บริษัทซีพีออลล์ บริษัทสยามแมคโคร (มหาชน) บริษัทเทสโก้โลตัส ซึ่งคาดว่าในเดือน พฤษภาคม 2552 จะเริ่มเข้าสู่ตลาดและมีการจำหน่าย ทั้งนี้สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถยื่นใบสมัครร่วมโครงการได้”นายวิทยากล่าว
       
       นพ. ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าประเทศไทยมีเด็กอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจะพบเด็กอ้วน 1 ใน4 คน ขณะที่ 30-80% เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็ยังคงมีสภาวะอ้วน และป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง และจากการสำรวจการบริโภคขนมกรุบกรอบของเด็กและเยาวชนในปี 2549 พบ เด็กไทยมีการใช้เงินซื้อขนบกรุบกรอบเฉลี่ยวันละ 26 บาทต่อวัน หรือคิดเป็น 40% ของค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน และหากคิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อปีพบมีการใช้เงินสูงถึง 9,800 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาตกปีละ 3,024 บาทต่อคนเท่านั้น ขณะที่ขนมส่วนใหญ่ที่เด็กซื้อมาบริโภค 90% จะประกอบด้วยแป้งน้ำตาล โซเดียม ทำให้เด็กได้รับแป้งและน้ำตาลจากขนมมากเกินไป ทั้งนี้จะมีการ
       
       ดร.ชนินทร์ เจริญพงศ์ นักวิชาการสำนักงานคณะกรรมการอาการและยา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ตรวจสอบพบว่า กลุ่มขนมที่มีปริมาณน้ำตาลสูงสุดได้แก่ ขนมบิสกิตสอดไส้ในปริมาณ 30 กรัม พบน้ำตาลเฉลี่ย 10.4 กรัม ไขมัน 6.3 กรัม โซเดียม 138 กรัม หากลดปริมาณลงร้อยละ 25 จะเหลือน้ำตาล 7.8 กรัม ไขมัน 4.8 กรัม โซเดียม 103.5 กรัม ส่วนกลุ่มขนมที่มีไขมันสูงสุดได้แก่ ขนมมันฝรั่งทอดกรอบ 30 กรัม พบ น้ำตาล 0.3 กรัม ไขมัน 9.7 กรัม โซเดียม 116.3 กรัม หากลดปริมาณลงร้อยละ 25 จะเหลือน้ำตาล 0 กรัม ไขมัน 7.3 กรัม โซเดียม 87.3 กรัม ส่วนขนมที่มีโซเดียมสูงสุดได้แก้ ปลาเส้น ปริมาณ 30 กรัม พบน้ำตาลเฉลี่ย 7.5 กรัม ไขมัน 0.5 กรัม โซเดียม 717 กรัม หากลดปริมาณลงร้อยละ 25 จะเหลือน้ำตาล 5.6 กรัม ไขมัน 0.4 กรัม โซเดียม 537.8 กรัม
       
       นายสมนึก งามนิธิพร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท วาไรตี้ ฟูดส์ อินเอตร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ในการผลิตขนมที่ต้องมีการลดน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณนม หรือแป้งถั่วแดงแทน ซึ่งในทางธุรกิจไม่สามารถคาดหวังถึงผลกำไรได้ เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้น ราคาคงปรับสูงกว่าราคาขนมปกติไม่เกิน 10% แต่คิดว่าเป็นการทำบุญให้กับเด็กไทยได้บริโภคขนมที่มีประโยชน์

 

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์22 เมษายน 2552 12:39 น.

พิมพ์ อีเมล

นักวิชาการหนุนคุมโฆษณาเหล้าก่อนคุมห้ามดื่ม-ห้ามขาย

นักวิชาการหนุนคุมโฆษณาเหล้าก่อนคุมห้ามดื่มห้ามขาย เหตุบริษัทเหล้าดี๊ด๊าโฆษณาเหล้าไม่เกรงใจ อ้างยังไม่มีกฎหมายลูก ชี้ มาตรการตั้งด่านวัดแอลกอฮอล์ถึงทางตันแล้ว ด้านเอ็นจีโอระบุสธ.พร้อมออกกฎหมายลูกเพิ่ม แต่หวั่น “เสธ.หนั่น” ทำแท้งอีก
       
       นพ.ทักษพล ธรรมรังสี แผนงานพัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านนโยบายเครื่องดื่มแอกลอฮอล์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ขอเสนอให้เน้นเรื่องการออกกฎหมายลูกเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะที่ผ่านมาเป็นช่วงปล่อยผีมานานตั้งแต่มีกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ซึ่งการที่นายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข ที่จะผลักดันการออกกฎหมายลูกตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เพิ่มเติม เฉพาะประเด็นเรื่องการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ และการห้ามดื่มในพื้นที่สาธารณะเท่านั้นคงไม่เพียงพอ
       
       นพ.ทักษพล กล่าวว่า ตั้งแต่ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมประชาสัมพันธ์ ที่รับผิดชอบดูแลการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อทีวีและวิทยุ ส่วนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคก็ดูแลในส่วนสื่อโฆษณากลางแจ้ง ก็ต้องหยุดชะงักไป เนื่องจากอ้างว่ารอความชัดเจนจากกฎหมายลูกที่จะออกเพิ่มเติม ทำให้มีช่องว่างกฎหมาย ปล่อยผีมานานหลายปี จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ก่อน เพราะการโฆษณามีผลดึงดูด กระตุ้นให้เกิดการดื่มมากขึ้น
       
       นพ.ทักษพล กล่าวต่อว่า การที่ไม่มีความชัดเจนออกมาจากทางภาครัฐ ทำให้บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลองเชิงการโฆษณาเกินกว่าที่มีการห้ามไว้ โดยเสมือนว่า ไม่มีการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใดๆ ไม่ว่าการใช้ถ้อยคำในโฆษณาเพื่อสังคมของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผูกโยงว่า ดื่มแล้วเท่ ดื่มแล้วดี เป็นคนดีของสังคม อาทิ ให้เพื่อนเต็มร้อย สอดคล้องกับชื่อสินค้า ชีวิตดีสังคมดี ฯลฯ รวมถึงการเลี่ยงบาลี เช่น ห้ามโฆษณาเห็นขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่บริษัทน้ำเมาก็ฉายภาพส่วนหนึ่งของขวด เช่น คอขวด มุมขวด และอ้างว่าไม่เป็นไร ไม่ผิดกฎหมายเพราะไม่ได้เห็นเต็มขวด
       
       “ขณะนี้ได้พิสูจน์แล้วว่า มาตรการเดิมๆ ในช่วงรับมือกับอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล อย่างการตั้งจุดตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่เป็นหมื่นกว่าจุด จากเดิม 7 พันกว่าจุดนั้นไม่ได้ผล และถึงทางตันที่จะนำมาตรการดังกล่าวมาใช้เพียงอย่างเดียวแล้ว จำเป็นต้องมีมาตรการอื่นๆร่วมกันเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และหนทางที่ดีคือการห้ามการโฆษณา ไปพร้อมๆ กับการห้ามดื่มห้ามขาย” นพ.ทักษพล กล่าว
       
       ด้านนายสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า หากกระทรวงสาธารณสุขจะเสนอเรื่องการห้ามดื่มในพื้นที่สาธารณะ และการห้ามขายในช่วงเทศกาลเพื่อหวังลดคนเจ็บตายจากอุบัติเหตุแล้ว เชื่อว่า สธ.มีข้อมูลแนวทางมาตรการอื่นๆ เช่นการห้ามการออกกฎหมายโฆษณาพร้อมที่จะนำเสนออยู่แล้ว
       
       “อย่างไรก็ตาม สธ.พร้อมเสนอข้อมูลแนวทางในการออกกฎหมายลูกให้กับคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พิจารณา แต่ก็ไม่ทราบว่าคณะกรรมการนโยบายฯจะรับพิจารณาหรือไม่ เพราะมี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพราะที่ผ่านมาก็ปฏิเสธมาตรการการห้ามขายน้ำเมาในช่วงเทศกาลไปแล้ว โดยไม่มีข้อมูลมาอ้างอิง หากพล.ต.สนั่นยังเป็นประธานอยู่ ก็ไม่ทราบว่ากฎหมายที่จะออกมาจะเป็นรูปแบบใด” นายสงกรานต์ กล่าว
       
       นายสงกรานต์ กล่าวว่า ที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเรื่องเด็กและสตรี ดังนั้น นายกฯควรลงมาพิจารณาเรื่องนี้ด้วยตนเองในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายฯ แทน พล.ต.สนั่น เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้เป็นต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นรากเหง้าของปัญหาความรุนแรงของสังคมด้วย
       
       “นายกฯแถลงข่าวให้ประชาชน ทราบว่า สามารถดำเนินการสลายการชุมนุมโดยป้องกันความรุนแรงทำให้ปราศจากผู้เสียชีวิต แต่ที่เสียชีวิต 2 รายเกิดจากการจลาจล แต่ขณะเดียวกัน มีผู้เสียชีวิตในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาแค่ 7 วัน มากถึง 373 ราย นายกฯจะไม่ดำเนินการป้องกันอะไรเลยหรืออย่างไร ทั้งที่คนตายมากกว่าหลายเท่านัก” นายสงกรานต์ กล่าว

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์22 เมษายน 2552 07:54 น.

พิมพ์ อีเมล

ล่า 1 หมื่นชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าถึงยา คาด 2 เดือนสำเร็จ

ภาคประชาชนล่า 1 หมื่นรายชื่อ เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.การเข้าถึงยา

อ่านต่อ

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน