นักวิชาการหนุนคุมโฆษณาเหล้าก่อนคุมห้ามดื่ม-ห้ามขาย

นักวิชาการหนุนคุมโฆษณาเหล้าก่อนคุมห้ามดื่มห้ามขาย เหตุบริษัทเหล้าดี๊ด๊าโฆษณาเหล้าไม่เกรงใจ อ้างยังไม่มีกฎหมายลูก ชี้ มาตรการตั้งด่านวัดแอลกอฮอล์ถึงทางตันแล้ว ด้านเอ็นจีโอระบุสธ.พร้อมออกกฎหมายลูกเพิ่ม แต่หวั่น “เสธ.หนั่น” ทำแท้งอีก
       
       นพ.ทักษพล ธรรมรังสี แผนงานพัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านนโยบายเครื่องดื่มแอกลอฮอล์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ขอเสนอให้เน้นเรื่องการออกกฎหมายลูกเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะที่ผ่านมาเป็นช่วงปล่อยผีมานานตั้งแต่มีกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ซึ่งการที่นายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข ที่จะผลักดันการออกกฎหมายลูกตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เพิ่มเติม เฉพาะประเด็นเรื่องการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ และการห้ามดื่มในพื้นที่สาธารณะเท่านั้นคงไม่เพียงพอ
       
       นพ.ทักษพล กล่าวว่า ตั้งแต่ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมประชาสัมพันธ์ ที่รับผิดชอบดูแลการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อทีวีและวิทยุ ส่วนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคก็ดูแลในส่วนสื่อโฆษณากลางแจ้ง ก็ต้องหยุดชะงักไป เนื่องจากอ้างว่ารอความชัดเจนจากกฎหมายลูกที่จะออกเพิ่มเติม ทำให้มีช่องว่างกฎหมาย ปล่อยผีมานานหลายปี จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ก่อน เพราะการโฆษณามีผลดึงดูด กระตุ้นให้เกิดการดื่มมากขึ้น
       
       นพ.ทักษพล กล่าวต่อว่า การที่ไม่มีความชัดเจนออกมาจากทางภาครัฐ ทำให้บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลองเชิงการโฆษณาเกินกว่าที่มีการห้ามไว้ โดยเสมือนว่า ไม่มีการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใดๆ ไม่ว่าการใช้ถ้อยคำในโฆษณาเพื่อสังคมของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผูกโยงว่า ดื่มแล้วเท่ ดื่มแล้วดี เป็นคนดีของสังคม อาทิ ให้เพื่อนเต็มร้อย สอดคล้องกับชื่อสินค้า ชีวิตดีสังคมดี ฯลฯ รวมถึงการเลี่ยงบาลี เช่น ห้ามโฆษณาเห็นขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่บริษัทน้ำเมาก็ฉายภาพส่วนหนึ่งของขวด เช่น คอขวด มุมขวด และอ้างว่าไม่เป็นไร ไม่ผิดกฎหมายเพราะไม่ได้เห็นเต็มขวด
       
       “ขณะนี้ได้พิสูจน์แล้วว่า มาตรการเดิมๆ ในช่วงรับมือกับอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล อย่างการตั้งจุดตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่เป็นหมื่นกว่าจุด จากเดิม 7 พันกว่าจุดนั้นไม่ได้ผล และถึงทางตันที่จะนำมาตรการดังกล่าวมาใช้เพียงอย่างเดียวแล้ว จำเป็นต้องมีมาตรการอื่นๆร่วมกันเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และหนทางที่ดีคือการห้ามการโฆษณา ไปพร้อมๆ กับการห้ามดื่มห้ามขาย” นพ.ทักษพล กล่าว
       
       ด้านนายสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า หากกระทรวงสาธารณสุขจะเสนอเรื่องการห้ามดื่มในพื้นที่สาธารณะ และการห้ามขายในช่วงเทศกาลเพื่อหวังลดคนเจ็บตายจากอุบัติเหตุแล้ว เชื่อว่า สธ.มีข้อมูลแนวทางมาตรการอื่นๆ เช่นการห้ามการออกกฎหมายโฆษณาพร้อมที่จะนำเสนออยู่แล้ว
       
       “อย่างไรก็ตาม สธ.พร้อมเสนอข้อมูลแนวทางในการออกกฎหมายลูกให้กับคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พิจารณา แต่ก็ไม่ทราบว่าคณะกรรมการนโยบายฯจะรับพิจารณาหรือไม่ เพราะมี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพราะที่ผ่านมาก็ปฏิเสธมาตรการการห้ามขายน้ำเมาในช่วงเทศกาลไปแล้ว โดยไม่มีข้อมูลมาอ้างอิง หากพล.ต.สนั่นยังเป็นประธานอยู่ ก็ไม่ทราบว่ากฎหมายที่จะออกมาจะเป็นรูปแบบใด” นายสงกรานต์ กล่าว
       
       นายสงกรานต์ กล่าวว่า ที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเรื่องเด็กและสตรี ดังนั้น นายกฯควรลงมาพิจารณาเรื่องนี้ด้วยตนเองในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายฯ แทน พล.ต.สนั่น เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้เป็นต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นรากเหง้าของปัญหาความรุนแรงของสังคมด้วย
       
       “นายกฯแถลงข่าวให้ประชาชน ทราบว่า สามารถดำเนินการสลายการชุมนุมโดยป้องกันความรุนแรงทำให้ปราศจากผู้เสียชีวิต แต่ที่เสียชีวิต 2 รายเกิดจากการจลาจล แต่ขณะเดียวกัน มีผู้เสียชีวิตในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาแค่ 7 วัน มากถึง 373 ราย นายกฯจะไม่ดำเนินการป้องกันอะไรเลยหรืออย่างไร ทั้งที่คนตายมากกว่าหลายเท่านัก” นายสงกรานต์ กล่าว

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์22 เมษายน 2552 07:54 น.

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน