ทำไมต้องมี กฎหมายการติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม พ.ศ..............
แม้ว่าในการกู้ยืมเจ้าหนี้จะมีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะติดตามทวงถามหนี้จากลูกหนี้เพื่อให้ได้รับการชำระหนี้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องกระทำโดยวิธีการที่เหมาะสมและตามสมควร ซึ่งวิธีการติดตามทวงถามหนี้นั้นจะต้องไม่เป็นการละเมิด คุกคาม และทำให้ลูกหนี้เสื่อมเสียชื่อเสียง
แต่ในปัจจุบันพบว่า การติดตามทวงถามหนี้ของเจ้าหนี้สินเชื่อบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต หลายราย ยังมีการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกหนี้ในหลายลักษณะ เช่น
ใช้ช่วงเวลาและความถี่การการติดตามทวงถามหนี้ที่มากเกินควรจนเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญต่อลูกหนี้
ไม่มีการแจ้งชื่อ เอกสารการได้รับอนุญาตให้ทวงหนี้แทนจากผู้ประกอบธุรกิจและวัตถุประสงค์ในการติดต่อให้ลูกหนี้ทราบอย่างถูกต้องเหมาะสม
ใช้ภาษาหยาบคาย ข่มขู่ ดูหมิ่น หรือส่อให้เห็นถึงผลกระทบที่มีลักษณะเป็นการข่มขู่ลูกหนี้ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับลูกหนี้ เช่น พ่อ แม่ สามี ภรรญา หรือนายจ้าง หรือเพื่อนร่วมงาน หรือทำให้ลูกหนี้สำคัญผิดว่าลูกหนี้ได้กระทำสิ่งที่ผิดกฎหมายหรือผิดศีลธรรมอันดีงาม
ใช้วิธีการเรียกเก็บหนี้จากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับลูกหนี้ โดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ ฯลฯ
ปัญหาสำคัญคือ การติดตามทวงถามหนี้ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการทำธุรกรรมของผู้ติดตามหนี้ รวมทั้งยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองประชาชนผู้เป็นหนี้ไว้เป็นการเฉพาะ ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะองค์กรกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ให้ความใส่ใจเพียงแค่การแจ้งเป็นแนวปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้ออกเป็นหนังสือเวียนขอความร่วมมือไปยังสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจเท่านั้น ซึ่งไม่ค่อยได้ผลสักเท่าไรนักเพราะยังมีการติดตามทวงถามหนี้ที่เป็นการละเมิด คุกคาม และทำให้ลูกหนี้เสื่อมเสียชื่อเสียงอยู่ตลอดเวลาโดยไม่มีบทลงโทษใด ๆ
ด้วยสภาพปัญหาดังกล่าว เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2550 รองศาสตราจารย์ ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนั้น ได้ยื่นเสนอ ร่างพระราชบัญญัติการติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม พ.ศ. ... ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ส่วนหนึ่งมาจากการระดมความเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งจากตัวแทนของกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ และตัวแทนของชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล รวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคม อย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสภาทนายความ แต่น่าเสียดายที่ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ไปไม่ถึงดวงดาวเนื่องจากมีการยุบสภานิติบัญญัติไปเสียก่อน และจวบจนถึงรัฐบาลปัจจุบันร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนแต่อย่างใด
คงต้องถึงเวลาของพวกเราแล้ว ที่จะต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดกฎหมายคุ้มครองลูกหนี้ฉบับนี้เสียทีครับ
ใครอยากให้มีกฎหมายติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม...ช่วยกันแสดงความคิดเห็นด้วยครับ
ความเคลื่อนไหวที่ยังไม่มีความคืบหน้า คลังเร่งคลอดกฎหมายทวงหนี้ดันเข้า ครม.นัดพิเศษ 16 ก.ค.นี้ คมชัดลึก :คลังเร่งคลอด พ.ร.บ.ทวงหนี้ หวังสร้างความเป็นธรรมแก่ลูกหนี้ โดยเฉพาะในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คาดเสนอ ครม.นัดพิเศษ 16 ก.ค.นี้ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างยกร่างพระราชบัญญัติทวงหนี้ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยวัตถุประสงค์ของร่างกฎหมายดังกล่าวมีขึ้นเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ลูกหนี้ที่ถูกเจ้าหนี้ทวงหนี้อย่างไม่เหมาะสม เช่น การใช้วาจาที่ไม่สุภาพ หรือการสร้างความอับอายให้แก่ลูกหนี้ |
กฎหมายทวงหนี้ไม่เกิด ไม่มีวันที่ลูกหนี้จะได้รับความเป็นธรรม
ถึงเวลาที่ผู้บริโภคอย่างเราต้องเดินเครื่องกันเองแล้วครับ
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอความร่วมมือจากสมาชิกชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลทุกท่าน ได้โปรดสละเวลาพิจารณารายละเอียดของร่างกฎหมายการติดตามทวงถามหนี้ที่เป็นธรรม โดยใช้ฉบับของ อ.สังศิต พิริยะรังสรรรค์ เป็นตัวตั้ง ว่าเห็นหรือเห็นแตกต่างในส่วนใดกันบ้าง เพื่อที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะได้รวบรวมความเห็นของสมาชิกชมรมหนี้ฯและประชาชนทุกท่านนำมาปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้ให้เป็นร่างกฎหมายของประชาชนและนำเสนอต่อนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป
อิฐบูรณ์ อ้นวงษา
หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค