ความคืบหน้าการฟ้องคดีกลุ่ม 3 ค่ายมือถือดัง ดีแทคไต่สวนพยานเสร็จสิ้น เอไอเอสศาลนัดไต่สวนเดือนหน้า ส่วนทรูเจรจาตกลงกันได้
จากกรณี เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 ตัวแทนผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่ม 3 ค่ายมือถือดัง เรื่องการคิดค่าโทรศัพท์แบบปัดเศษวินาทีเป็นนาที เนื่องจากการคิดค่าบริการแบบดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเกินกว่าที่ใช้จริง และถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยได้รับความช่วยเหลือจากด้านคดีจากศูนย์ทนายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม
โดยเมื่อวันที่ 9-11 มิถุนายนที่ผ่านมา นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) โจทก์แกนนำของผู้ใช้แบบรายเดือน และนางสาวรมณีย์ เต็มเปี่ยม เครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตก โจทก์แกนนำผู้ใช้แบบเติมเงินพร้อมว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อมผู้ดูแลคดีดังกล่าว เดินทางไปยังศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อไต่สวนคำร้องดำเนินคดีแบบกลุ่ม กรณีฟ้องบริษัทดีแทคเรียกค่าเสียหายจากการปัดเศษวินาทีเอาเปรียบผู้บริโภค โดยการไต่สวนคำร้องดำเนินคดีแบบกลุ่มได้เสร็จสิ้นเรียบร้อย และศาลได้นัดฟังคำสั่งการอนุญาตคดีแบบกลุ่มในวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 เวลา 9.00 น. ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้
สำหรับความคืบหน้ากรณีฟ้องบริษัทเอไอเอสในเรื่องเดียวกันนั้นอยู่ในระหว่างนัดไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยจะมีนัดไต่สวนพยานในวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 เวลา 9.00 น. ที่ศาลแพ่งรัชดา ส่วนกรณีฟ้องบริษัททรู คดีสิ้นสุดแล้วเนื่องจากมีการเจรจาไกล่เกลี่ยและตกลงกันได้ ซึ่งทางบริษัทได้ทยอยชำระค่าชดเชยเยียวยาให้กับผู้เสียหายแล้ว ถือเป็นบริษัทเดียวในขณะนี้ที่ยอมตกลงเยียวยาผู้บริโภค ส่วนอีกสองค่าย แม้จะมีการเจรจาแต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า การฟ้องคดีแบบกลุ่มในครั้งนี้ เรามีความตั้งใจเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการชดเชยเยียวยาจากการคิดค่าบริการแบบปัดเศษค่าโทรที่ไม่เป็นธรรม จึงอยากให้ผู้บริโภคทุกคนช่วยกันติดตามว่าสุดท้ายคำตัดสินของศาลจะเป็นอย่างไร หรือทั้งสองบริษัทจะมีแนวทางการชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้บริโภคหรือไม่อย่างไร
ว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม ผู้ดูแลคดี กล่าวว่า การดําเนินคดีแบบกลุ่มเป็นวิธีที่สามารถคุ้มครองผู้เสียหายจํานวนมากได้ในการดําเนินคดีเพียงครั้งเดียว และสามารถสร้างความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียหายที่ไม่มีความสามารถฟ้องคดีด้วยตัวเองได้ หรือได้รับความเสียหายจํานวนเพียงเล็กน้อยจนไม่คุ้มที่จะนำคดีสู่ศาล
“คดีนี้ผู้เสียหายแต่ละรายมีมูลค่าความเสียหายไม่กี่ร้อย หากให้นำคดีมาฟ้องเองย่อมไม่คุ้มค่า เราหวังว่าการดําเนินคดีแบบกลุ่มในครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนและเป็นมาตรการที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้บริโภค สร้างสังคมให้มีความเป็นธรรม ประกอบกับการดําเนินคดีแบบกลุ่มเป็นวิธีการที่ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการดําเนินการ และยังช่วยหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนในการฟ้องคดี และป้องกันความขัดแย้งกันของคําพิพากษา ตลอดจนเป็นมาตรการในการลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ว่าที่ร้อยตรีสมชาย กล่าว