ศาลแพ่งอนุญาต ‘เอไอเอส’ และ ‘ทรู’ ขยายเวลายื่นคำคัดค้านคำร้อง นัดไกล่เกลี่ยและกำหนดแนวทางการไต่สวนพร้อมกัน 13 กันยายน นี้
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2561 นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล โจทก์ที่ 1 ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เครือข่ายเอไอเอส พร้อม นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และนางสาวศรินธร อ๋องสมหวัง ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มพบ. ผู้รับผิดชอบคดีบริษัทเอไอเอส และ นางสาวชลดา บุญเกษม โจทก์ที่ 1 ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เครือข่ายทรู พร้อม นายโสภณ หนูรัตน์และนายวชิร พฤกษ์ไพบูลย์ ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มพบ. ผู้รับผิดชอบคดีบริษัททรู เดินทางไปยังศาลแพ่ง ตามกำหนดไต่สวนคำร้องขอพิจารณาคดีแบบกลุ่ม กรณีฟ้องบริษัทเอไอเอสและทรูเรียกค่าเสียหายจากการปัดเศษวินาทีเอาเปรียบผู้บริโภค
กรณีฟ้องผู้ให้บริการเครือข่ายเอไอเอส มีจำเลย 2 คน คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เจำเลยที่ 1 และ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ เอดับบลิวเอ็น จำเลยที่ 2 โดยในระหว่างพิจารณา ทนายจำเลยที่ 1 ได้เสนอให้ถอนฟ้องบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) โดยอ้างว่าสัญญาสัมปทานของบริษัทดังกล่าว หมดอายุตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2558 แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่า มีการกระทำที่เป็นการละเมิดผู้บริโภคตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป ซึ่งเกิดหลังจากสัญญาสัมปทานหมดอายุแล้ว โจทก์จึงขอเวลาตรวจสอบข้อมูลเรื่องดังกล่าว และจะยื่นคำแถลงการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อศาลภายในวันที่ 9 สิงหาคม 2561
อีกทั้ง จำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องขออนุญาตขยายเวลายื่นคัดค้านคำร้องขอพิจารณาคดีแบบกลุ่มต่อศาล โดยศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นคำคัดค้านคำร้องขอพิจารณาคดีแบบกลุ่ม ไปจนถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2561 และเลื่อนนัดไกล่เกลี่ยเป็นวันที่ 13 กันยายน 2561 เวลา 9.00 น. พร้อมนัดฟังผลการไกล่เกลี่ยและกำหนดแนวทางการไต่สวนในวันดังกล่าวเวลา 13.30 น.
นางสาวศรินธร อ๋องสมหวัง ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
นางสาวศรินธร อ๋องสมหวัง หนึ่งในทนายความผู้รับผิดชอบคดีบริษัทเอไอเอส กล่าวว่า มพบ. ได้มีการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ก่อนจะการยื่นฟ้องบริษัทเอไอเอสแล้ว แต่เมื่อทางจำเลยที่ 1 มีข้อโต้แย้ง ก็จะดำเนินการตรวจสอบและหาข้อมูลเพิ่มเติมอีกครั้ง
“แม้บริษัทเอไอเอสจะโต้แย้งว่ามีการฟ้องคดีเมื่อหมดสัมปทานไปแล้ว แต่ตามคำฟ้องก็ได้บรรยายแล้วว่า จำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 2 มีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบธุรกิจ ดังนั้น ถึงแม้สัญญาสัมปทานของจำเลยที่ 1 จะสิ้นสุดไป แต่เมื่อมีเหตุที่ต้องรับผิด จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ด้วย”
ส่วนกรณีฟ้องผู้ให้บริการเครือข่ายทรู มีจำเลย 2 คน คือ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด จำเลยที่ 1 และ บริษัท เรียลมูฟ จำกัด จำเลยที่ 2 โดยในระหว่างพิจารณา ทนายจำเลยที่ 2 อ้างว่า บริษัท เรียลมูฟ จำกัด เป็นเพียงผู้ให้บริการโครงข่ายเสมือน และไม่ได้เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรคมนาคม จึงร้องขอให้โจทก์ตรวจสอบข้อเท็จจริง นอกจากนี้ จำเลยทั้งสองได้ขอให้โจทก์แสดงวิธีการคำนวณค่าเสียหายรายเดือน และขออนุญาตขยายเวลายื่นคัดค้านคำร้องขอพิจารณาคดีแบบกลุ่ม
ศาลจึงให้โจทก์ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการของจำเลยที่ 2 และแสดงวิธีคำนวณค่าเสียหายรายเดือนแล้วแถลงต่อศาลภายในวันที่ 20 สิงหาคม 2561 อีกทั้งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นคำคัดค้านคำร้องขอพิจารณาคดีแบบกลุ่ม ไปจนถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2561 และเลื่อนนัดไกล่เกลี่ยเป็นวันที่ 13 กันยายน 2561 เวลา 9.00 น. พร้อมนัดฟังผลการไกล่เกลี่ยและกำหนดแนวทางการไต่สวนในวันดังกล่าวเวลา 13.30 น.
นายโสภณ หนูรัตน์หนึ่งในทนายความผู้ดูแลการฟ้องคดีบริษัททรู แสดงความเห็นว่า การฟ้องคดีดังกล่าว มุ่งหวังให้เกิดการเยียวยาผู้บริโภคทุกรายที่ใช้บริการโทรศัพท์ของทรู และเสียหายจากการคิดค่าบริการเกินจริง ในเบื้องต้นจะไกล่เกลี่ยกันก่อน เพื่อหาข้อสรุปในการเยียวยาผู้บริโภค ซึ่งหวังว่าจะเป็นข้อเสนอที่ดีและทำให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภค