หลากมิติ "ในโลกไซเบอร์" การมีส่วนร่วมและการกำกับดูแล

580805 news
การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์กในประเทศไทย มีความแพร่หลายเป็นอย่างมากจึงมีความเกี่ยวข้องและส่งผลถึงทุกภาคส่วนในสังคม ทำให้หลายหน่วยงานพร้อมใจกันเปิดเวทีเสวนาระดับชาติว่าด้วยการ "อภิบาลอินเทอร์เน็ตของไทย" (Internet GovernanceForum : IGF) ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีหลายแง่มุมน่าสนใจ



อินเทอร์เน็ตโลกยุคใหม่

"สฤณี อาชวานันทกุล" มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมืองกล่าวว่า สถิติบอกว่ากว่า 40% ของประชากรในโลกเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ และผู้ใช้เติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยปัจจุบัน เฟซบุ๊กมีจำนวนสมาชิกมากกว่า 1,400 ล้านบัญชี มากกว่าจำนวนประชากรของประเทศจีน และอินเดีย ส่วนทวิตเตอร์มีผู้ใช้ 646 ล้านบัญชี มากกว่าประชากรของประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะที่ทวีปเอเชียมีอัตราการเจริญเติบโตของการใช้โซเชียลมีเดียสูงมาก 

ในไทยก็เช่นกัน มียอดผู้ใช้เฟซบุ๊กถึง 29 ล้านคน โดย "เฟซบุ๊ก" เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนไทย มีการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์เฉลี่ยสัปดาห์ละ 27.2 ชั่วโมง ใกล้เคียงเวียดนาม (26.2 ชั่วโมง) และสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นมาก โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 15-34 ปี ฉะนั้น การอภิบาลทางอินเทอร์เน็ตจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ 

"ในยุคเริ่มต้นเราใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อหาข้อมูล แต่ปัจจุบันใช้สร้างเนื้อหามากขึ้นความต้องการในการคุ้มครองบนโลกออนไลน์จึงเป็นสิ่งสำคัญ และไทยยังไม่ได้อยู่ในประเทศที่ให้เสรีด้านอินเทอร์เน็ตมาก แม้การใช้จะเป็นสิทธิ์และความเป็นส่วนตัว"

ฉะนั้น รูปแบบที่ควรนำแบบอย่างมาใช้ในการอภิบาลดูแลการใช้งานอินเทอร์เน็ตมี 2 รูปแบบด้วยกัน 1.แบบพหุนิยม คือผู้มีส่วนได้เสียที่หลากหลายจากทุกภาคส่วนตั้งแต่ภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ และประชาสังคม ควรเข้าร่วมในการแสดงออกในกลไกการมีส่วนร่วมทางตรงเพื่อหาฉันทามติในการอภิบาลอินเทอร์เน็ต และ 2.แบบพหุภาคี รัฐบาลมีอำนาจอธิปไตยในการกำหนดนโยบายและกฎเกณฑ์กำกับอินเทอร์เน็ตในประเทศตนเอง รัฐบาลเป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์มาร่วมกันลงนามในอนุสัญญาและข้อตกลงของประเทศ ซึ่งยึดโยงกับข้อเสนอและกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในประเทศมาร่วมกันดูแล

กำกับดูแลแต่ไม่ควบคุม


"สุภิญญา กลางณรงค์"กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) กล่าวว่า ปรากฏการณ์ทางอินเทอร์เน็ตปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต จากเดิมอินเทอร์เน็ตมีหน้าที่แค่การรับส่งอีเมล์พัฒนาไปสู่การสร้างเว็บไซต์ และเข้าสู่การเชื่อมโยงผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ จะเห็นว่าอินเทอร์เน็ตเข้าถึงประชาชนได้ทุกที่ สิ่งที่ต้องคำนึงต่อมาคือเมื่อเกิดความแพร่หลายหน่วยงานใดจะเป็นผู้กำกับดูแล

จากกรณี "โซเชียลมีเดีย" ขัดข้อง สำนักงาน กสทช.กลายเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง และโดนกระแสสังคมตำหนิมากมาย สะท้อนให้เห็นว่าอินเทอร์เน็ตมีความสำคัญในวงกว้าง เริ่มเปิดพื้นที่และสร้างการต่อรองระหว่างประชาชนกับหน่วยงานรัฐ และเกี่ยวข้องกับเสรีภาพและความมั่นคงด้วย

"กสทช.เองยังไม่สามารถดูแลอินเทอร์เน็ตได้มากนักเนื่องจากไม่มีกรอบชัดเจนและเป็นสิ่งที่กว้างขวางมากเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนทั้งสถาบันการเงิน การท่องเที่ยว การอำนวยความสะดวกเกิดเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล ยังไม่มีหน่วยงานใดในการร่วมกันดูแลอินเทอร์เน็ต"

สิ่งที่ควรทำคือ สร้างความเชื่อมั่นในการใช้งาน การสร้างความปลอดภัย และที่สำคัญคือหน่วยงานที่จะกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตไม่ควรควบคุม แต่ควรเป็นการดูแลกำกับทั่วไปเพื่อให้การใช้ดีขึ้น โดยส่วนตัวมองว่าควรเป็นหน่วยงานรัฐดูแลเรื่องของการบริการและการส่งเสริมคุณภาพ การอำนวยความสะดวกด้านโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างกติกาบางอย่างให้เป็นธรรมและมีคุณภาพกับผู้ใช้งาน

จับตากฎหมายใหม่


"สิ่งที่อยากแนะนำเพิ่มเติม คือ ด้วยความครอบคลุมของคอนเทนต์ด้านอินเทอร์เน็ตมีกว้างขวาง และไม่สามารถกำกับดูแลได้ทั้งหมด สิ่งที่ทำได้คือการควบคุมดูแลซึ่งกันและกัน เช่น ในอุตสาหกรรมดิจิทัลทีวีมีการกำกับดูแลกันเอง ในอินเทอร์เน็ตมีการกำกับดูแลอยู่แล้ว เช่น ผู้ให้บริการอย่างเฟซบุ๊ก กำกับดูแลด้วยการบังคับให้ผู้ใช้เปลี่ยนไปใช้ชื่อจริงนามสกุลจริง เป็นต้น"

สิ่งที่สำคัญในการกำกับดูแล คือ สร้างความรู้เป็นสากล เพราะอินเทอร์เน็ตเป็นสากล รวมถึงการหาจุดสมดุลในการดูแล ภาครัฐ อุตสาหกรรม ภาคครัวเรือนควรเป็นผู้ใช้กลไกทางสังคมในการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต ไม่ควรใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการควบคุมอินเทอร์เน็ตโดยตรง

"ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา" คณะกรรมการ กสทช.กล่าวว่า ปัจจุบัน กสทช.ไม่ได้มีอำนาจโดยตรง และจะดูแลได้เฉพาะการให้บริการ เช่น เรียกผู้ให้บริการ (ไอเอสพี) มาตรวจสอบหากมีปัญหา ส่วนกระทรวงไอซีทีดูแลเนื้อหา ที่ผ่านมาปัญหาการปิดเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์หรือกระทำผิดทำได้ยาก แต่กฎหมายที่มีการปรับปรุงใหม่ กำหนดให้ กสทช.ดูแลอินเทอร์เน็ต ทำให้มีอำนาจโดยตรง แต่การดูแลกำกับที่ดีทุกคนทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วม 

ดึงทุกภาคส่วนช่วยคิด

"อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล" มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมืองกล่าวว่า อินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องของทุกภาคส่วน ฉะนั้น กลไกการอภิบาลเป็นเรื่องของทุกคน เนื่องจากอินเทอร์เน็ตไม่ต้องมีการขออนุญาตเข้าใช้ เช่น การตั้งเซิร์ฟเวอร์ใครก็ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตใคร และมีลักษณะที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกขององค์กรความร่วมมือด้านการจัดสรรชื่อ และหมายเลขทางอินเทอร์เน็ต หรือ ICANN เป็นองค์กรที่จัดสรรทรัพยากรหมายเลขหรือชื่อทางอินเทอร์เน็ต 

"ICANN จะมีการหารือและเปิดรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการใช้อินเทอร์เน็ต มีหน่วยงานประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกเข้าร่วม ไทยควรมีเวทีการประชุมรับฟังกลไกการอภิบาลอินเทอร์เน็ตในประเทศ ไม่ว่าจากทั้งฝั่งภาคธุรกิจ สังคมและรัฐ แล้วนำปัญหาต่าง ๆ มาถกร่วมกัน แต่ปัจจุบันเวทีการถกเรื่องการอภิบาลอินเทอร์เน็ตยังมีไม่มากนัก"

เตือนระวังภัยขโมยข้อมูล


"คณาธิปทองรวีวงศ์"คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์นกล่าวว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตส่งผลให้ความเป็นส่วนตัวลดลงโดยเฉพาะจากโซเชียลมีเดียต่าง ๆ อาจเป็นช่องทางในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านั้น และการสอดส่องข้อมูลมี 2 แบบ คือ 1.สอดส่องเฉพาะเจาะจงเป้าหมาย และ 2.สอดส่องข้อมูลในวงกว้าง

โดยแบบแรกประเทศไทยมีกฎหมายรองรับแต่แบบที่ 2 ยังไม่มีจึงเป็นช่องทางในการกระทำผิด เช่น รบกวนความเป็นส่วนตัวสำหรับธุรกิจกรณีสแปมในอีเมล์ หรือตกเป็นเครื่องมือทางการตลาดโดยขาดจริยธรรม

"สาเหตุของการโทร.มาขายบัตรเครดิต และการโฆษณาต่าง ๆ ที่เราไม่ได้ยินยอมเกิดจากการซื้อขายข้อมูลโดยที่เราไม่รู้ตัวอีกกรณีคือการขโมยข้อมูลส่วนบุคคลยิ่งง่ายมากขึ้นอาจเกิดการขโมยตัวตนหรือIdentity Theft ซึ่งในไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ มีเพียง กม.หมิ่นประมาท หรือ กม.คอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่ครอบคลุมมากนัก"


วิธีป้องกันตน คือ 1.ตระหนักอยู่เสมอว่าควรเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองบนโลกออนไลน์ หรือสังคมออนไลน์หรือไม่ 2.ห้ามเผยแพร่ข้อมูลสำคัญ เช่น เลขประจำตัวผู้เสียภาษีลงโซเชียลมีเดียเด็ดขาด 3.เปลี่ยนรหัสผ่านทุกครั้งหากมีการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลออกไปในโลกออนไลน์ และ 4.ควรปกป้องคอมพิวเตอร์ รวมถึงสมาร์ทโฟนไม่ให้สูญหายหรือปกป้องซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัย

ข้อมูลและภาพจาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 04 ส.ค. 2558

พิมพ์ อีเมล