บทเรียนค่ายมือถือ ตั้งเสาไร้ประชาพิจารณ์ สุดท้ายต้องรื้อถอน
หลังจากที่ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" นำเสนอข่าวร้องเรียนเกี่ยวกับการติดตั้งเสาสัญญาณของชุมชนชวนชื่นบางเขน เขตหลักสี่ ไป จำนวน 2 ตอน ซึ่งได้แก่ ภัยเงียบคลื่นมือถือ EP.1 ตั้งเสาพิลึก ชาวบ้านหลักสี่ผวาเสี่ยงก่อมะเร็ง และ ภัยเงียบคลื่นมือถือ EP.2 ทางออก! เสาเจ้าปัญหา กับข้อชี้แจงปมกระทบสุขภาพ ต่อมา ทาง "ไทยรัฐทีวี" ได้ ร่วมตรวจสอบปัญหาดังกล่าว กระทั่งล่าสุดบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์ยักษ์ใหญ่เจ้าของ ได้ยอมรื้อถอนเสาสัญญาณดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ชาวบ้านเฮ! เสาเจ้าปัญหา โดนปลดแล้ว
หลังจากทีมข่าวฯ ได้เสนอข่าวความเดือดร้อนของชาวบ้านชุมชนดังกล่าว ล่าสุด ประธานชุมชนชวนชื่นบางเขน ได้แจ้งข่าวว่า ขณะนี้ทางบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ได้ดำเนินการรื้อเสาสัญญาณออกเป็นที่เรียบร้อย พร้อมกับขอบคุณทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ และ ไทยรัฐทีวี ที่นำเสนอเรื่องราว
นายธชอาจ พรหมพงษ์ ประธานกรรมการชุมชนชวนชื่นบางเขน บอก กับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ด้วยน้ำเสียงดีใจว่า เมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา ตนและคณะกรรมการชุมชนชวนชื่นบางเขน ได้เข้าพบผู้อำนวยการเขตหลักสี่ เพื่อยื่นเอกสารการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งมีผลสรุปจากชาวบ้านในชุมชน คัดค้าน 533 เสียง เห็นชอบ 3 เสียง โดยให้เขตได้พิจารณาตามเหตุและผล
ต่อมาวันที่ 3 มิ.ย. ทางตัวแทน บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ได้เข้าพูดคุยกับทางชุมชน เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการก่อสร้าง รวมถึงความปลอดภัยของคลื่นสัญญาณ ซึ่งทางบริษัทฯ ได้ขอโทษประชาชนในชุมชนกรณีที่ไม่ได้เข้ามาทำความเข้าใจก่อน เมื่อ สอบถามอย่างตรงไปตรงมากับทางตัวแทนของบริษัทว่า จะยินยอมถอดเสาสัญญาณออกจากชุมชนหรือไม่ จึงได้รับคำตอบเพียงสั้นๆ ว่า จะต้องปรึกษากับทางผู้ใหญ่ให้เรียบร้อยเสียก่อน
ประธานกรรมการชุมชนชวนชื่นบางเขน เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังต่อว่า ช่วงเช้าของวันที่ 4 มิ.ย. ได้เข้ายื่นเอกสารการทำประชาพิจารณ์กับทาง บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด พร้อมเปรยกับพนักงานของบริษัทคนหนึ่งว่า 4 โมงเย็น ตนจะเข้าไปให้สัมภาษณ์ในรายการ รถปลดทุกข์ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ด้วย ทั้งนี้ ทราบว่า บริษัท ดีแทคฯ เอง ก็ได้ส่งแถลงการณ์มาให้ทางทีมงานรายการรถปลดทุกข์ด้วย จากนั้นวันนี้ ก็พบเจ้าหน้าที่มาดำเนินการรื้อเสาออก
ปลดเสาก็ไม่จบ ผอ.เขตแจ้งความเอาผิด ติดตั้งไม่ขออนุญาต
ด้าน นายณรงค์ จงแจ่มฟ้า ผู้อำนวยการสำนักงานเขตหลักสี่ กล่าวว่า ตนได้ประสานไปยังบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด แล้วว่า ให้ระงับการก่อสร้างก่อน เนื่องจากทางบริษัทยังไม่ได้เข้ามาขออนุญาตอย่างถูกต้อง รวมถึงผลการประชาพิจารณ์จากทางชุมชนชวนชื่นบางเขนที่ออกมานั้นไม่ผ่าน ด้วยเหตุนี้ ทางสำนักงานเขตหลักสี่จึงได้เข้าแจ้งความ เพื่อดำเนินคดีกับทาง บริษัทดีแทค ที่ก่อสร้างเสาโดยไม่ได้รับอนุญาต
เหตุใด? จู่ๆ ปลดเสาทันควัน
ขณะที่ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ สำนักงานคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าว กับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทราบว่า เสาสัญญาณดังกล่าว ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. ตามหลักการแล้ว เมื่อมีเรื่องร้องเรียน จะไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ กรณีนี้ยังไม่มีการร้องเข้ามาที่ กสทช. แต่ปรากฏเป็นข่าว ซึ่งทางสำนักงาน กสทช. จึงได้ส่งคนลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบแล้ว ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเหตุให้บริษัท ดีแทค ยอมถอดเสาสัญญาณโทรศัพท์
ดีแทค แจง รับฟังเสียงทักท้วง ยอมถอนเสาสัญญาณ
อย่างไรก็ดี ทางบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ทำหนังสือชี้แจงกรณี การร้องเรียนในการก่อสร้างมือถือบริเวณชุมชนชวนชื่น บางเขน เขตหลักสี่ ดังนี้
1. ดีแทค ไตรเน็ต เห็นความจำเป็นในการพัฒนาคุณภาพสัญญาณมือถือ และการขยายสัญญาณสู่การบริการ 3G/4G ที่ดีเพื่อคุณภาพ และการแก้ไขปรับปรุงคุณภาพในพื้นที่ชุมชนชวนชื่น บางเขน ย่านหลักสี่ ซึ่งได้มีการร้องเรียนถึงปัญหาการใช้งานสำหรับเสาสัญญาณแห่งนี้สามารถรองรับ การใช้งานดาต้าทั้งในด้านปริมาณการใช้งานและประสิทธิภาพความเร็วในการรับส่ง ข้อมูลสอดรับกับแผนการใช้งานของประชากรในพื้นที่โดยรอบ พื้นที่ 2-3 กิโลเมตรของชุมชนที่มีการตั้งเสาและติดตั้งอุปกรณ์สัญญาณ
2. เสาสัญญาณดังกล่าวอยู่ในระหว่างการดำเนินการสร้าง โดยมีการติดตั้งโครงสร้างเสาสัญญาณ ยังไม่ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์ หรือการเชื่อมต่อสัญญาณใดๆ ในการใช้งาน และเมื่อมีเสียงทักท้วงจากคณะกรรมการการบริหารชุมชน ทางบริษัทฯ ได้ยุติการดำเนินการทันที เพื่อไม่ให้เกิดความวิตกกังวล รวมทั้งเตรียมรื้อถอนเพื่อหาจุดติดตั้งใหม่โดยไม่ให้เกิดผลกระทบในการใช้งาน โทรศัพท์ และการบริการอินเทอร์เน็ตบนมือถือในระยะยาวของผู้พักอาศัยในชุมชนชวนชื่น บางเขน และชุมชนบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งได้เร่งส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสร้างความเข้าใจกับผู้อาศัยในชุมชน และรับฟังข้อคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะต่างๆ มาเพื่อปรับปรุงแนวทางการทำงาน และใช้เป็นข้อมูลในการประสานงานกับคณะกรรมการบริหารชุมชนในการเร่งให้ข้อมูล ที่ถูกต้องเกี่ยวกับความวิตกกังวลในด้านต่างๆ และทำความเข้าใจผลกระทบที่อาจเกิดกับประชาชน กับกรณีที่ไม่สามารถติดตั้งเสาสัญญาณในจุดดังกล่าวซึ่งมีความสำคัญต่อการรอง รับ การใช้บริการทั้งในภาวะปกติ และในภาวะฉุกเฉิน รวมทั้งความสะดวกในการติดต่อสื่อสารผ่านบริการข้อมูลดาต้าที่ต้องการความรวด เร็วในการรับส่งข้อมูล โดยเฉพาะบริการอินเทอร์เน็ตบน 3G/4G ที่มีความจำเป็นในปัจจุบัน
3. บริษัทฯ ขอขอบคุณคณะกรรมการบริหารชุมชน และผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านชวนชื่นบางเขน ซึ่งได้มีการรวบรวมข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อแนวทางในการดำเนินการติด ตั้งเสาส่งสัญญาณรองรับการใช้งานในชุมชน โดยข้อมูลบางส่วนได้สะท้อนให้เห็นว่า สำนักงาน กสทช. ในฐานะกำกับดูแลจะต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบการให้บริการที่เป็นมาตรฐาน สากล และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมของสำนักงาน กสทช. อย่างใกล้ชิด ซึ่งบริษัทฯ จะได้เร่งประสานงานให้สำนักงาน กสทช. กับสถาบันทางวิชาการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของคลื่นความ ถี่จากเสาส่งสัญญาณมือถือ ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของคลื่นความถี่ จากเสาส่งสัญญาณสามารถขอข้อมูลได้ จากสำนักงาน กสทช.
4. อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่มีความห่วงใยจากนักวิชาการอิสระบางท่านได้ให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อแนวทางในการป้องกันผลกระทบจากคลื่นความถี่ของเสาส่งสัญญาณ นั้น เป็นประเด็นสำคัญที่ ดีแทค ไตรเน็ต คำนึงถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สินของทุกคน จึงได้ปฏิบัติตามกฎหมาย นโยบาย และประกาศหลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนดอย่างเคร่งครัด และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน กสทช. อย่างใกล้ชิด โดยดีแทค ไตรเน็ต ขอยืนยันว่า อุปกรณ์และเทคโนโลยีที่นำมาใช้ติดตั้งเป็นเสาสัญญาณและให้บริการทั้งหมด ทุกรายการผ่านการรับรองตามมาตรฐานสากลจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (The International Telecommunication Union) หรือ ITU และทุกประเภททั่วโลกนำมาใช้งานในปัจจุบันนี้ โดยการออกแบบอุปกรณ์ และการควบคุมการใช้งานได้มีการออกแบบโดยคำนึงถึงผลกระทบในแต่ละด้าน ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการใช้งานมาเป็นเวลานานในแทบทุกประเภท โดยมิได้ข้อเท็จจริงที่สามารถตรวจสอบหรือยืนยันได้ว่าได้เกิดขึ้นในประเทศใด อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในเรื่องนี้ ดีแทค ไตรเน็ต จะได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงาน กสทช. และสถาบันทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลการศึกษาวิจัยมาเพื่อแสดงให้ประชาชนคลายความวิตกกังวล และสร้างความเชื่อมั่นที่ถูกต้องต่อไป
นักวิชาการอิสระ ยกงานวิจัยยัน เสาส่งสัญญาณกระทบสุขภาพ
แม้ยังมีคำถามจากสังคมว่า เสาส่งสัญญาณมีผลกระทบต่อมนุษย์จริงหรือไม่? ในเรื่องนี้ ดร. สุเมธ วงศ์พานิชเลิศ นักวิชาการอิสระ ผู้ซึ่งคลุกคลีศึกษาเรื่องนี้มาเป็นเวลาหลายปี ได้สรุปงานวิจัยออกมาให้ผู้อ่านได้ศึกษากัน ดังนี้
ผลกระทบต่อสุขภาพจากคลื่นโทรศัพท์เคลื่อนที่
ภายหลังจากการเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยคลื่นวิทยุ RF ในย่านความถี่ไมโครเวฟตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 จนเป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างมากในเวลาถัดมา ทำให้เกิดประเด็นผลกระทบจากคลื่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อสุขภาพมนุษย์ จนกลายเป็นที่มาของงานศึกษาวิจัยมากมายตามมา
การร้องเรียนปัญหาด้านสุขภาพจากผู้บริโภคและการศึกษาวิจัยส่วนมาก จะพุ่งเป้าไปที่ประเด็นการใช้โทรศัพท์ฯ ในช่วงแรกๆ แต่ในเวลาต่อมา การร้องเรียนเกือบทั้งสิ้นจะมาจากผู้พักอาศัยอยู่ใกล้กับเสาแพร่สัญญาณ (เสาอากาศ หรือเสาสถานี) บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Phone Antenna, หรือ Mast, หรือ Base Station) ซึ่งผู้อยู่อาศัยใกล้เสาฯ ไม่อยู่ในวิสัยที่จะควบคุมหรือป้องกันตัวเองได้ จึงแตกต่างกับประเด็นการใช้ที่แต่ละผู้ใช้สามารถจะเลือกใช้ อย่างไร และเพียงใดได้
ดังนั้น มาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคจึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับกรณี บุหรี่ กล่าวคือ ควรมีมาตรการสำหรับผู้ใช้โทรศัพท์ฯ (ผู้สูบบุหรี่) กลุ่มหนึ่ง และสำหรับผู้อยู่ใกล้เสาอากาศ (ผู้สูบบุหรี่มือสอง) อีกกลุ่มหนึ่ง
ผลกระทบต่อสุขภาพจากคลื่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ นอกเหนือจากอาการ ที่มาจากคลื่นความถี่ต่ำ (ELF) ต่างๆ ดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังรวมไปถึงอาการที่สำคัญๆ ดังเช่น
เนื้องอกในสมอง (Brain tumors)
เนื้องอกของเส้นประสาทหู (Acoustic neuroma)
พาร์กินสัน (Parkinson)
อัลไซเมอร์ (Alzheimer)
มะเร็งต่างๆ (Cancers) ฯลฯ
จากเอกสารที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวถึง
เรื่องงานศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่า
1. ประชากร 530 คน ที่อาศัยอยู่ใกล้เสาสัญญาณโทรศัพท์ ในรัศมี 400 เมตร พบว่ามีอาการผิดปกติต่างๆ อาทิ
ปวดศีรษะ (Headaches)
นอนไม่หลับ (Sleep disruption)
ฉุนเฉียวง่าย (Irritability)
ซึมเศร้า (Depression)
สูญเสียความทรงจำ (Memory loss)
คลื่นไส้ (Nausea)
ปัญหาในการมองเห็น (Visual disruption)
2. ผู้ที่อาศัยอยู่ในอาคารชุดภายใต้และตรงกันข้ามกับเสาส่งสัญญาณที่ตั้งบน หลังคาอาคารชุด พบว่ามีอาการต่างๆ สอดคล้องกับงานวิจัยของ Santini ข้างต้น ได้แก่
ปวดศีรษะ (Headaches)
ปัญหาความทรงจำ (Memory changes)
วิงเวียน (Dizziness)
อาการสั่น (Tremors)
ซึมเศร้า (Depression)
สายตาพร่ามัว (Blurred vision)
นอนไม่หลับ (Sleep disturbance)
ฉุนเฉียวง่าย (Irritability)
ขาดสมาธิ (Lack of concentration)
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยในทำนองเดียวกันอีกจำนวนมาก ที่สำคัญๆ อาทิ Eger และพวก (2004) พบว่า กลุ่มประชากรที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้กับ เสาสัญญาณฯ ภายในระยะ 400 เมตร เป็นเวลา 5 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงเป็น มะเร็งสูงขึ้น 3 เท่าตัว หรือของ Wolf และ Wolf (2004) ก็เช่นกัน ได้พบความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว ในกลุ่มผู้อาศัยใกล้เสาสัญญาณฯ ระหว่าง 3 ถึง 7 ปี
แม้โทรศัพท์มือถือจะกลายเป็นปัจจัย 5 ของชีวิตในยุคปัจจุบัน แต่การลงมือติดตั้งสิ่งใดแล้วสร้าง "ความเคลือบแคลงใจ" กับชาวบ้าน ผู้ประกอบการควรทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่เสียก่อน ยิ่งเป็นเรื่องที่อาจจะกระทบสุขภาพด้วยแล้ว ก็ยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะชีวิตของคนบางครั้งก็ซ่อมไม่ได้เหมือนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์