กสทช.ไม่สง่า?พิสูจน์ธรรมาภิบาล
วงเสวนา “3 ปี กสทช. : ความฝัน ความเป็นจริงและการปฏิรูปกฎกติกา” มีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม งานนี้จัดช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา โดยโครงการวิเคราะห์และติดตามร่างกฎหมาย (Thai Law Watch) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยและสถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับโครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) ภายใต้การสนับสนุนจาก สกว. และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิจัย “NBTC Policy Watch” แถลงรายงานบทวิเคราะห์บทบัญญัติว่าด้วยธรรมาภิบาลในพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553และ ข้อเสนอในการปรับปรุง 5 ด้าน คือ
1.ด้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ที่ผ่านมา กสทช.และสำนักงาน กสทช. ไม่เปิดเผยข้อมูลที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือเปิดเผยไม่ทันตามเวลาที่กำหนด เช่น รายงานการประชุมของคณะกรรมการฯ ผลการศึกษาที่ว่าจ้างหน่วยงานภายนอกทำ ฯลฯ
ดังนั้น กฎหมายควรกำหนดระยะเวลาในการเผยแพร่ข้อมูลสำคัญให้ชัดเจนและเพิ่มบทลงโทษในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตาม โดยให้ถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ในประมวลกฎหมายอาญา
พร้อมทั้งบัญญัติให้ กสทช. และสำนักงานฯ ถือเป็นหน่วยงานอิสระใน พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540
ปัญหามีว่า...เมื่อใดก็ตามถ้า “ปกปิด” ไม่ว่าจะด้วยตั้งใจหรือระบบมีปัญหาล่าช้า ก็อาจคิดได้ว่า “ปกปิดเพื่อซ่อนเร้น เพื่อผลประโยชน์บางประการ”
อาจารย์วรพจน์ บอกว่า เรื่องการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ...ตามกฎหมายเขียนไว้ว่า อะไรบ้าง กสทช. ต้องเปิดเผยข้อมูลแต่ว่าหลายกรณีที่ยังไม่เปิดนั้นมีอะไรบ้าง อย่างเช่น เรื่องมติที่ประชุมกฎหมายเขียนไว้ว่าจะต้องเปิด แต่ถ้าไปดูจริงๆก็คล้ายๆกับว่าค่อนข้างช้า...ช้ากว่าที่กฎหมายกำหนด 30 วัน
นอกจากนี้ก็จะมีเรื่องงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหลายๆเรื่อง ซึ่งตรงนี้มุมมองส่วนตัวอาจารย์วรพจน์รู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าเราทำงานวิจัย แล้วก็คล้ายๆกับว่างานวิจัยหลายชิ้นที่ถูกอ้างว่าใช้ในการกำหนดตัวนโยบายบางอย่าง แต่จริงๆแล้ว...เรากลับไม่เคยเห็นงานวิจัยที่ว่านั้นเลย
ประการต่อมา...เมื่อไม่เปิดเผย เราจึงไม่รู้ว่า กสทช. ใช้งานวิจัย ในลักษณะที่สอดคล้องหรือเปล่า ซึ่งตรงนี้ก็สะท้อนให้เห็นใช่ไหมว่า...เป็นความโปร่งใสหรือไม่ ในภาพรวมทั้งกระบวนการกำหนดนโยบายจะต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ ตั้งแต่ต้นทางข้อมูลการศึกษาไปจนถึงปลายทาง ในการตัดสินใจที่จะทำอะไรลงไป
2.ด้านการกำหนดนโยบาย การแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อเสนอความเห็นเชิงนโยบายที่ผ่านมายังดำเนินการผ่านระบบโควตา ดังนั้นกฎหมายควรกำหนดให้ กสทช. คำนึงถึงความรู้ความเชี่ยวชาญ และให้เปิดเผยข้อมูลด้านคุณสมบัติของคณะอนุกรรมการด้วย
นอกจากนั้น แม้สำนักงาน กสทช.จะจ้างหน่วยงานภายนอกผลิตงานศึกษาจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการอ้างอิงงานศึกษาในกระบวนการกำหนดนโยบายเท่าที่ควร
ดังนั้นกฎหมายควรกำหนดให้ กสทช. ต้องทำการศึกษาวิจัยรวมถึงศึกษาผลกระทบจากการกำกับดูแล เพื่อใช้อ้างอิงในการตัดสินใจและต้องเผยแพร่งานศึกษาก่อนกระบวนการรับฟังความคิดเห็น
3.ด้านการรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภค ที่ผ่านมา กสทช.ไม่สามารถจัดการเรื่องร้องเรียนให้เสร็จภายใน 30 วันตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
การจัดการเรื่องร้องเรียนยังมีลักษณะตัดสินเป็นกรณี โดยขาดกลไกยกระดับเรื่องร้องเรียนให้มีการบังคับใช้เป็นการทั่วไป และอนุกรรมการด้านผู้บริโภคตั้งขึ้นตามระบบโควตา
ดังนั้น กฎหมายควรกำหนดให้มีการตั้งสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ที่เป็นหน่วยงานอิสระแทนอนุกรรมการด้านผู้บริโภคฯ ตามมาตรา 31 โดยมีหน้าที่ เช่น รับและจัดการเรื่องร้องเรียนซึ่งไม่รวมเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเนื้อหา
พร้อมทั้งนำเสนอคำตัดสิน ความเห็นให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการต่อ เสนอเรื่องร้องเรียนที่มีการตัดสินเป็นมาตรฐานแล้วและควรถูกบังคับใช้เป็นการทั่วไปให้กับ กสทช. เพื่อพัฒนาเป็นประกาศต่อไป และ...ถือเป็นผู้เสียหายที่สามารถฟ้องร้องหรือยื่นให้มีการสอบสวนไปยังองค์กรตรวจสอบภายนอกแทนผู้บริโภคได้ เป็นต้น
4.ด้านการใช้งบประมาณ หนึ่งในปัญหาหลักของ พ.ร.บ. องค์กรฯ คือการให้อำนาจสำนักงานในการจัดทำงบประมาณประจำปีและให้ กสทช.มีอำนาจในการอนุมัติงบ ซึ่งทั้งสองฝ่ายทำงานเป็นเนื้อเดียวกันมากกว่าตรวจสอบกัน
ดังนั้น กฎหมายควรปรับแก้ให้งบประมาณนั้นต้องผ่านกระบวนการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ โดยผ่านการตรวจสอบและอนุมัติจากรัฐสภา และให้องค์กรภายนอกที่ชำนาญการด้านงบประมาณตรวจสอบให้ความเห็นการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้น เนื่องจาก กสทช. มีรายได้ค่อนข้างมาก และที่ผ่านมา สำนักงานฯ มีแนวโน้มตั้งงบประมาณใกล้เคียงกับรายได้โดยขาดการตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้งบประมาณ...ดังนั้นควรมีการปรับลดที่มารายได้ให้ไม่มากเกินไป เช่น ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการให้ลดจากร้อยละ 2 เหลือไม่เกินร้อยละ 1 รวมถึงรายได้จากค่าธรรมเนียมเลขหมายให้ส่งเข้าคลังโดยตรง
5.ด้านกลไกการตรวจสอบจากภายในและภายนอก แม้กฎหมายจะพยายามสร้างกลไกตรวจสอบ แต่ที่ผ่านมาปัญหาเกิดจากการตีความสถานะของ กสทช. ที่ขอบเขตอำนาจขององค์กรตรวจสอบ ครอบคลุมไปไม่ถึง และการออกแบบกฎหมายที่ให้ กสทช. มีอิทธิพลต่อการทำงานขององค์กรตรวจสอบ
เช่น มีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณ หรือแต่งตั้งกรรมการ
ดังนั้น กฎหมายควรแก้ไขให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ออก พ.ร.ก.กำหนด รายได้และค่าใช้จ่ายของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ไม่ใช่ให้ กสทช. เป็นผู้จัดสรรงบประมาณ...กำหนดให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน มีอำนาจเปิดเผยรายงานการตรวจสอบบัญชีโดยตรง และให้ กสทช. และสำนักงานฯ เป็นเจ้าพนักงานภายใต้อำนาจในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน...ให้มีอำนาจสอบสวน และเป็นหน่วยงานยื่นเรื่องฟ้องแทนผู้ได้รับผลกระทบได้
บทสรุปสุดท้ายในวงเสวนา...เห็นว่าปัญหาด้านธรรมาภิบาลเป็นประเด็นสำคัญที่ กสทช.ต้องปรับปรุง รวมถึงการปฏิรูปกฎกติกาของ กสทช. ให้สามารถส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เสรี...เป็นธรรม
ทั้งหมดเหล่านี้ เพื่อสนับสนุน “กระบวนการประชาธิปไตย” และคุ้มครองประชาชนทั้งในฐานะ “ผู้บริโภค” และ “พลเมือง”.
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ 6 ส.ค. 2557 05:01